Haijai.com


แก้ไขปัญหาเลาะซิลิโคนเหลวไหลย้อย


 
เปิดอ่าน 27243

ฝันร้ายซิลิโคนเหลวแก้ได้

 

 

เหล่าสาวกเรื่องความงามและศัลยกรรมรู้จักกันดีกับซิลิโคน วัสดุทางการแพทย์ที่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้เสริมความงาม ซึ่งซิลิโคนนั้นมีทั้งแบบแท่งและแบบเหลว สำหรับซิลิโคนแท่งนั้น เมื่อเสริมไปแล้วอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการเสริมน้อยกว่าซิลิโคนเหลว เพราะไม่มีการไหลของเนื้อซิลิโคนเกิดขึ้น  และก็คงไม่มีใครคาดคิดว่า ซิลิโคนที่เคยฉีดเสริมเติมเต็มใบหน้าให้ดูดีนั้น อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้ แต่สำหรับการทำศัลยกรรมนั้น การเสริมเข้าไปง่ายกว่าการแก้หลายเท่า ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาซิลิโคนเหลวไหลย้อยขึ้นมา การแก้ไขที่ดีคือการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีเทคนิค “การเลาะซิลิโคนเหลว” ที่ถูกต้องและปลอดภัย

 

 

“ซิลิโคนไหล” มีความเป็นมาอย่างไร

 

การแพทย์เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนรูปทรงและสัดส่วนต่างๆ บนใบหน้า ยกตัวอย่างเช่น การเสริมจมูก การเสริมคาง การเสริมโหนกแก้ม การเสริมหน้าอก ฯลฯ ในอดีตเมื่อประมาณช่วงปี 1950 นั้น ยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร โดยเฉพาะเทคนิคการผ่าตัดที่ยังไม่พัฒนามากเท่ากับการฉีด สมัยก่อนคนกลุ่มหนึ่งทางฝั่งตะวันตกนิยมใช้วิธีฉีดสารเติมเต็ม เพื่อเสริมเติมเต็มส่วนต่างๆ เพื่อให้ดูดีขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นวิธีที่ทำไดง่ายและเห็นผลทันที โดยสารที่ถูกนำมาใช้คือซิลิโคนเหลว พาราฟิน สารไบโอ หรือวัสดุใดๆ ก็ตามที่ฉีดเข้าไปในร่างกายแล้ว สามารถจับตัวเป็นก้อนได้ ในกลุ่มผู้หญิงนิยมฉีดเสริมหน้าอกหรือปรับโครงสร้างใบหน้า ส่วนผู้ชายจะเน้นฉีดเพิ่มขนาดอวัยวะเพศให้ใหญ่ขึ้น

 

 

ซึ่งคนที่ทำในยุคสมัยดังกล่าวเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เกิดปัญหาซิลิโคนไหล เนื่องจากวัสดุเหล่านี้ถือเป็นสิ่งแปลกปลอม เมื่อเข้าไปอยู่ในร่ากาย จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้าน เช่น เม็ดเลือดขาวเข้าไปกินระบบน้ำเหลือง ทำให้เกิดการอักเสบโดยรอบ หากเป็นแท่งซิลิโนชิ้นใหญ่จะทำให้เกิดพังผืดหดรัดรอบแท่งซิลิโคน ส่วนซิลิโคนปั่นเม็ดเล็กๆ จะกระจายไปตามท่อน้ำเหลือง โดยระบบการไหลเวียน ทำให้มีการเคลื่อนตัวไหลไปได้ทั่วร่างกาย โดยหลังจากฉีดซิลิโคนเหลวไปได้สักระยะ คนไข้จะพบว่าสัดส่วนของบริเวณที่ถูกฉีดนั้นเริ่มเบี้ยว มีอาการอักเสบ บวม แดง เขียว ช้ำ เกิดการผิดรูปอักเสบซ้ำซ้อน ซึ่งระยะเวลาการเกิดอาการเหล่านี้ระบุสัดส่วนของบริเวณที่ถูกฉีดนั้นเริ่มเบี้ยว มีอาการอักเสบ บวม แดง เขียว ช้ำ เกิดการผิดรูปอักเสบซ้ำซ้อน ซึ่งระยะเวลาการเกิดอาการเหล่านี้ระยุไม่ได้แน่ชัด ขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาต่อต้านการเกิดของเนื้อเยื่อในแต่ละคน บางคนฉีดได้เพียง 2-3 เดือน ก็มีเลือดออก บางคนฉีดไปแล้ว 5 ปี ถึงค่อยแสดงอาการ แต่โดยเฉลี่ยมักจะเกิดในช่วงประมาณ 2-3 ปี หลังฉีด

 

 

ลักษณะการไหลของซิลิโคน

 

