Q : ดิฉันอายุ 23 ปี ลูกคนโตเป็นผู้ชายอายุ 5 ขวบ ดิฉันตั้งครรภ์ได้ 10 สัปดาห์ ตอนนี้เป็นอีสุกอีใส ไม่ทราบว่าจะเป็นอันตรายต่อเด็กในท้องหรือเปล่าคะ ตอนเป็นอีสุกอีใส ก็ไปหาหมอที่คลินิก ไม่ได้บอกหมอว่าตั้งครรภ์อยู่ ได้ยามารับประทาน เป็นยาแก้คัน (ทานไปวันละ 3 เม็ด ทาน 3 วัน) และยาชุดมีหลายเม็ด (ทานแค่ครั้งเดียว ชุดเดียว) ยาพวกนี้มีอันตรายต่อเด็กหรือเปล่าคะ ตอนนี้ดิฉันไปฝากครรภ์แล้วค่ะ คุณหมอที่ฝากครรภ์ก็บอกว่ายานี้มีผลต่อเด็ก แต่มากน้อยไม่ทราบแน่ ต้องรอครบอายุครรภ์ 4 เดือนถึงจะอัลตราซาวน์ดได้ เครียดมากๆ ค่ะ
A : สำหรับคำถามแรกที่ว่า ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์ และเป็นอีสุกอีใส หรือทางการแพทย์เรียกว่าโรค “Chicken pox” จะเป็นอันตรายต่อเด็กในท้องหรือไม่ โรคอีสุกอีใสเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อ Varicella Zostor Virus ซึ่งไวรัสดังกล่าวสามารถติดต่อกันได้ง่ายเพียงอยู่ในห้องเดียวกับคนที่เป็นอีสุกอีใสเป็นเวลา 15 นาที หรือเพียงพูดคุยกับคนที่เป็นเพียง 5 นาทีก็สามารถติดเชื้อได้ โดยอาการแรกคือการมีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว และผื่นคันที่มีลักษณะเป็นตุ่มพองใส หลังจากนั้นจะแตกออกและแห้งหายไปในที่สุด ระยะเวลาของการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นคือ ช่วง 2 วันแรกก่อนขึ้นผื่น และช่วงตุ่มพองใส (ปกติใช้เวลา 5 วัน) สำหรับผู้ที่เป็นแล้วส่วนใหญ่มักจะไม่เป็นอีก เพราะร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันได้ตลอดชีวิต เด็กในครรภ์สามารถติดเชื้อไวรัสดังกล่าวได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เรียกว่า “Fetal Varicella Syndrome ” ซึ่งความเสี่ยงในการติดเชื้อแต่ละไตรมาสไม่เท่ากัน เช่น ถ้ามารดาติดเชื้อก่อน 20 สัปดาห์ โอกาสที่ทารกในครรภ์จะติดเชื้อประมาณ 1% ถ้ามารดาติดเชื้อระหว่าง 20-28 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสติดเชื้อ 0.5% และถ้ามารดาติดเชื้อหลัง 28 สัปดาห์ มักไม่พบการติดเชื้อเกิดขึ้นในทารกเลย โดยการวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการตรวจความผิดปกติของทารกจาก อัลตร้าซาวด์ เช่น การพบความผิดปกติของแขน ขา ศีรษะมีขนาดเล็กกว่าปกติ มีน้ำในช่องว่างของศีรษะ และการเจริญเติบโตของทารกช้ากว่าปกติ เป็นต้น อาจเจาะตรวจน้ำคร่ำ (Amniocentesis) ตรวจหาไวรัส VZV เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคดังกล่าวได้ กรณีที่มารดาเกิดอาการผื่นของอีสุกอีใสในช่วงครบกำหนดคลอด พยายามหลีกเลี่ยงการคลอดในช่วง 7 วันแรกของผื่น เนื่องจากร่างกายมารดายังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ทันที่จะส่งผ่านไปป้องกันลูก
การรักษาส่วนใหญ่ให้การรักษาตามอาการ เช่น ถ้ามีไข้ ให้ยาลดไข้ หรือ ถ้ามีอาการคัน ให้ยาลดอาการคัน ซึ่งถ้าใช้ยาในกลุ่ม Chophenilamine ค่อนข้างปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ และผื่นจะค่อยๆหายไปเองในเวลาประมาณ 5 วันนับจากวันที่เริ่มมีผื่นขึ้น แนะนำให้ดูแลเรื่องความสะอาดของผื่นเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณตุ่มที่แตก ส่วนการให้ยาต้านไวรัส แพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆไป โดยอยู่ในการควบคุมของแพทย์
สรุป โรคอีสุกอีใสปัจจุบันมีการฉีด Vaccine ป้องกันตั้งแต่วัยเด็ก แต่ถ้าสตรีตั้งครรภ์ไม่เคยเป็นโรคนี้ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับคนที่มีอาการของโรค เมื่อมีอาการไข้ออกผื่นให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อแพทย์จะช่วยในการวางแผนการรักษาและการคลอด
นพ.นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข