Haijai.com


รับมืออาการหมดประจำเดือนก่อนวัย


 
เปิดอ่าน 10237

รับมือประจำเดือนหมด ก่อนวัยอันควร

 

 

วัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน ช่วงวัยที่ผู้หญิงทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนั้นหมายถึงอายุที่มากขึ้น แต่ใช่ว่าอาการหมดประจำเดือนจะมาเยือน เมื่อคุณสูงวัยเท่านั้น หากคุณดูแลสุขภาพไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด ความวิตกกังวล หรือความเหนื่อยล้าจากการโหมงานหนักเกินไป ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ประจำเดือนหมดก่อนวัยได้เช่นกัน

 

 

รู้จักวัยหมดประจำเดือน

 

การหมดประจำเดือน คือ การสิ้นสุดลงของวัยเจริญพันธุ์อย่างถาวร เนื่องจากรังไข่ชะลอการทำงานจนหยุดทำงานในที่สุด ส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมน การตกไข่ การก่อตัวและการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก โดยเฉลี่ยผู้หญิงไทยจะหมดประจำเดือนเมื่ออายุประมาณ 50 ปี ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกายจะเริ่มลดลงอย่างช้าๆ เมื่ออายุประมาณ 35 ปี และเมื่อเข้าสู่อายุ 40 ปี ความผิดปกติต่างๆ จะชัดเจนขึ้น และนำไปสู่ช่วงหมดประจำเดือน ซึ่งอาจใช้เวลาหลายปี หรือเวลาไม่นาน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ของแต่ละบุคคล

 

 

อายุไม่ถึง 40 ปี ประจำเดือนหายไป หมดประจำเดือนก่อนวัยจริงหรือ?

 

ถ้าอายุไม่ถึง 40 ปี เรียกได้ว่าเป็นภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยจริง หากรอบเดือนไม่มาติดต่อกันนานเป็นเวลานานกว่า 12 เดือน โดยไม่มีสาเหตุอื่นๆ ทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัดรังไข่ การใช้ยาฮอร์โมน หรืออยู่ระหว่างการให้เคมีบำบัด

 

 

โดยปัจจัยที่ทำให้ประจำเดือนหมดก่อนวัย ขึ้นอยู่กับ

 

 ฮอร์โมนจากรังไข่

 

 สภาพของมดลูก

 

 สุขภาพโดยรวม

 

 

หากสุขภาพดี ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง ซึ่งจะผลิตตอนกลางคืน เมื่อเรานอนหลับสนิท ก็จะหลั่งออกมาดี รังไข่ก็จะทำงานเป็นปกติ เพราะได้รับการกระตุ้น การผลิตฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนก็จะเป็นไปตามปกติ วงจรการตกไข่ก็จะปกติ ประจำเดือนก็จะมาตามปกติ

 

 

แต่ปัจจุบัน ผู้หญิงไทยสุขภาพโดยรวมไม่ดีนัก ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ และการแข่งขันที่สูง ทำให้ผู้หญิงต้องทำงานหนักนอนดึก รับประทานไม่ถูกหลักโภชนาการ ออกกำลังกายไม่ถูกส่วน ทำให้ต่อมไฮโปธาลามัสในสมองที่เป็นตัวหลั่งฮอร์โมนที่จะมาควบคุมต่อมใต้สมอง หรือต่อมพิทูอิตารี ผลิตฮอร์โมนมากระตุ้นรังไข่ได้ไม่ดีต่อเนื่อง ทำให้รังไข่หยุดทำงาน เป็นที่มาของการหมดประจำเดือนก่อนวัย

 

 

เมื่อเข้าสู่วัยกลางคน ผู้หญิงหลายคนเริ่มรู้สึกว่าสุขภาพเสื่อมถอยลงอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการนอนหลับ จิตใจ หดหู่ เหงาเศร้า และเหนื่อยสะสม อาการเหล่านี้ อาจไม่ได้เป็นผลมาจากความตึงเครียดเท่านั้น แต่อาจเป็นผลลัพธ์ จากการหมดประจำเดือนที่มาเยือนก่อนวัยอันควรก็เป็นได้ นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ สูตินรีแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมนต่อมไร้ท่อและการเจริญพันธุ์ ให้ความรู้กับไว้อย่างน่าสนใจ

