© 2017 Copyright - Haijai.com
โรคร้ายทำร้ายหัวใจ
คนทั่วไปมักเกิดมาพร้อมสุขภาพหัวใจที่แข็งแรง สามารถใช้งานไปพร้อมกับอายุที่ยืนยาว แต่พฤติกรรมที่แต่ละคนสร้างขึ้นมาเอง เช่น กินอาหารไขมันสูง อาหารรสเค็มจัด ขาดการออกกำลังกาย สะสมความเครียดเป็นเวลานาน ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้หัวใจอ่อนแอ สมรรถภาพในการทำงานถดถอย กระทั่งหยุดทำงานก่อนเวลาอันควร
สำนักโรคติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงโรคและภาวะที่เป็นปัจจัยเสี่ยง นำไปสู่การเกิดโรคหัวใจได้มีดังนี้ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน โดยเฉพาะการอ้วนแบบลงพุงจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรืออุดตันมากกว่าอ้วนทั้งตัว
สิ่งที่เราควรระวังเกี่ยวกับความอ้วน คือ ยิ่งความยาวรอบเอวมาก ยิ่งเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้รอบเอวขยายเกินไปนะคะ
โดยขนาดรอบเอวที่เหมาะสม คือ ผู้หญิงไม่ควรเกิน 32 นิ้ว (80 เซนติเมตร) ส่วนผู้ชายไม่ควรกิน 36 นิ้ว (90 เซนติเมตร) ถ้าเกินจะมีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง และตามมาด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
นอกจากนี้ควรดูแลรอบเอวไม่ให้มีขนาดเกินครึ่งหนึ่งของความสูง เช่น สูง 150 เซนติเมตร รอบเอวไม่ควรเกิน 75 เซนติเมตร
Good to Know
1.สมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกาแนะนำให้กินปลาหลากหลายชนิด ไม่แนะนำให้ปรุงด้วยการทอด เพราะอาจเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว แต่ควรปรุงด้วยการอบ ต้ม หรือนึ่ง ควรกินอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 มื้อ จะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
2.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ สาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำข้อมูลไว้ในบทความของชมรมฟื้นฟูหัวใจว่า การไม่กินอาหารเช้า กินมื้อเย็นดึก (หลังสองทุ่มไปแล้ว) เพิ่มโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น
3.ข้อมูลจากหนังสือ หัวใจคือชีวิต โดยมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แนะนำวิธีแก้ความเครียดว่าให้อาบน้ำ กินอาหารเบาๆ ใส่เสื้อผ้าสบายๆ ผ่อนคลายอารมณ์ สูดลมหายใจเข้า-ออก ลึกๆ ยาวๆ ติดต่อกันประมาณ 30 นาที
(Some images used under license from Shutterstock.com.)