Haijai.com


6 วัตถุดิบที่ใช้ปรุงเป็นอาหารเจ


 
เปิดอ่าน 20095

กินเจอย่างไร สุขภาพดีไม่อ้วน

 

 

หลักสำคัญในการกินเจ คือ การละเว้นเนื้อสัตว์ เพื่อชำระล้างจิตใจและเพื่อสุขภาพของตนเอง

 

 

มีหลายท่านที่หลังจากจบเทศกาลกินเจมักจะน้ำหนักขึ้น ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะอาหารเจที่ทำขายส่วนใหญ่ อุดมไปด้วยแป้งและไขมัน ไม่ค่อยมีผักและโปรตีนสักเท่าไหร่ แต่ถ้าจะให้ทำอาหารเจกินเอง ดูเหมือนจะยากไปสำหรับการใช้ชีวิตที่รีบเร่งในปัจจุบัน เปลี่ยนเป็นรู้ว่าอาหารเจประเภทไหนให้พลังงานสูง และเลือกกินอย่างพอดี ไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่กำลังควบคุมน้ำหนัก ดังนั้น เรามารู้จักวัตถุดิบที่นิยมนำมาใช้ในการทำอาหารเจกันก่อน ว่ามีอะไรกันบ้าง

 

 

6 วัตถุดิบยอดนิยมที่นำมาใช้ปรุงเป็นอาหารเจ

 

1.โปรตีนเกษตร โปรตีนจากพืชคุณภาพเยี่ยม

 

โปรตีนเกษตรทำมาจากแป้งถั่วเหลืองที่สกัดเอาไขมันออก และ นำมาผ่านขบวนการเอ็กซทรูชั่น (Extrusion) ซึ่งถั่วเหลืองจัดเป็นธัญพืชที่มีโปรตีนค่อนข้างสูงพอๆ กับเนื้อสัตว์ทั่วไป ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่ดี ช่วงที่ละเว้นเนื้อสัตว์ โปรตีนเกษตรจัดว่าเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบ ที่คุณควรจะเลือกกินทุกวัน และถ้ามาดูเรื่องพลังงาน ก็จัดว่าให้พลังงานน้อยมาก โปรตีนเกษตรแบบแห้งหรือที่ยังไม่แช่น้ำ 100 กรัม ให้พลังงาน 322 กิโลแคลอรี โปรตีน 74.9 กรัม ไขมัน 0.1 กรัม คาร์โบไฮเดรต 15.1 กรัม

 

 

2.หมี่กึง โปรตีนหรือแป้งกันแน่?

 

หมี่กึง เป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบที่นิยมนำมาทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ หมี่กึงทำมาจากแป้ง ข้าวเหนียว หรือ แป้งสาลี จึงถูกจัดเป็นวัตถุดิบประเภทแป้ง มีหลายคนที่เข้าใจผิดคิดว่ากินหมี่กึงจะทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ จึงทำให้กินโดยไม่คำนึงว่า ที่กำลังกินอยู่คือแป้งที่นำมาปรุงแต่งกลิ่น รส และ รูปร่างให้เหมือนเนื้อสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไก่เจ เป็ดเจ ปลาเจ กุ้งเจ ลูกชิ้นเจ ปลาเค็มเจ เป็นต้น หมี่กึง 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 378 กิโลแคลอรี โปรตีน 41.4 กรัม ไขมัน 1.9 กรัม คาร์โบไฮเดรต 42.2 กรัม

 

 

3.เต้าหู้ โปรตีนชั้นเลิศจากถั่ว

 

เต้าหู้ จัดเป็นโปรตีนจากถั่วเหลืองเช่นเดียวกับโปรตีนเกษตร ซึ่งปัจจุบันเต้าหู้มีหลากหลายยี่ห้อมาก ไม่ว่าจะเป็นเต้าหู้ขาว เต้าหู้เหลือง เต้าหู้ญี่ปุ่น เต้าหู้มักจะถูกนำมาทำเป็นเมนูอาหารต่างๆ เช่น แกงจืดเต้าหู้ เต้าหู้ทอด ผัดผักใส่เต้าหู้ เต้าหู้เหลืองหรือเต้าหู้ขาวชนิดแข็ง 100 กรัมให้พลังงานประมาณ 148 กิโลแคลอรี เต้าหู้ขาวอ่อน 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 63 กิโลแคลอรี

 

 

4.เห็ดหอม และเห็ดต่างๆ

 

เห็ดหอมและเห็ดต่างๆ จัดเป็นพืชที่มีโปรตีนสูง เห็ดหอมนิยมนำไปใส่ในแกงจืด หรือผัดผักเพื่อเพิ่มรสชาติให้กับอาหารเจ นอกจากความอร่อยแล้ว ยังช่วยเพิ่มโปรตีนให้กับผู้ที่กินเจด้วย เห็ดเป็นพืชที่ให้พลังงานน้อย เห็ด 100 กรัม ให้พลังงานประมา 16 กิโลแคลอรี

