
© 2017 Copyright - Haijai.com
ชีวิตสุข สดใส เมื่อก้าวสู่วัยทอง
เรื่องของอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาตินั้น เป็นเรื่องที่ผู้หญิงหลายคนกระวนกระวาย เพราะไม่ว่าอายุจะขึ้นเลข 2 เลข 3 เลข 4 หรือ เลข 5 ต่างก็มีอิทธิพลต่อผู้หญิงแทบทุกคนบนโลก เพราะเราต่างหวงแหนความอ่อนเยาว์อันมีคุณค่านั้น และต่างสรรหาวิธีเก็บรักษาเอาไว้ให้อยู่กับเราไปนานๆ แต่กาลเวลาไม่อาจหยุดนิ่งอายุของเราจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามธรรมชาติเช่นกัน จากวัยเด็กสู่วัยรุ่น จากวัยรุ่นสู่วัยกลางคน จากวัยกลางคนเข้าสู่วัยทอง ซึ่งนับว่าเป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกาย ว่าจะประคองตัวให้ผ่านพ้นภาวะนี้ไปได้อย่างไรให้ราบรื่นที่สุด
เมื่อวัยทองมาเยือน
ในที่นี้จะขอพูดถึงเฉพาะวัยทองในผู้หญิง โดยผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยทองนั้น สังเกตได้จากอาการประจำเดือนหมด ซึ่งรังไข่มีการทำงานน้อยลง ผลคืออาจมีความแปรปรวนของประจำเดือนในผู้หญิงบางคน อายุเฉลี่ยของผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทองคือประมาณ 50 ปี ซึ่งอาจมาเร็วหรือช้ากว่านี้เล็กน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ กรรมพันธุ์ พฤติกรรมการใช้ชีวิตการบริโภคอาหาร คนที่บริโภคอาหารที่มีแคลอรีสูง อาจหมดประจำเดือนช้า ส่วนผู้ที่มีการผ่าตัดนำมดลูกออกหรือผู้ที่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ คุ้มกันตัวเอง อาจส่งผลกระทบทำให้หมดประจำเดือนเร็วขึ้น หลายคนอาจสงสัยว่าภาวะประจำเดือนหมดช้า หรือเร็วนั้นมีอันตรายส่งผลกระทบในเรื่องใดบ้าง หากมีอาการหมดประจำเดือนเร็วก่อนอายุ 40 ปี ถือว่าผิดปกติ ควรหาสาเหตุว่ามาจากเรื่องใด ซึ่งบางครั้งตัวคนไข้เองอาจไม่เคยทราบมาก่อนว่าเป็นโรคบางโรคอยู่ ยกตัวอย่างเช่น โรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง (โรค SLE) ซึ่งจะต้องมีการรักษาเฉพาะโรคก่อนถึงจะทำการรักษาในส่วนอื่นๆ ต่อไปได้ โดยภาวะหมดประจำเดือนนี้เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงลดลง ส่งผลให้ผิวหนังเหี่ยวย่น มีริ้วรอยได้ง่าย มีปัญหาเรื่องคอเลสเตอรอลเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังรวมถึงยังพบภาวะช่องคลอดแห้งหรือมีปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ได้
ดูแลตัวเองเมื่อถึงวัยฮอร์โมนหมด
การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิงส่งผลกระทบต่อกลไกต่างๆ ภายในร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่อาการอาจมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยอาการที่เกิดขึ้นเมื่อฮอร์โมนลดลงมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผิวหนังเหี่ยวย่น สีผิวคล้ำลง และมีจุดสีแดงๆ ใต้ผิวหนัง เล็บเปราะบางฉีดขาดง่าย ผมร่วง ผมหงอก ช่องคลอดแห้ง ทำให้เกิดอาการเจ็บและแสบขณะมีเพศสัมพันธ์ เนื้อเยื่อทางเดินปัสสาวะฝ่อเหี่ยว รวมถึงหูรูดกระเพาะปัสสาวะหย่อนจนทำให้ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ ทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดขณะไอจาม ส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุน โรคหัวใจขาดเลือด และโรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ได้ในอนาคต
จัดการกับอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด วีนเหวี่ยงง่าย
