© 2017 Copyright - Haijai.com
ผื่นขึ้นอย่านิ่งเฉย อาจแพ้ยาปล่อยไว้อันตรายถึงชีวิต
เวลาที่มีผื่นคันขึ้นบริเวณต่างๆ ของร่างกาย เรามักสันนิษฐานว่า เกิดจากอาการแพ้อาหร ฝุ่นละออง หรือสัมผัสกับสิ่งเร้าบางอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่น้อยคนจะคิดถึง คือ เรื่องของการแพ้ยา นอกเสียจากคนที่เคยมีประวัติแพ้ยามาก่อน หากปล่อยผื่นคันทิ้งไว้ หรือปฐมพยาบาลด้วยตัวเองเบื้องต้นที่บ้าน อาจจำไปสู่ผลลัพธ์ที่ร้ายถึงขั้นเสียชีวิตได้
ปัญหาเรื่องแพ้ยา เป็นปัญหาที่พบบ่อยในปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ป่วยบางราย เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง จำเป็นต้องรับประทานยาร่วมกันหลายชนิด ทำให้มีโอกาสแพ้สูงขึ้น การแพ้ยามีอาการแสดงออกได้หลายอย่าง อวัยวะผิวหนังก็เป็นอีกอวัยวะหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ง่าย ผื่นแพ้ยาที่ผิวหน้าจึงเป็นอาการที่พบได้บ่อย ซึ่งบางครั้งผื่นมีอาการรุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้ อาการแสดงของระบบอื่นๆ เช่น ไข้เรื้อรัง ปวดข้อ แผลในปาก ตับอักเสบ ไตวาย ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น
อาการ “แพ้ยา” (Drug Allergy) เกิดจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ในบุคคลนั้นๆ ที่มีความไวเกินต่อยา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบรับประทาน ฉีด ทาและสูดดม ความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เกิดกับทุกคน แต่เกิดขึ้นกับบางคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไวต่อยามากกว่าปกติ คล้ายกับผู้ที่แพ้อาหารทะเล ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่แพ้ จะมีเพียงบางคนเท่านั้นที่แพ้อาหารทะเล ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า การแพ้ยาถือเป็นความโชคร้ายเฉพาะบุคคล และไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ยาตัวใดตัวหนึ่งไม่ทำให้การแพ้เหมือนกันทุกคน ซึ่งแตกต่างกับ “อาการข้างเคียงของยา” (Adverse Drug Reaction) หมายถึง ผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาชนิดนั้นๆ ไม่ใช่ผลการรักษาที่เราต้องการจากยา อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจะเหมือนกันทุกคน ที่ได้รับยาชนิดเดียวกัน เพียงแต่อาการที่เกิดขึ้นจะมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เช่น อาการคลื่นไส้อาเจียน ผมร่วงจากยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง
อาการผื่นแพ้ยาจะแตกต่างจากผื่นที่ผิวหนังที่เกิดจากพิษของยาจาก “การได้รับยาเกินขนาด” (Drug Overdose) เช่น การกินยาเมทโทรเทร็กเสท ที่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน หรือรับประทานยาเกินขนาด ทำให้เกิดผื่นแดง แสบ ผิวหนังตายได้ สำหรับอาการผื่นแพ้ยา มีได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่ผื่นที่มีความรุนแรงน้อย มีอาการเฉพาะที่ผิวหนังอย่างเดียว ไปจนถึงผื่นที่มีความรุนแรงมาก และมีความผิดปกติของอวัยวะภายใน ตับ ไต ปอด ระบบเลือด ร่วมด้วย
ผื่นแพ้ยา แบ่งเป็น 2 ประเภท
1.ผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรง
ผื่นแพ้ยาแบบ Erytherma Multiforme (EM). Stevens – Johnson syndrome (SJS) และ Toxic Epidermal Necrolysis (TEN) นั้น เป็นผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรง บางรายอาจถึงแก่ชีวิตได้ ถ้าผู้ป่วยได้รับยาที่เป็นสาเหตุเป็นครั้งแรก มักจะเกิดอาการภายหลังได้รับยาประมาณ 1-3 สัปดาห์ แต่หากเคยได้รับยาดังกล่าวมาก่อน จะมีอาการได้ภายใน 1-3 วัน หลังจากได้รับยาเดิมอีกครั้ง โดยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ปวดข้อ ปวดเมื่อยตามตัวมาก่อน ต่อมาจะเริ่มมีผื่นขึ้นที่บริเวณหน้า ลำตัวและแขนขา ผื่นมีสีแดง ตรงกลางมีสีเข้มหรือเป็นสีน้ำตาล บางรายมีตุ่มน้ำพอง เจ็บบริเวณผื่น ผื่นอาจรวมกันเป็นบริเวณกว้างได้ ในผู้ป่วยที่เป็นรุนแรงจะพบว่า มีการตายของผิวหนังชั้นกำพร้าทั้งแถบ ทำให้เกิดการหลุดลอกของผิวหนังกำพร้าเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะบริเวณที่มีการเสียดสีหรือกดทับผู้ป่วย อาจมีรอยโรคที่เยื่อบุ เช่น ตาแดงอักเสบ มีแผลเจ็บที่ปาก หรืออวัยวะเพศ อาจพบความผิดของอวัยวะภายในร่วมด้วย เช่น ตับอักเสบ ไตวาย เม็ดเลือดขาวในเลือดต่ำ ทำให้มีความเสี่ยงติดเชื้อแทรกซ้อนได้ ยาทุกชนิด แม้กระทั่งสมุนไพรพื้นบ้าน ทำให้เกิดผื่นแพ้ยารุนแรงได้ แต่ยาที่มีรายงานบ่อย เช่น ยารักษาโรคเกาด์ (allopurinol) ยาลดการอักเสบกลุ่ม NSAIDs, ยากันชัก เช่น carbamazepine phenyltoin และ ยาปฏิชีวนะ เช่น ยากลุ่ม Sulfa เป็นต้น
