© 2017 Copyright - Haijai.com
ระวังป่วยหนัก เพราะยาชื่อพ้องมองคล้าย
ใครบ้างที่เวลาไปซื้อยาตามสถานพยาบาลต่างๆ แล้วจำชื่อยาไม่ได้ แต่สิ่งที่จำได้กลับเป็นรูปร่าง ลักษณะ สี ซึ่งเหล่านี้มีคล้ายกันมากกว่า 2 ชนิด เลยทีเดียว แถมต่างขนาดยากันอีกต่างหาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดเหตุฉุกเฉินที่จำเป็นต้องซื้อยาประจำต่างสถานพยาบาล หากบอกชื่อยาผิด รับประทานเข้าไปผิดชนิด ผิดโรคแล้วล่ะก็ งานเข้าแน่ๆ จ้า
เรามักจะได้ยินอยู่เสมอกับคำว่า “ชื่อพ้อง มองคล้าย” คำว่า คล้ายหรือพ้องกันในที่นี้มีตั้งแต่รูปลักษณะ สี ขนาด รวมถึงชื่อที่ออกเสียงคล้ายหรอใกล้เคียงกัน ทำให้ผู้ใช้เกิดความสับสนได้
ตัวอย่าง “ยาชื่อพ้อง”
• โคลฟิแนค (Diclofenac) กับ ไดคลอกซาซิลลิน (Dicloxacillin) ซึ่ง ไดโคลฟิแนค เป็นยาแก้ปวดอักเสบกล้ามเนื้อ ลักษณะเม็ดแป้งกลมๆ ส่วน ไดคลอกซาซิลลิน เป็นยาแก้อักเสบมักผลิตมาในรูปแบบแคปซูล
• โคซาร์ (Cozaar) เป็นยาลดความดัน ส่วน Zaor (โซคอร์) เป็นยาลดไขมันในเลือด
• ไฮดราลาซีน (Hydralazine) เป็นยาลดความดันเลือด ส่วน ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) เป็นยาแก้แพ้ แก้คัน หากเรามีอาการแพ้แล้วไปรับประทานยาลดความดัน อาจทำให้ความดันต่ำจนอาจเกิดอันตรายได้
ตัวอย่าง “ยามองคล้าย”
• แอมม็อกซี่ แต่ละบริษัทจะมีสีที่แตกต่างกัน แต่สีดั้งเดิมส่วนใหญ่จะเป็นแคปซูลสีส้มแดง ปัจจุบันทำสีต่างออกไป เช่น ขาว-ชมพู เหลือง-ฟ้า ซึ่งบางครั้งก็ไปคล้ายกับสีของตัวยา พอนสแตน 250 มิลลิกรัม
• สีของอักษร ยารูปแบบแผงฟรอยด์ ทุกอย่างคล้ายกันเพียงแต่สกรีนอักษรคนละสีเท่านั้น เช่น ยาความดัน Diovan ขนาด 80 มิลลิกรัม จะสกรีนตัวอักษรสีดำ แต่ขนาดยาที่แรงขึ้นเป็น 160 มิลลิกรัม จะสกรีนตัวหนังสือสีส้ม
ขนาดยา
• ยาขับปัสสาวะ เช่น ยา Furosemide (ฟูโรซีไมด์) มีทั้ง 40 มิลลิกรัม และ 500 มิลลิกรัม ซึ่งมีความแรงต่างกันหลายเท่าตัว
• พาราเซตามอล มีขนาด 500 มิลลิกรัม และ 650 มิลลิกรัม (สำหรับรับประทานทุกๆ 8 ชั่วโมง) หากรับประทานทุกๆ 4 ชั่วโมง อาจได้รับยาเกินขนาดและเป็นอันตรายได้
• ยาละลายลิ่มเลือด เช่น Warfarin (วาร์ฟาริน) มีทั้งขนาด 2 มิลลิกรัม 3 มิลลิกรัม และ 5 มิลลิกรัม หากกินขนาดยาสูงไป ก็อาจทำให้เลือดออกมากผิดปกติ แต่หากกินขนาดต่ำไป ก็ไม่ทำให้เกิดผลการรักษา
Don’t
• ไม่จำชื่อยาของตัวเอง จำแต่รูปลักษณ์และสี ซึ่งอาจซ้ำกับยาชนิดอื่นได้
• ไม่อ่านฉลากยา
• เรามักคิดว่าหมอทราบแล้ว ว่าเราแพ้ยาตัวใดอยู่ เมื่อมีความจำเป็นต้องไปสถานพยาบาลอื่น จึงไม่ทราบยาที่ตนเองแพ้ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดแพ้ยาซ้ำ
• จำยาเดิมไม่ได้ ทำให้ต้องเริ่มต้นใช้ยาชนิดใหม่ การรักษาจึงไม่ต่อเนื่อง
Do
• ต้องจำชื่อและสรรพคุณของยาที่ใช้อยู่ รวมถึงจำชื่อยาที่ตัวเองแพ้ให้ได้
• รู้วิธีการใช้ อ่านฉลากก่อนรับประทาน
• หากซื้อจากร้านยาควรให้เภสัชกรเขียนชื่อยาและความแรงไว้ให้ที่ซองอย่างชัดเจน
ทานยาผิดทำอย่างไรดี
ควรรีบโทรไปโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่จ่ายยาให้ เพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้นระหว่างเดินทางมาพบแพทย์ และไม่ควรทำให้อาเจียน ถ้าแพทย์ไม่ได้แนะนำให้ทำ
เภสัชกรหญิง บงกช มหาคีตะ
เภสัชกร
โรงพยาบาลมิชชั่น
(Some images used under license from Shutterstock.com.)