
© 2017 Copyright - Haijai.com
เดินทางอย่างไร ให้ปลอดภัยทั้งครอบครัว
วันหยุดสุดสัปดาห์ เทศกาล หรือวันปิดเทอม เป็นวันแห่งความสุขของเด็กๆ และครอบครัว การเดินทางไกล พักผ่อนหย่อนใจนอกจากจะเป็นการคลายเครียดจากงานของคุณพ่อคุณแม่แล้ว ยังสร้างความสัมพันธ์ของครอบครัวให้แน่นแฟ้น สร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ด้วย อยากชักชวนให้พ่อแม่ขยันเที่ยวในเมืองไทยวันหยุดกันครับ
คืนก่อนที่จะเดินทาง ขอให้คุณพ่อคุณแม่พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ โดยเฉพาะหากต้องทำหน้าที่เป็นผู้ขับ เพราะการนั่งรถขับรถด้วยหน้าตาโรยตาโหล เอาแต่หาวหวอดๆ นอกจากสร้างความน่าเบื่อหน่ายให้แก่ผู้อื่นแล้ว ยังสร้างความน่าหวาดเสียวให้แก่ผู้ร่วมเดินทางด้วย
ปัจจัยหลักของการเกิดอุบัติเหตุจราจรที่สำคัญที่สุดคือผู้ขับ การง่วงนอนเป็นเหตุหนึ่งให้ผู้ขับอยู่ในสภาพไม่พร้อม (impaired driver) อาการวูบหลับเพียงขณะเดียวอาจส่งผลใหญ่หลวงทั้งต่อการเที่ยวครั้งนี้และต่อครอบครัวในระยะยาวได้ ดังนั้นการที่จะมีผู้ช่วยเปลี่ยนมือหรือผลัดกันขับรถยามที่ผู้ขับเริ่มเหนื่อยล้า หรือเริ่มง่วง ก็จะเป็นวิธีที่ดีมากๆ หากไม่มีมือสองก็คงต้องหาที่พัก (ที่ไม่ใช่การจอดข้างๆ ทาง) เช่นภายในปั๊มน้ำมัน เพื่องีบหลับสักพัก การงีบหลับสั้นๆ สัก 15 นาที จะทำให้ผู้ขับที่ง่วงนอนหายเป็นปลิดทิ้งและสามารถขับขี่ต่อได้อีกนาน นอกจากผู้ทำหน้าที่สารถีควรอยู่ในสภาพสมบูรณ์แข็งแรงทั้งจิตใจ และร่างกาย ไม่อดนอนแล้วจะต้องไม่เป็นไข้ ไม่ได้ทานยาแก้หวัด ยากล่อมประสาท ยากระตุ้นประสาท ไม่แตะเหล้า และไม่ใช่เพิ่งสร่างเมา!!
เดินทางให้ปลอดภัย
1.รุ่งเช้าก่อนเดินทางคุณพ่อคุณแม่ควรสำรวจตรวจตราพาหนะที่ใช้ในการเดินทางอีกสักรอบ เช่น ตรวจดูสภาพยาง เช็คลมยาง ดูระดับน้ำมันเครื่อง น้ำในหม้อน้ำ น้ำมันเบรค คลัช น้ำกลั่นแบตเตอรี่ น้ำยาล้างกระจก ฯลฯ
2.คุณพ่อคุณแม่ต้องอย่าลืมเช็คดูว่า บรรดาอุปกรณ์ประจำรถยังอยู่ครบหรือไม่ เช่น แม่แรง ประแจ ไขควงขนาดต่างๆ สายพ่วงแบตเตอรี่ น้ำกลั่น ยางอะไหล่ (ที่เติมลมแล้ว) ไฟฉาย ไฟฉุกเฉิน เกจวัดลม ฟิวส์ หลอดไฟ และ เครื่องดับเพลิงประจำรถ
3.ตกลงเรื่องกติกากับเด็กๆ เพื่อความปลอดภัยระหว่างขับรถเดินทาง ว่ากันสัก 2-3 ข้อเช่น
• ห้ามเล่น ห้ามขยับประตู หน้าต่างรถ
• ห้ามกระโดดโลดเต้น ปีนป่ายในระหว่างการนั่งรถ
• ห้ามนำของแหลมๆ คมๆ (เช่น บรรดาอาวุธพลาสติก หรือ ดินสอ ปากกา ช้อนส้อม ไม้เสียบลูกชิ้น มาบู๊สู้รบกัน หรือแม้แต่เอามาจิ้มอาหารในระหว่างที่รถกำลังแล่น เพราะมันอาจแทงปาก จมูก หรือ ลูกตาได้ ยามที่รถขับแซง หรือเบรกกะทันหัน
• ต้องใช้ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก (child seat) อย่างเหมาะสมตามแต่อายุเด็ก
4.เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็เริ่มทยอยกันขึ้นรถได้ คุณพ่อต้องคาดเข็มขัดนิรภัย (Safety belt) ก่อนเลยครับ และหันมาตรวจสอบคุณแม่และคุณลูก ถ้าไม่เรียบร้อยไม่ออกรถครับ เดี๋ยวลูกก็ยอมนั่งเรียบร้อย ใช้เบาะนิรภัย เข็มขัดนิรภัย (ตามคำแนะนำ) เองครับ (กลัวอดเที่ยว) และก่อนออกรถล็อคประตูรถและปิดหน้าต่างให้เรียบร้อยด้วยครับ
นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)