 

 

5.หมี่ซั่วและ เส้นหมี่โซบะ

 

หมี่ซั่วเป็นเหมือนสัญญาลักษณ์ของเทศกาลอาหารเจ หมี่ซั่วทำมาจากแป้งสาลี แป้ง มัน น้ำ และเกลือ นิยมนำมาผัดกับผักในช่วงเทศกาลกินเจ หมี่ซั่ว 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 290 กิโลแคลอรี เส้นหมี่โซบะเส้นกลมใหญ่ ทำมาจากแป้งสาลี ไข่ และเกลือ นิยมนำมาผัดกับผักต่างๆ ในช่วงกินเจ เส้นโซบะ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 300 กิโลแคลอรี

 

 

6.ผักต่างๆ ที่ไม่มีกลิ่นฉุน

 

ผักที่นิยมนำมาทำอาหารเจ ส่วนมากจะเป็น กะหล่ำปลี กวางตุ้ง หัวไชเท้า บร็อกโคลี ผักคะน้า แครอท แต่ช่วงเทศกาลกินเจผักจะมีราคาค่อนข้างแพง ทำให้แม่ค้าพ่อค้าไม่ค่อยนิยมนำผักมาทำอาหารปรุงขาย ผักเป็นอาหารที่ให้พลังงานน้อยมาก ผัก 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 16-32 กิโลแคลอรี แบบนี้กินมากแค่ไหนก็ไม่ต้องกลัวอ้วนค่ะ

 

 

เมนูอาหารจานเด็ดที่ขายดีช่วงกินเจ

 

เมนูอาหารเจเหล่านี้ เรียกว่าเป็นเมนูที่นิยมรับประทานกันในช่วงกินเจ เป็นเพราะอร่อยและหากินได้ง่าย แต่ความอร่อยของอาหาร มักจะคู่กับพลังงานที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น ถ้าอาหารเหล่านี้เป็นจานโปรดของคุณในช่วงเทศกาลกินเจ ก็อาจจะรับประทานให้น้อยลง จะได้ไม่มีปัญหาน้ำหนักขึ้นหลังจากจบเทศกาลค่ะ

 

 เต้าหู้ทอด 1 จานเล็ก (150 กรัม) ให้พลังงานประมาณ 320 กิโลแคลอรี

 

 เผือกทอด 1 จานเล็ก (150 กรัม) ให้พลังงานประมาณ 450 กิโลแคลอรี

 

 มันทอด 1 จานเล็ก (100 กรัม) ให้พลังงานประมาณ 350 กิโลแคลอรี

 

 ปาท่องโก๋ 1 คู่ขนาดปกติ (20 กรัม) ให้พลังงานประมาณ 124 กิโลแคลอรี

 

 เกี๊ยวกรอบ 1 จานเล็ก (80 กรัม) พร้อมน้ำจิ้มให้พลังงานประมาณ 290 กิโลแคลอรี

 

 ปอเปี๊ยะทอด 1 จานเล็ก (150 กรัม) พร้อมน้ำจิ้มให้พลังงานประมาณ 420 กิโลแคลอรี

 

 โปรตีนเกษตรทอดกรอบผัดพริกขิง 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 430 กิโลแคลอรี

 

 ขนมครก 1 คู่ ให้พลังงานประมาณ 95 กิโลแคลอรี

 

 กล้วยแขก 3 ชิ้น ให้พลังงาน 250 กิโลแคลอรี

 

 กุยช่ายทอด 1 ชิ้น ให้พลังงานประมาณ 115 กิโลแคลอรี

 

 หมี่ซั่วผัด 1 จานกลาง ให้พลังงานประมาณ 420 กิโลแคลอรี

 

 ยากิโซบะเจ 1 จาน ให้พลังงานประมาณ 520 กิโลแคลอรี

 

 ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ้วเจ 1 จาน ให้พลังงานประมาณ 550 กิโลแคลอรี

 

 ก๋วยเตี๋ยวผัดไทยเจ 1 จาน ให้พลังงานประมาณ 480 กิโลแคลอรี

 

 

อาหารเจ จัดเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ถ้าคุณรู้จักเลือกกินอาหารอย่างถูกวิธี ไม่กินมากเกินความต้องการของร่างกาย ปีนี้ถึงจะกินเจสองรอบก็ไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำหนักอีกต่อไป ขอให้อิ่มบุญสุขใจกับอาหารเจกันนะคะ

 

 

คุณรุ่งเรือง คลองบางลอ

โภชนาการ ฟิลิปเวน

(Some images used under license from Shutterstock.com.)