หลายคนอาจเข้าใจว่าการไหลของซิลิโคนเหลวนั้น เป็นไปในลักษณะเหมือนกับน้ำที่ไหลเยิ้ม แต่หากดูจากชิ้นเนื้อเยื่อที่เลาะออกมาจะเห็นว่า เม็ดซิลิโคนกระจายตัวแทรกอยู่ตามเนื้อเยื่อ ซึ่งเคลื่อนที่ไปตามระบบท่อน้ำเหลืองในแนวลงสัมพันธ์กับแรงโน้มถ่วง เช่น ฉีดเสริมจมูกซิลิโคนจะไหลย้อยลงด้านข้าง ทำให้ปลายจมูกบวมอักเสบ ฉีดเสริมจมูกซิลิโคนจะไหลลงต่ำไปกองรวมกัน ทำให้มีลักษณะเหมือนคางแม่มด ฉีดเสริมโหนกแก้มซิลิโคนจะไหลย้อยจนทำให้เกิดปัญหาแก้มตก หรือฉีดเติมเต็มใต้ตาล่าง ซิลิโนจะถ่วงลงจนเป็นถุง เกิดอาการบวมและอักเสบกระจายเป็นจุดๆ บนผิวหนัง ส่วนปัญหาจากการฉีดซิลิโคนเหลวอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ผิวเกิดการอักเสบจนแตกทะลุข้างในออกมา ซึ่งการผ่าตัดรักษาจะยังทำไม่ได้ในทันที ต้องรักษาอาการติดเชื้อให้หายอักเสบก่อนถึงจะเลาะซิลิโคนออกได้

 

 

ขั้นตอนการเลาะซิลิโคน

 

ซิลิโคนเหลวที่ถูกฉีดเข้าไปในชั้นผิวหนังนั้น การเลาะออกแพทย์จะไม่สามารถเลาะเฉพาะเม็ดซิลิโคนออกมาได้ จำเป็นจะต้องเลาะเอาเนื้อเยื่อที่อักเสบและพังผืดโดยรอบ พร้อมเนื้อเยื่อดีบางส่วนที่ซิลิโคนแทรกซึมอยู่ออกมาด้วย ทั้งยังมีบางตำแหน่งที่ไม่สามารถเลาะออกได้ เช่น บริเวณใกล้เส้นประสาท ใกล้ชั้นผิวหนัง ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาตามมา เช่น ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยว ตาตก เป็นต้น หรือถ้าเลาะไปกินส่วนผิวหนังก็จะทำให้ผลออกมาไม่สวย ซึ่งโดยหลักการแกล้วการรักษาจะต้องไม่เพิ่มปัญหาให้มากขึ้น โดยส่วนใหญ่การฉีดซิลิโคนจะเป็นเพียงจุดเล็กๆ ดังนั้น จึงสามารถทำการผ่าตัดโดยใช้ยาชา ไม่ต้องวางยาสลบ

 

 

การดูแลหลังการรักษา

 

การผ่าตัดเลาะซิลิโคนในทางเทคนิคจะมีเลือดออกค่อนข้างมาก ดังนั้น แพทย์ต้องแก้ปัญหาการหยุดเลือดให้ดี ทั้งในระหว่างทำการผ่าตัดและหลังผ่าตัด ไม่เช่นนั้นจะทำให้มีเลือดคั่งค้างนานหลายเดือน หลังผ่าตัดแพทย์จะทำการระบายเลือดออกโดยติดต่อไว้กับตัวคนไข้ประมาณ 3 วัน บางกรณีหากเกิดอาการบวมนานกว่า 6 เดือน ต้องกลับมาเปิดแผลเพื่อดูดเอาเลือดที่คั่งออกให้หมด เพื่อป้องกันการอักเสบและติดเชื้อที่จะตามมา สำหรับการดูแลทำความสะอาดสามารถทำได้ตามปกติ ให้ความระมัดระวังไม่กระทบกระเทือนแผลวันแรกที่ทำ ไม่นอนทับแผล อย่าให้แผลถูกน้ำ เมื่อแผลหายแล้วคนไข้สามารถทำเลเซอร์หรือทรีตเม้นท์ต่างๆ ได้ตามปกติ แต่อาจเกิดอักเสบขึ้นได้บ้าง หากแผลถูกกระตุ้นด้วยความร้อน

 

 

ขั้นตอนการเลาะซิลิโคนเหลวออกจากใบหน้าแต่ละส่วน

 

 จมูก แพทย์จะทำการเปิดแผลในรูจมูกข้างหนึ่ง จากนั้นเลาะออกเป็นสองด้าน (ขึ้นกับเทคนิคแพทย์ แต่ละคน) แล้วใช้กรรไกรเลาะซิลิโคนออกเป็นชิ้นตามแนวของการไหลย้อยออกให้มากที่สุด โดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เส้นเลือด และเส้นประสาทโดยรอบ ซึ่งแผลจะอยู่ด้านในรูจมูกทำให้มองไม่เห็น โดยเทคนิคที่ใช้คือการขูด เซาะ หรือใช้ตะไบถู ซึ่งถือว่าเป็นเทคนิคที่ทำได้ง่าย แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง โดยจะไม่สามารถขูดซิลิโคนออกได้ทั้งหมด เพราะซิลิโคนเหล่านี้ได้แทรกซึมลงไปในเยื่อหุ้มกระดูกและกล้ามเนื้อในชั้นผิวหนัง แพทย์จำต้องตัดซิลิโคนเหลวออก เพื่อไม่ให้เสียฟังก์ชั่นในการใช้งานของกล้ามเนื้อ

