© 2017 Copyright - Haijai.com
ความเจ็บปวดทางเพศ
สำหรับผู้ชายหลายท่านที่แต่งงานแล้ว สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญในความรู้สึกของพวกเขาคือ “สมรรถภาพทางเพศ” การที่เตะปี๊บไม่ดัง นกเขาไม่ขัน ล่มปากอ่าว หรือนกกระจอกไม่ทันกินน้ำ สารพัดคำเปรียบเปรยเหล่านี้ ได้กลายเป็นสิ่งที่บั่นทอนความมั่นใจ หรือรบกวนการใช้ชีวิตคู่ การรู้จักสาเหตุและแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง ย่อมช่วยให้ผู้ชายที่กำลังประสบปัญหานี้ มีทางเลือกในการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น
ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
หมายถึง “การไม่สามารถควบคุมการแข็งตัวขององคชาตได้ อย่างเพียงพอในการที่จะมีเพศสัมพันธ์จนเป็นที่น่าพอใจของทั้ง 2 ฝ่าย” ซึ่งความผิดปกตินี้ มาจากสาเหตุหลักๆ 3 ประการ ได้แก่
• สภาวะด้านจิตใจ เช่น ซึมเศร้า เครียด อารมณ์แปรปรวน
• ความผิดปกติของระบบหลอดเลือด ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย เกิดจากการที่มีเลือดมาหล่อเลี้ยงเส้นเลือดภายในองคชาติ จนทำให้เกิดการแข็งตัว ความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดอักเสบ อุดตัน ตีบแคบ ซึ่งมักพบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคความดันฯ หรือการรับประทานยาที่รบกวนการไหลเวียนของเลือด จึงส่งผลต่อการแข็งตัวขององคชาต
• ความผิดปกติของเส้นประสาท การแข็งตัวขององคชาตต้องอาศัยเส้นประสาทในการกระตุ้น ให้เลือดเข้ามาในองคชาต ดังนั้น ถ้าเส้นประสาทไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างปกติ ย่อมส่งผลต่อการแข็งตัวด้วยเช่นกัน
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระบบหลอดเลือดและระบบประสาท จนส่งผลต่อการแข็งตัวขององคชาต ได้แก่
• โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน หลอดเลือดแดงแข็ง ความดันเลือดสูง โรคอ้วน โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ที่นอกจากจะส่งผลต่อเส้นเลือดแล้ว ยังส่งผลต่อเส้นประสาทร่วมด้วย
• ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันเลือดบางตัว ยาขับปัสสาวะในกลุ่มไทอาไซด์ ยาต้านซึมเศร้า ยาลดไขมัน กลุ่มสะแตติน เป็นต้น โดยยาบางตัวอาจส่งผลต่อระบบหลอดเลือด ในขณะที่บางตัวส่งผลต่อระบบประสาท นอกจากนี้การดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ ก็ทำให้เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้เช่นกัน
• การผ่าตัดหรือบาดเจ็บที่ทำให้หลอดเลือด หรือเส้นประสาทบาดเจ็บ เช่น การผ่าตัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก การผ่าตัดเกี่ยวกับเชิงกราน เป็นต้น
อนึ่ง ผู้ป่วยแต่ละวัยมักจะมีสาเหตุที่แตกต่างกัน โดยผู้ป่วยที่พบภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในขณะที่อายุยังน้อย มักจะมาจากความเครียดหรือภาวะซึมเศร้า ซึ่งเมื่ออาการเหล่านี้ดีขึ้น สมรรถภาพทางเพศของผู้ป่วยก็จะกลับมาสู่ภาวะปกติ ในขณะที่ผู้ป่วยที่มีอายุมากขึ้น มักจะพบว่าภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของหลอดเลือด หรือเส้นประสาทตลอดจนความผิดปกติของระบบฮอร์โมนเพศชาย ข้อสังเกตประการหนึ่ง คือ อุบัติการณ์ของภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ จะเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น เนื่องจากความเสื่อมของร่างกายที่เพิ่มขึ้นตามอายุ แต่ถ้ามีการใช้ชีวิตที่ดี ออกกำลังกายที่เหมาะสม และมีความสามารถในการจัดการกับความเครียด จะช่วยชะลอการเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้
การรักษา
ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความรู้สึก หรือความต้องการทางเพศของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยรู้สึกเดือนร้อน เนื่องจากยังมีความต้องการทางเพศอยู่ แพทย์ก็จะพิจารณาให้การรักษา แต่ถ้าผู้ป่วยไม่รู้สึกเดือดร้อน กับภาวะที่เกิดขึ้น ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้นก่อน เพราะภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติอื่นๆ ได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือความดันเลือดผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ สำหรับการรักษาจะเริ่มต้นที่การซักประวัติ เพื่อประเมินว่ามีปัจจัยเสี่ยงใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะนี้หรือไม่ เช่น ความผิดปกติทางอารมณ์หรือจิต โรคประจำตัว ยาที่ใช้ประจำ หรือการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ เป็นต้น เพราะการรักษาจำเป็นต้องแก้ไขที่ปัจจัยเสี่ยงพร้อมกับอาการ เพื่อให้ได้ผลดีที่สุด เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ จำเป็นต้องคุมระดับน้ำตาลพร้อมกับ รักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพไปพร้อมๆ กัน
มิฉะนั้น ท้ายที่สุดเมื่ออาการโรคเบาหวานหนักขึ้นเรื่อยๆ ยาที่ใช้รักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ก็อาจจะไม่สามารถช่วยอะไรได้
การรักษาอันดับแรกสุดจะเริ่มต้นด้วยยารับประทาน ซึ่งได้แก่ slidenafil, vardenafil และ tadalafil ยาทั้งสามตัวนี้ ออกฤทธิ์ยับยั้งฮอร์โมนฟอสโฟไดเอสเตอเรส ทำให้ปริมาณไนตริกออกไซด์ในองคชาตเพิ่มขึ้น ไนตริกออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น ช่วยให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงองคชาติขยายขึ้น การแข็งตัวขององคชาติจึงดีขึ้น ยาในกลุ่มนี้แต่ละตัวมีคุณสมบัติด้านเภสัชวิทยา เช่น ระยะเวลาที่ออกฤทธิ์ทั้งหมด เป็นต้น แตกต่างกัน โดย tadalafil ออกฤทธิ์นานสุด (36 ชั่วโมง) ในขณะที่ vardenafil ออกฤทธิ์สั้นสุด (น้อยกว่า 5 ชั่วโมง) ยากลุ่มนี้ค่อนข้างปลอดภัย อาการข้งเคียงเกิดขึ้นชั่วคราว ได้แก่ การมองเห็นผิดปกติ ปวดศีรษะ ท้องร่วง คัดจมูก ปวดกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตามแพทย์จะงดสั่งยากลุ่มนี้แก่ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เนื่องจากยาในกลุ่มนี้สามารถเสริมฤทธิ์ยาลดความดันฯ หรือยาในกลุ่มไนเตรตที่ใช้ป้องกันหรือรักษาอาการเจ็บหน้าอก จนทำให้ความดันเลือดลดต่ำจนเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ยังมียาอื่นๆ ที่ใช้เสริมการรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ได้แก่ การเสริมฮอร์โมนเพศชาย
ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยารับประทาน (เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก เบาหวานเรื้อรัง) แพทย์จะพิจารณาวิธีอื่นในการรักษา เช่น การผ่าตัดฝังแกนเทียมที่องคชาต ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะพบหลังจากการผ่าตัด ได้แก่ การติดเชื้อแกนที่ใส่ชำรุด ปวด เป็นต้น
สิ่งหนึ่งที่ผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ควรตระหนักไว้คืออย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่อวดอ้างว่าสามารถช่วยบำรุงสมรรถภาพทางเพศ การที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ผลส่วนหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะผลของยาหลอก (placebo effect) ซึ่งเกิดขึ้นจากความเชื่อมั่นของผู้ป่วยว่ารับประทานแล้วจะดีขึ้น (ทั้งๆ ที่สิ่งที่รับประทานไม่มีฤทธิ์ใดๆ เลย) หรือมีการแอบใส่สารออกฤทธิ์ลงไปในผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้
ปัญหาหลั่งเร็ว
นอกจากปัญหานกเขาไม่ขัน ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว “ล่มปากอ่าว” หรือ “หลั่งเร็ว” ก็เป็นอีกภาวะหนึ่งที่รบกวนจิตใจคุณผู้ชายหลายท่านเหมือนกัน สมาคมจิตแพทย์อเมริกา ได้นิยามความหมายของภาวะหลั่งเร็ว (premature ejaculation) ไว้ว่า “การหลั่งจากสิ่งกระตุ้นทางเพศเพียงเล็กน้อย ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงก่อน ระหว่าง หรือหลังจากองคชาตได้สอดใส่ในอวัยวะเพศหญิงเพียงเล็กน้อย” ส่วนองค์การอนามัยโลกได้ให้คำนิยามไว้ว่า “การขาดความสามารถในการชะลอการหลั่งอย่างเพียงพอ เพื่อจะได้รับความสุขอย่างเพียงพอจากรร่วมรัก ซึ่งอาจแสดงให้เห็นโดยการหลั่นก่อนหรือหลังจากเริ่มต้นการร่วมเพศได้เพียงเล็กน้อย (ก่อนหรือภายใน 15 วินาทีของการเริ่มต้นการร่วมเพศ)”