2.ผื่นแพ้ยาชนิดไม่รุนแรง
ผื่นแพ้ยาส่วนใหญ่มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มักเป็นผื่นแพ้ยาชนิดไม่รุนแรง มีลักษณะเป็นผื่นแดงแบนราบ หรืออาจจะนูนเล็กน้อย Maculopapular Drug Eruptions (MPE) กระจายทั่วร่างกาย มัก Spare ใบหน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ผื่นมักเกิดเร็วตั้งแต่ 2-3 วัน หลังได้รับยาชนิดเดิม มีอาการคันร่วมด้วยเกือบทุกรายมีไข้ได้ ยาเกือบทุกชนิดทำให้เกิดผื่นแพ้ยาชนิดนี้ได้ โดยยาที่เป็นสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะกลุ่มเพนนิซิลิน ยากันชัก ยารักษา โรคเกาต์ allopurinol และยาปวดข้อ ปวดกระดูก กลุ่ม NSAIDs เป็นต้น
3.ผื่นแพ้ยารูปแบบอื่นๆ
เช่น ผื่นแพ้ยาแบบตุ่มหนองขนาดเล็กจำนวนมาก ร่วมกับผิวแดงทั่วร่างกาย ที่เราเรียกว่า Acute Generalized Exanthematous Pustulosis (AGEP) จะมีอาการไข้สูงเม็ดเลือดขาวสูงด้วย ตุ่มหนองมักเกิดทันทีหลังได้รับยาที่เป็นสาเหตุ 1-2 วัน ผื่นลมพิษ เป็นปื้นนูนแดง คัน แต่ละผื่นจะขึ้นๆ ยุบๆ เปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ บางครั้ง อาจมีปากหรือตาบวมร่วมด้วย ผื่นแพ้ยาแบบผิวหนังทั่วตัวแดงลอกเป็นขุย (Exfoliative Dermatitis) ผื่นแพ้ยาแบบขึ้นที่เดิมทุกครั้งที่ได้รับยานั้น (Fix Drug Eruption) เป็นผื่นบวมแดงรูปร่างกลมหรือรี มีขอบชัดเจน เวลาหายจะกลายเป็นสีน้ำตาลเทาหรือสีออกม่วง
เมื่อเกิดอาการผื่นคันกระจายทั่วร่างกายเป็นที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน เกิดขึ้นในระยะเวลาเป็นวันหรือสัปดาห์ สิ่งที่ต้องสันนิษฐาน คือ หากมีประวัติการรับประทานยา หรือฉีดยา ก็ต้องสงสัยว่าเกิดจากอาการแพ้ยาหรือไม่
การรักษา
ที่สำคัญคือ หยุดยาที่เป็นสาเหตุ ในรายที่ไม่ทราบ ควรหยุดยาทุกตัวที่สงสัย หรือยาที่ไม่จำเป็นที่ได้รับใหม่ในช่วง 2 เดือนทั้งหมด จากนั้นค่อยมาพิจารณายาที่อาจเป็นสาเหตุการแพ้ยา โดยใช้ระยะเวลาที่เริ่มได้รับยาที่เข้าได้กับ onset ของผื่นแพ้ยา แต่กรณีที่ผู้ป่วยเคยได้รับยามาแล้ว ผื่นอาจเกิดขึ้นเร็วภายใน 48 ชั่วโมง รายที่ผื่นแพ้ยาชนิดไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องให้ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน เนื่องจากผื่นแพ้ยาเหล่านี้ มักหายไปเองหลังหยุดยาประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่ในรายที่ผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรง อาจจำเป็นต้องให้ยาสเตียรอยด์ในระยะแรก ที่ยังมีการลุกลามของผื่น อาจลดอัตราการเสียชีวิตได้ แต่ถ้าให้ช้า อาจเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของการให้สเตียรอยด์ การรักษาอื่นๆ เป็นการรักษาตามอาการ โดยการให้ยาทาสเตรียรอยด์ ยาแอนติฮิสตามีน
คำแนะนำ
1.อาการแพ้ยาไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าใครจะแพ้ยาตัวไหน แต่สามารถป้องกันลดอุบัติการณ์การแพ้ยา โดยหลีกเลี่ยงการกินยาที่ไม่จำเป็น
2.เมื่อมีประวัติแพ้ยา ผู้ป่วยต้องจดจำชื่อยาให้แม่นยำไปตลอดชีวิต และเมื่อเจ็บป่วยคราวต่อไป ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนว่า เคยแพ้ยามาก่อน เพื่อป้องกันการเกิดแพ้ยาซ้ำอีก
3.หากสงสัยว่าอาจแพ้ยาที่รับประทานอยู่ เช่น มีผื่นที่ผิวหนัง ให้หยุดยาที่สงสัยว่าจะเป็นสาเหตุทันที ถ่ายรูปผื่น และนำฉลากยาที่สงสัย ไปปรึกษาแพทย์ทันที
4.การจดจำระยะเวลาเริ่มเกิดผื่น จะช่วยบอกว่ายาชนิดใดน่าจะเป็นสาเหตุของการแพ้ยาในผู้ป่วยแต่ละราย
แพทย์หญิงเบ็ญจ์สชีว์ ปัทมดิลก
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)