 

 

จับสัญญาณเตือน อาการหมดประจำเดือนก่อนวัย

 

โดยปกติแล้ คนที่เป็นมักจะไม่ค่อยรู้ตัว เพราะไม่มีสัญญาณอะไรที่ผิดปกติ แต่ถ้าลองมองดูว่าคนรอบข้าง เริ่มถอยห่างจากเราหรือรู้ตัวว่าอารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย หงุดหงิดง่าย หรือบางครั้งหดหู่ไม่มีเหตุผล ยิ่งพบว่าประจำเดือนน้อยลงหรือรอบเดือนแต่ละรอบห่างขึ้น ควรมาพบแพทย์ เพื่อสอบถามประวัติส่วนตัว ประวัติการรักษาโรค และตรวจดูระดับฮอร์โมนต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และกำลังนำไปสู่ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยจริงๆ

 

 

ภาวะแทรกซ้อนจากประจำเดือนหมดก่อนวัย

 

การที่ประจำเดือนหมดนั้น ไม่ได้หมายถึงระดับฮอร์โมนที่ลดลง หรือประจำเดือนไม่มาแค่นั้น เพราะการที่ฮอร์โมนลดลง ยังส่งผลต่อปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ ในระยะยาวได้เช่นกัน เช่น

 

1.โรคกระดูกพรุนหรือกระดูกบาง เนื่องจากการสูญเสียมวลกระดูก หากยิ่งประจำเดือนหมดเร็ว ก็จะยิ่งสูญเสียมวลกระดูกเร็ว เป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุน ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ หรือกระดูกหักได้ง่าย

 

 

2.คอเลสเตอรอลและโรคหัวใจ เมื่อฮอร์โมนลดลง ฮอร์โมนที่มีส่วนในการรักษาระดับคอเลสเตอรอลโดยรวม และคงความสมดุลระหว่างคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) กับชนิดไม่ดี (LDL) ซึ่งยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน แต่พบว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน ระดับคอเลสเตอรอลโดยรวม และระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีจะเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดและหัวใจมากขึ้น

 

 

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ชะลอการหมดประจำเดือนก่อนวัย

 

เมื่อรู้ว่า พฤติกรรมเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้อาการหมดประจำเดือนก่อนวัยเกิดขึ้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงมีส่วนที่ช่วยชะลอการหมดประจำเดือนก่อนวัยได้ ขึ้นอยู่ว่าระดับฮอร์โมนลดลงแค่ไหน ถ้ายังไม่เกิดความเสียหายมาก มวลกระดูกยังไม่ลดน้อยลงมากเกินไป การเปลี่ยนพฤติกรรม รับประทานอาหารให้ครบมื้อ และถูกโภชนาการออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยชะลออาการหมดประจำเดือนก่อนวัยได้ แต่ถ้าเกิดผลกระทบขึ้นมาแล้ว ฮอร์โมนลดต่ำมากเกินไป แพทย์อาจให้ฮอร์โมนเสริม แต่ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีเนื้องอกหรือมะเร็งที่สัมพันธ์กับฮอร์โมน

 

 

ความจริงแล้ว ไม่ควรให้ร่างกายส่งสัญญาณเตือนแล้วค่อยมากระตือรือร้น หาทางรักษาภายหลัง ควรเริ่มสังเกตว่า เมื่อประจำเดือนมาผิดปกติ ควรมาปรึกษาแพทย์ เพราะในปัจจุบันคนจะเริ่มมาพบแพทย์เมื่ออายุล่วงเลยหลัก 4 ถ้ามาพบตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อหาวิธีป้องกัน หากอะไรที่ป้องกันไม่ได้จะได้ชะลอไว้ให้นานที่สุด

 

 

นายแพทย์พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์

สูตินรีแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมนต่อมไร้ท่อและการเจริญพันธุ์

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)