เราสามารถจำแนกภาวะหลั่งเร็วออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
• ภาวะหลั่งเร็วที่เป็นตลอด (lifelong premature ejaculation) เป็นการหลั่งเร็วที่เกิดขึ้นทุกครั้งเวลามีเพศสัมพันธ์ เกิดขึ้นตั้งแต่การร่วมเพศครั้งแรก ผู้ป่วยโดยมากจะหลั่งหลังจากเริ่มต้นร่วมเพศได้เพียง 30-60 วินาที หรือ 1-2 วินาที ในผู้ป่วยส่วนน้อย
• ภาวะหลั่งเร็วที่เป็นผลจากความผิดปกติอื่นๆ (acquired premature ejaculation) เป็นการหลั่งเร็วที่เกิดขึ้นในบางช่วงของชีวิต โดยก่อนหน้านี้ผู้ป่วยมีการหลั่งที่เป็นปกติ สาเหตุมาจากความผิดปกติอื่นๆ ของร่างกายและจิตใจ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ต่อมลูกหมากอักเสบ ฮอร์โมนไทรอยด์สูงผิดปกติ เป็นต้น
• ภาวะหลั่งเร็วที่เกิดจากความหลากหลายตามธรรมชาติ (natural variable premature ejaculation) เป็นความหลากหลายของเวลาที่ใช้ในการหลั่งตามปกติ ไม่นับเป็นความผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีการหลั่งเร็วเกิดข้นไม่สม่ำเสมอ
• ความผิดปกติเกี่ยวกับการหลั่งที่คล้ายกับภาวะหลั่งเร็ว (premature-like ejaculatory dysfunction) ภาวะนี้ผู้ป่วยยังมีการหลั่งที่เป็นปกติ แต่ผู้ป่วยกลับรู้สึกไปเองว่ามีภาวะหลั่งเร็ว
เฉพาะภาวะหลั่งเร็วที่เป็นตลอดและภาวะหลั่งเร็วที่เป็นผลจากความผิดปกติอื่นๆ เท่านั้น ที่ต้องใช้ยาในการรักษา ส่วนอีกสองประเภทที่เหลือใช้เพียงการรักษาทางจิต ดังนั้น ผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีภาวะหลั่งเร็ว จึงควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
การรักษา
การรักษาภาวะหลั่งเร็วประกอบด้วยการรักษาที่ใช้ยาและไม่ใช้ยาก ซึ่งปัจจุบันยาที่ใช้ในการรักษาภาวะนี้ นับว่ามีประสิทธิภาพมาก การรักษาได้ผลดี อย่างไรก็ตามควรใช้ภายใต้การแนะนำของแพทย์ นอกเหนือจากการรักษาโดยใช้ยาแล้ว ในกรณีที่ภาวะหลั่งเร็วเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์สูงผิดปกติ ก็ต้องรักษาที่ความผิดปกตินั้นด้วย
สำหรับการรักษาภาวะหลั่งเร็วโดยไม่ใช้ยา ได้แก่ การบำบัดทางพฤติกรรมและการรับรู้ (cognitive behavioral therapy) การบำบัดนี้ประกอบด้วยการบำบัดทั้งในส่วนของปัจเจกบุคคลและคู่ เหมาะสำหรับผู้ป่วยภาวะหลั่งเร็วที่เป็นผลมาจากความวิตกกังวล แต่ไม่สามารถใช้เป็นการรักษาเดี่ยวในผู้ป่วยภาวะหลั่งเร็วที่เป็นตลอด
เนื่องจากผู้ที่มีปัญหาหลั่งเร็วส่วนใหญ่ยังอายุไม่มาก จึงมักเกิดความอายและไม่กล้ามาพบแพทย์ จึงขอแนะนำว่าไม่ควรเก็บงำปัญหาหรือปล่อยทิ้งไว้จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจตนเองและชีวิตคู่ ควรมาปรึกษาแพทย์เพื่อที่จะได้วางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม และนำมาสู่การร่วมรักอย่างมีความสุข
การที่จะผ่านปัญหาเพศสัมพันธ์เหล่านี้ไปได้นั้น สิ่งสำคัญคือความรู้และความเข้าใจ ผู้ป่วยต้องเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ ที่สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ และไม่ใช่เรื่องน่าอาย ปัจจุบันวิทยาการมีความก้าวหน้าที่จะรักษาเรื่องเหล่านี้ให้หายขาดได้ และที่สำคัญคือ ความเข้าใจซึ่งกันและกัน ระหว่างผู้ป่วยกับคู่รักเพศสัมพันธ์ไม่ใช่ทุกสิ่งของชีวิตคู่ หากแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิตคู่ คือการพูดคุยกันด้วยความเข้าใจ ต่อให้อีกฝ่ายมีปัญหาในบางเรื่อง แต่สุดท้ายก็จะเข้าใจกันและสามารถครองรักอย่างยืนยาวในที่สุด
ผศ.นพ.อภิรักษ์ สันติงามกุล
ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)