© 2017 Copyright - Haijai.com
ยีนเปลี่ยนแปลงเสี่ยงมะเร็งเม็ดเลือด
เพียงตรวจยีนก็ทราบแนวโน้มโรคร้ายในกลุ่มผู้สูงอายุได้ค่ะ
งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine ระบุว่า ทีมวิจัยจากวิทยาลัยการแพทย์ฮาร์วาร์ด สถาบันฮาร์วาร์ดสเต็มเซลล์ และสถานบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซตส์ ร่วมกันศึกษายีนจากอาสาสมัคร 30,000 คน พบว่า การตรวจยีนเป็นวิธีทีช่วยให้พบเซลล์ก่อนที่จะพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง (Premalignant) ในเม็ดเลือดที่บ่งชี้แนวโน้มโรคมะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และภาวะไขกระดูกเสื่อม
โดยทั่วไปการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเช่นนี้ มักไม่เกิดกับผู้มีอายุต่ำกว่า 40 แต่จะเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ร้อยละ 10 และอายุ 90 ปีขึ้นไป ถึงร้อยละ 20 และแม้การเปลี่ยนแปลงของยีนที่ตรวจพบไม่อาจฟันธงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า จะทำให้เกิดโรคร้ายดังกล่าวหรือไม่ แต่ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หลังจากนั้น 4-8 ปี
อย่างไรก็ตาม มะเร็งทุกชนิดล้วนมีต้นกำเนิดในยีนไม่ดีที่ค่อยๆ กลายพันธุ์ จนเกิดความผิดปกติขึ้น ดังนั้น นักวิจัยจึงต้องการตรวจหาการเปลี่ยนแปลงในยีนตั้งแต่ครั้งแรก เพื่อป้องกันโรคร้ายก่อนที่มันจะพัฒนา ซึ่ง นายแพทย์ ดร. เบ็นจามิน อีเบิร์ต หนึ่งในผู้นำทีมวิจัย หวังว่าการค้นพบนี้จะช่วยชี้ตัวผู้เสี่ยงโรคร้ายตั้งแต่เนิ่นๆ
ดูแลสุขภาพอย่างเคร่งครัดตั้งแต่วันหนุ่มสาวจวบจนวัยสูงอายุ ลดโอกาสเสี่ยงมะเร็งได้แน่นอน ป้องกันไว้ก่อนอุ่นใจกว่า จริงไหมคะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)