อาการวัยทองมักเกิดในช่วงระยะเวลาสั้นๆ มักเกิดหลังจากหมดประจำเดือนในช่วงแรกๆ อาการส่วนใหญ่ที่พบ ได้แก่ ร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ รู้สึกเบื่อหน่าย ใจสั่น เหนื่อยง่าย อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด ซึมเศร้า ขี้น้อยใจง่าย รวมทั้งสมาธิและความจำเสื่อม สิ่งสำคัญคือคนรอบข้าง ควรมีความเข้าอกเข้าใจ เพราะเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเปลี่ยน อาจเกิดความหงุดหงิดหรือเครียดขึ้นได้ง่าย บางคนมีปัญหาทางด้านจิตใจ จนถึงขั้นต้องพบจิตแพทย์ก็มีเช่นกัน โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะแนะนำให้คนไข้หันมาออกกำลังกาย ในรายที่มีอาการมากแล้ว อาจต้องรักษาโดยการใช้ฮอร์โมนเข้าช่วย โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าคนไข้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ฮอร์โมนหรือไม่ เมื่อรับประทานฮอร์โมนแล้วอาการต่างๆ ก็จะทุเลาลงได้
เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ
เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงจะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณช่องคลอด และกระเพาะปัสสาวะฝ่อตัวลง ทำให้เกิดอาการเจ็บและแสบขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยแพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาโดยให้รับประทานฮอร์โมนทดแทน แต่หากคนไข้มีข้อห้ามในการรับประทานฮอร์โมน หรือไม่อยากรับความเสี่ยงจากการให้ฮอร์โมนในรูปแบบรับประทาน ก็สามารถใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดทาหรือเหน็บช่องคลอดได้ ซึ่งระดับยาในเลือดจะมีน้อยกว่าชนิดรับประทาน 1 ใน 4 แต่ให้ผลดีต่อช่องคลอดมากกว่าชนิดรับประทาน 4 เท่า การใช้ยาในช่วงแรกให้ใช้ทุกวัน หลังจากนั้นให้ใช้อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง เป็นเวลา 3-6 เดือน นอกจากนี้ การใช้สารหล่อลื่นยังช่วยลดภาวะการณ์เสียดสี ลดอาการเจ็บบริเวณอวัยวะเพศได้เช่นกัน
ฮอร์โมนเสริมจำเป็นมากน้อยแค่ไหน?
การรักษาโดยใช้ฮอร์โมนแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าจำเป็นหรือไม่ ซึ่งแพทย์จะใช้รักษาก็ต่อเมื่อ มีอาการขาดฮอร์โมนในระดับกลางถึงมาก หากมีอาการเพียงเล็กน้อย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การบำบัดจิตใจ รวมถึงการควบคุมอาหาร ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ โดยเริ่มแรกแพทย์จะซักประวัติคนไข้และตรวจร่างกายก่อนว่ามีข้อบ่งชี้ในการใช้ฮอร์โมนหรือไม่ และจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนมากน้อยเพียงใด
การใช้ฮอร์โมนในการรักษาภาวะวัยทองนั้นมีหลายรูปแบบ ขึ้นกับลักษณะของคนไข้แต่ละคน โดยส่วนใหญ่แพทย์จะให้ในรูปแบบยารับประทาน เพราะใช้ได้ง่ายและสะดวก แต่อาจส่งผลให้ผู้ที่เคยมีอาการปวดศีรษะไมเกรน อาจปวดบ่อยมากขึ้นได้ การใช้ฮอร์โมนในอีกรูปแบบหนึ่งคือรูปแบบเจลครีมหรือแผ่นแปะผิวหนัง ซึ่งดีกว่ารูปแบบยารับประทานตรงที่ตัวยาจะค่อยๆ ซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ระดับยาในกระแสเลือดค่อนข้างคงที่ การใช้ฮอร์โมนในรูปแบบผ่านผิวหนังนี้ มีบริเวณที่ห้ามใช้คือ บริเวณเต้านม เพราะส่วนนี้ตอบสนองต่อฮอร์โมนค่อนข้างมาก อาจกระตุ้นเต้านมได้ คนที่เหมาะสำหรับการใช้ในรูปแบบผ่านผิวหนัง เช่น คนที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนมาก่อน คนที่มีการทำงานของตับผิดปกติ เป็นต้น
สำหรับระยะเวลาในการใช้ฮอร์โมน ในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าจะต้องใช้เป็นระยะเวลานานเท่าใด ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ประเมินความเหมาะสมให้กับคนไข้แต่ละคน และเมื่อเริ่มใช้ฮอร์โมน แพทย์จะมีการติดตามผลการรักษา และประเมินผลข้างเคียงของการใช้ฮอร์โมนทุก 3-6 เดือน รวมทั้งแนะนำให้คนไข้มีการตรวจเอ็กซเรย์เต้านมทุกปี เพื่อประเมินภาวะเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม โดยในระยะแรกที่เริ่มใช้ฮอร์โมน คนไข้อาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอดได้ อาการเหล่านี้จะดีขึ้นหลังจากใช้ฮอร์โมนไปสักระยะหนึ่งแล้ว และเนื่องจากการใช้ฮอร์โมนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้น คนไข้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัย ไม่ควรซื้อฮอร์โมนมาใช้เอง
