Haijai.com


ออกกำลังกายปกป้องกระตุ้นหัวใจ


 
เปิดอ่าน 2465

ออกกำลังกายปกป้องกระตุ้นหัวใจ

 

 

การออกกำลังกายดีต่อคนทุกเพศทุกวัย ดีต่อร่างกายทุกส่วน รวมทั้งหัวใจอันเป็นที่รักของเรา

 

 

คุณหมออู๋ลี่ฉินแนะนำให้คนทั่วไปที่สุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วยเป็นโรคหัวใจ ออกกำลังกายวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน โดยให้การเต้นของหัวใจสูงสุดอยู่ที่ไม่เกิน 170 ครั้งต่อนาที

 

 

ส่วนผู้ป่วยโรคหัวใจควรแบ่งการออกกำลังกายออกเป็นช่วงๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เหนื่อยเกินกำลัง เช่น แบ่งเป็นวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 10 นาที ไม่ควรให้เกิน 15 นาที หรือปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย

 

 

การเดินเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดและดีต่อระบบขับถ่าย คุณหมออู๋ลี่ฉินแนะนำต่อว่า

 

 

“ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายเวลา 6-9 โมงเช้า เพราะช่วงเวลานี้อัตราการเต้นของหัวใจจะสูง จึงมีโอกาสที่โรคหัวใจจะกำเริบมากที่สุด แนะนำให้คนที่เป็นโรคหัวใจรวมทั้งโรคเบาหวาน ออกกำลังกายหลังเวลาบ่ายสามโมงไปแล้ว และไม่ควรออกกำลังกายประเภทที่ใช้แรงยกน้ำหนัก”

 

 

สำหรับผู้สูงอายุซึ่งเป็นวัยที่เป็นโรคหัวใจกันมากนั้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ อดีตอาจารย์ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล แนะนำการออกกำลังกายไว้ในหนังสือ ครอบครัวหัวใจแข็งแรง ว่า ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งต้องประกอบด้วย

 

1.ออกกำลังกายเพื่อยืดและคลายกล้ามเนื้อ จะช่วยป้องกันกล้ามเนื้อและข้อต่อติดยึดและปวด เช่น รำมวยจีนหรือโยคะ

 

 

2.ออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และฝึกการทรงตัว เช่น ยกน้ำหนักเบาๆ

 

 

3.ออกกำลังกายเพื่อความทนทาน ช่วยให้สุขภาพร่างกายและหัวใจแข็งแรงไปพร้อมๆ กัน เช่น การออกกำลังกายแบบแอโรบิก อาทิ เดิน ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน อย่างต่อเนื่องครั้งละ 20-30 นาที

 

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่อยู่ในวัยสูงอายุ แต่เมื่อวัยเพิ่มขึ้น สมรรถภาพร่างกายก็อาจถดถอยลงเป็นธรรมดา จึงไม่ควรออกกำลังกายหนักจนเกินไป หรือใช้แรงเท่ากับตอนยังหนุ่มสาว  เพราะจะทำให้หัวใจทำงานหนัก และยังเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดในสมองแตก กล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อได้รับบาดเจ็บ

 

 

Tips

 

โรคหัวใจมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอารมณ์โมโห หงุดหงิด การรีบเร่ง จากประสบการณ์ที่คุณหมออู๋ลี่ฉินได้ดูแลคนไข้ที่มีอาการโรคหัวใจกำเริบกะทันหันนั้น ล้วนเกี่ยวกับอารมณ์ดังกล่าว

 

 

“ความกลัวหรือตื่นตระหนักก็ไม่ดีกับคนเป็นโรคหัวใจ เพราะจะทำให้โรคกำเริบ คนที่เป็นโรคหัวใจส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มักจะมีปัญหาช่องว่างระหว่างวัยกับลูกหลาน เมื่อไม่ได้ดังใจก็อาจจะโมโห ทำให้โรคกำเริบ จึงควรปล่อยวางให้มาก พยายามเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่ทำให้ตื่นเต้น เครียด หรืออยู่ในเหตุการณ์น่ากลัว เพื่อป้องกันโรคหัวใจกำเริบ”

 

 

ควรผ่อนคลายจิตใจให้มาก โดยการฟังเพลง ฝึกนั่งสมาธิ รำไทเก๊ก ฝึกโยคะให้จิตใจนิ่งสงบ กิจกรรมเหล่านี้ ดีต่อหัวใจของเรา

(Some images used under license from Shutterstock.com.)