Haijai.com


สมุนไพรเหงือกปลาหมอ ไม้น้ำแก้โรคผิวหนัง


 
เปิดอ่าน 5022

เหงือกปลาหมอ ไม้น้ำแก้โรคผิวหนัง

 

 

มีพืชสมุนไพรหลายชนิดที่รูปลักษณ์ภายนอกดูไม่สวยงาม น่าชื่นชมหรือน่าหามาปลูกมากนัก เช่นเดียวกับต้น “เหงือกปลาหมอ” ที่ใบมีรูปร่างแปลก แถมมีหนามแหลมปกคลุมอยู่ตามต้นและใบ แต่แท้จริงแล้วพืชชนิดนี้มีสรรพคุณที่น่าสนใจทีเดียว

 

 

เหงือกปลาหมอ พบได้ทั่วไปตามป่าชายเลนทางภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ของไทย มีชื่อเรียกอื่นๆ ว่า แก้มหมอ แก้มหมอเล จะเกร็ง นางเกร็ง อีเกร็ง มีชื่อสามัญว่า Sea holly, Thistleplike Plant อยู่ในวงศ์ Acanthaceae ที่นำมาใช้เป็นสมุนไพรมี 2 ชนิด คือ เหงือกปลาหมอดอกขาว (Acanthus ebracteatus Vahl) และเหงือกปลาหมอดอกม่วง (A. Ilicifolia L.)

 

 

เป็นไม้พุ่มเล็กๆ ยอดตั้งตรง สูงได้ถึง 1 เมตร มีลำต้นแข็ง สีเขียววอมเทา มีหนามตามข้อ ใบเดี่ยว รูปไข่ รูปรี หรือรูปขอบขนาน ขอบใบหยักเว้าเป็นซี่ฟัน ปลายซี่มีหนามแหลม แผ่นใบหนาเป็นมัน ช่อดอกออกที่ปลายยอด ดอกย่อยเป็นดอกสมบูรณ์เพศมี 2 สี คือ สีขาวมีจุดประสีม่วงแดงและสีม่วง กลีบปากมีแถบสีเหลืองอ่อน กลีบหนา อวบน้ำ ผลเป็นฝักรูปไข่หรือทรงกระบอก เมื่อแก่แตกออก ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก

 

 

เหงือกปลาหมอเป็นสมุนไพรรักษาโรคผิวหนังได้หลายชนิด โดยนำต้นและใบสด 3-4 กำมือ ล้างให้สะอาด นำมาต้มน้ำอาบ แก้ผื่นคัน ทั้งต้นและเมล็ดใช้รักษาฝี แก้น้ำเหลืองเสีย น้ำคั้นจากใบนำมาทาศีรษะช่วยบำรุงเส้นผม ใบผสมกับพริกไทย อัตราส่วน 2:1 บดเป็นผง ปั้นเป็นยาลูกกลอนกินเป็นยาอายุวัฒนะ

 

 

มือใหม่หัดปลูก

 

เหงือกปลาหมอชอบดินชุ่มชื้นตามริมตลิ่งที่มีน้ำตื้นๆ แสงแดดตลอดวัน นิยมปลูกเป็นไม้น้ำ ปัจจุบันมีพันธุ์ใบด่างที่สวยงามไปอีกแบบ หากต้นแผ่เป็นพุ่มจนเกะกะ หมั่นตัดแต่งออกบ้าง แล้วนำกิ่งที่ได้มาปักชำต่อด้วยขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้

 

1.เลือกกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน ตัดเป็นท่อนยาว 10-15 เซนติเมตร มีข้อ 2-3 ข้อ ลิดใบออกให้เหลือ 2 ใบ

 

 

2.ใส่ดินร่วนระบายลงในกระถางขนาดเล็กจนเกือบเต็ม

 

 

3.ปักกิ่งไม้เล็กๆ ลงในดินให้เป็นร่องลึก แล้วนำกิ่งพันธุ์ที่เตรียมไว้ปักลงตาม ให้ข้อจมลงดิน กดดินรอบๆ กิ่งชำให้แน่น

 

 

4.รดน้ำให้ชุ่มชื้น วางในที่ที่มีแสงแดดรำไร ประมาณ 7-10 วัน จะเริ่มแตกรากใหม่ตามข้อปล้องและเติบโตต่อไป

 

 

5.เมื่อต้นเติบโตแข็งแรงจึงย้ายปลูกในกระถางขนาดใหญ่หรือปลูกลงแปลงดิน

 

 

Tips

 

 ควรปักชำกิ่งในช่วงฤดูฝน จะแตกรากและเติบโตได้ดีกว่าในฤดูร้อนและฤดูหนาว

 

 

 เหงือกปลาหมอเป็นพืชที่มีหนามแหลม ไม่ควรปลูกใกล้ทางเดินหรือบริเวณสนามเด็กเล่น เพราะอาจเกิดอันตรายได้

(Some images used under license from Shutterstock.com.)