ควบคุมน้ำหนักในช่วงวัยทองให้อยู่หมัด
วัยที่เพิ่มขึ้นทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกายลดลง ทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและมีสรีระที่เปลี่ยนแปลงไป ที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนคือบริเวณกลางลำตัว โดยจะมีรูปร่างเป็นทรงลูกแพร์ รวมถึงรอบเอวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งน้ำหนักและไขมันส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นมานี้ ไม่ได้เป็นเพียงเฉพาะปัญหาด้านความงามอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวเนื่องถึงเรื่องสุขภาพด้วย ดังนั้น คนที่อยู่ในวัยทองจึงต้องควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพราะหากปล่อยให้น้ำหนักมาเกินไป ก็จะยิ่งส่งผลต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย โดยมีวิธีควบคุมน้ำหนักง่ายๆ ดังนี้
• การบริโภคอาหาร ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัว เช่น อาหารประเภทผัดหรือทอด อาหารแปรรูป เช่น กุนเชียง เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องในสัตว์ ไข่แดง ควรเลือกบริโภคอาหารไขมันต่ำ เปลี่ยนจากน้ำมันปาล์มมาเป็นน้ำมันถั่วเหลือง เพื่อลดระดับคอเลสเตอรอลที่จะไปสะสมในร่างกาย นอกจากนี้ ควรดูแลกระดูกให้แข็งแรง เพราะวัยทองเป็นวัยที่เสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน กระดูกมีการเสื่อมและเปราะบางได้ง่าย จึงควรเลือกอาหารที่มีแคลเซียม เช่น นมวัวชนิดขาดมันเนย โยเกิร์ตไขมันต่ำรสธรรมชาติ เพื่อป้องกันการสูญเสียเนื้อกระดูก และยังช่วยให้ระบบขับถ่ายที่แย่ลงในวัยทองกลับมาเป็นปกติได้
• การออกกำลังกาย คนที่มีโรคประจำตัวกับคนที่มีร่างกายปกตินั้น มีการออกกำลังกายที่แตกต่างกัน หากต้องการควบคุมน้ำหนัก พร้อมกับการเผาผลาญแคลอรีมากๆ จำเป็นที่จะต้องออกแรงมาก ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาในผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนหรือข้อเสื่อม ดังนั้น แพทย์จึงแนะนำให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิก เล่นกีฬาหรือกิจกรรมที่มีความรุนแรงหรือถูกกระทบกระเทือนน้อย เพื่อป้องกันการหักของกระดูกและลดการทำงานของข้อ เช่น วิ่งจอกกิ้ง เดินเร็วอย่างน้อย 30 นาที ต่อครั้ง 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ควรเลือกรองเท้าให้เหมาะสมแก่การวิ่ง เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บบริเวณฝ่าเท้า การออกกำลังกายช่วยสร้างความแข็งแรงให้กระดูก ป้องกันโรคกระดูกพรุน ลดภาวะปอดกับหัวใจให้แข็งแรง และป้องกันภาวะหัวใจขาดเลือดได้ด้วย
สำหรับใครที่รู้ตัวว่าเริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทองนั้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ภาวะนี้เป็นกระบวนการตามธรรมชาติของร่างกายที่เกิดขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่โรคแต่อย่างใด ซึ่งคนที่ประสบกับภาวะนี้ต้องพยายามควบคุมสภาพจิตใจให้คงที่ ให้คิดดี คิดบวก เพราะการควบคุมสภาพจิตใจให้อยู่ในสภาพที่ดีได้ ส่งผลต่อร่างกายที่แข็งแรง ทำให้ช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ลงได้ และควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ให้ความสำคัญกับการทานอาหารที่มีประโยชน์ที่ช่วยส่งเสริมการทำงานในส่วนต่างๆ ของร่างกายที่บกพร่องไป เน้นรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมให้มากขึ้น ลดปริมาณอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งหากไม่อยากให้อาการวัยทองมีความรุนแรง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)