© 2017 Copyright - Haijai.com
เป็นเบาหวานอย่าเบาใจ
Q : กำลังเศร้ากับผลตรวจสุขภาพประจำปีค่ะ คุณหมอเตือนให้ระวังเรื่องของเบาหวาน เนื่องจากปัจจุบันดิฉัน อยู่ในภาวะอ้วนลงพุง และทางครอบครัวมีประวัติเบาหวานด้วย คุณหมอให้ดูแลตัวเองในเรื่องของอาหารให้ดี และระวังเรื่องภาวะแทรกซ้อน ภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวานน่ากลัวแค่ไหนคะ
A : โรคเบาหวานเป็นภัยเงียบที่กำลังคุกคามคนไทย ซึ่งสาเหตุของโรคเกิดจาก ภาวะที่มีความผิดปกติของการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน หรือความผิดปกติของการทำงานของอินซูลิน อันส่งผลกระทบทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง บุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยงคือ กลุ่มผู้ที่อายุเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะมากกว่า 40 ปี จะเริ่มมีภาวะดื้อต่ออินซูลินเพิ่มมากขึ้น จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานได้ง่าย ดังนั้น จึงแนะนำให้ตรวจคัดกรองระดับน้ำตาลในเลือดผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แม้ว่าจะไม่มีอาการหรือไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานก็ตาม เพื่อให้การรักษาได้อย่างมีประสิทธิผล และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนในอนาคตได้ดีขึ้น และนอกจากนี้ได้มีการแนะนำให้ตรวจคัดกรองระดับน้ำตาลในเลือดในกลุ่มบุคคลที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี แต่มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
• ภาวะอ้วนหรืออ้วนลงพุง มีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 25 กก./ตรม. เส้นรอบเอวมากกว่า 90 ซม. ในชาย หรือ 80 ซม ในหญิง
• มีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน มีประวัติการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือคลอดบุตรน้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 4 กก.
• ความดันโลหิตสูงกว่า หรือเท่ากับ 140/90 มม. ปรอท
• มีไขมันความหนาแน่นสูง (HDL:ไขมันดี) น้อยกว่าหรือเท่ากับ 35 มก./ดล. หรือไขมันไตรกลีเซอไรด์ มากกว่าหรือเท่ากับ 250 มก./ดล.
• ตรวจพบมีความผิดปกติของน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานกลูโคส (OGTT) หรือมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารสูงกว่าปกติ (FBS > 100-125 มก./ดล.)
• มีประวัติเป็นถุงน้ำที่รังไข่จำนวนมาก (Polycystic ovarian syndrome)
• มีประวัติหรือเป็นโรคหลอดเลือดแดงตีบ (Hyperglycemia)
หากร่างกายต้องเผชิญกับภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งในระยะเฉียบพลัน (Acute) และระยะเรื้อรัง (Chronic) ตามมาได้ โดยให้สังเกตอาการดังนี้
1.โรคแทรกซ้อนเฉียบพลัน หากร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก ประกอบกับภาวะขาดน้ำ (จากระดับน้ำตาลในเลือดสูง) จะทำให้เกิดภาวะหมดสติ ภาวะเลือดเป็นกรดได้ ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 อาจมาด้วยอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องและท้องอืดหมดสติได้ หรือในผู้ป่วยเบาหวานอาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
2.โรคแทรกซ้อนชนิดเรื้อรัง อาจก่อให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดขนาดเล็ก เช่น ไต ตา เส้น ประสาท และหลอดเลือดขนาดใหญ่ อย่างหัวใจ สมอง ได้โอกาสเกิดตาบอดมากกว่าคนปกติ 25 เท่า ไตวาย 20 เท่า หลอดเลือดหัวใจตีบ 2-4 เท่า อัมพาต 5 เท่า
การควบคุมอาหารเพื่อคุมความสมดุลระหว่างภาวะโภชนาการกับน้ำหนักตัวให้เป็นไปตามที่ต้องการ หากผู้ป่วยมีน้ำหนักมากควรควบคุมปริมาณพลังงานที่ควรได้รับในแต่ละวัน โดยการจำกัดพลังงานที่ได้มาจากโปรตีนร้อนละ 10-20 ของพลังงานทั้งหมด และพลังงานจากไขมันให้น้อยกว่าร้อยละ 30 ของพลังงานทั้งหมด (น้อยกว่าร้อยละ 10 ของไขมันอิ่มตัว) ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย ที่จะช่วยในควบคุมเบาหวานได้ดีขึ้น โดยช่วยในการเพิ่มระดับความไวของอินซูลิน ซึ่งช่วยในการเพิ่มระดับความไวของอินซูลิน ซึ่งช่วยในการลดระดับน้ำตาลในเลือด อีกทั้งยังทำให้ระดับไขมันอยู่ในเกณฑ์ปกติได้ดีด้วย
ในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ควรรับประทานยา หรือฉีดอินซูลินอย่างสม่ำเสมอ โดยถูกเวลาและขนาดที่แพทย์แนะนำ รวมทั้งควรมีการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน โดยการตรวจสุขภาพประจำ และมีการควบคุมไขมันในเลือด ความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
แพทย์หญิงวชรพรรณ อัสนุเมธ
อายุรแพทย์ ต้านโรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม
โรงพยาบาลปิยะเวท
(Some images used under license from Shutterstock.com.)