 

 

 โหนกแก้ม การเลาะซิลิโคนเหลวบริเวณโหนกแก้มสามารถเปิดแผลเข้าได้หลายทาง หากคนไข้ได้รับการฉีดซิลิโคนเหลวบริเวณเหนือโหนกแก้ม แพทย์จะเปิดแผลตามแนวขนตาล่าง ถ้าซิลิโคนไหลกองลงมาจะต้องเดแผลเข้าทางช่องปาก บริเวณกระพุ้งแก้มจะเลาะออกได้ยาก จึงต้องให้ความระมัดระวัง เนื่องจากมีเส้นประสาทอยู่เป็นจำนวนมาก การเลาะที่ดีต้องเป็นการผ่าตัดที่คล้ายกับการผ่าตัดดึงหน้า คือ การเปิดแผลจากหลังใบหูแล้วค่อยๆ เลาะซิลิโคนออก ผลการรักษาอาจเลาะออกได้ไม่ทั้งหมด แต่เนื่องจากเป็นการผ่าตัดดึงหน้า จึงช่วยทำให้ผิวหนังกระชับ ลดการหย่อนคล้อยของใบหน้า และทำให้แก้มที่ห้อยย้อยดีขึ้น

 

 

 คาง การเลาะซิลิโคนเหลวบริเวณนี้ แพทย์จะใช้วิธีเปิดแผลนอกปาก ไม่เปิดแผลด้านในช่องปาก (บริเวณหน้าฟันล่าง) ซึ่งจะทำให้เกิดรอยแผลที่ยาวเกินไป คนไข้จะทรมานมาก เพราะปากแผลอยู่ห่างจากจุดที่ซิลิโคนลงมากอง ดังนั้น แพทย์จะต้องเลาะเปิดแผลที่ใต้คาง แล้วเย็บปิดให้สนิทเมื่อเลาะซิลิโคนเสร็จแล้ว ซึ่งจะทำให้เห็นรอยแผลเป็นเล็กน้อย หากคนไข้เงยคางขึ้น

 

 

 ขมับ คนไข้บางรายเข้ารับการฉีดซิลิโคนเหลวบริเวณขมับ เพื่อเติมเต็มขมัยที่ตอบหรือบุ๋มให้ดูอิ่มขึ้น ซึ่งการเลาะซิลิโคนเหลวออกจากบริเวณนี้ แพทย์จะทำการเปิดแผลซ่อนไว้ใต้แนวผมเหนือขมับ โดยสอดกรรไกรเข้าไปเลาะซิลิโคนออก ซึ่งอาจจะต้องขยับไปไกลกว่าหลังใบหู เพื่อซ่อนแผลไม่ให้มองเห็นชัด

 

 

 กระพุ้งแก้ม บริเวณกระพุ้งแก้มต้องทำการเปิดแผลเหมือนกับการผ่าตัดดึงหน้า เพื่อจะได้เห็นชัดในขณะที่เลาะซิลิโคนออกจะไม่โดนเส้นประสาทที่สำคัญ เพราะบริเวณดังกล่าวมีเส้นประสาทจำนวนมาก และเมื่อนำซิลิโคนเหลวที่เป็นปัญหาออก ผิวหนังก็จะเหี่ยวห้อย ซึ่งต้องมีการเก็บและซ่อมผิวหนังตามมา สิ่งสำคัญคือต้องเลาะให้สวยและสมดุลเท่ากันทั้งสองด้าน

 

 

การเสริมซิลิโคนหากเสริมเป็นซิลิโคนแท่ง หรือเป็นชิ้นถือว่าดีที่สุด อย่างมากที่สุดเมื่อเกิดปัญหาก็สามารถถอดออกมาเหลาแก้ไขแล้วใส่กลับเข้าไปใหม่ได้ แต่หากคนไข้ฉีดซิลิโคนเหลวเข้าไปแล้ว จำเป็นจะต้องหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่สามารถแก้ไขเลาะซิลิโคน เพื่อเตรียมสำหรับการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นหลังฉีด ขึ้นอยู่ที่ว่าปัญหาจะเกิดช้าหรือเร็ว และการฉีดนั้นทำไดง่ายกว่าการแก้ ดังนั้น แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญจึงมีจำนวนน้อย และขั้นตอนการแก้ไขค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจทำศัลยกรรมใดๆ ก็ตาม คนไข้จึงควรพิจารณาว่าความผิดปกติบนใบหน้าหรือบริเวณนั้นๆ สามารถแก้ไขด้วยการฉีดซิลิโคนจริงหรือไม่ หรือมีวิธีอื่นๆ ที่สามารถช่วยได้เช่นกัน ซึ่งมีหลักการในการแก้ปัญหาใบหน้าคือ หากปัญหาเกิดจากส่วนโครงสร้างหลักคือกระดูก การฉีดซิลิโคนแก้ไขจะไม่ได้ผล แต่หากปัญหาเกิดจากโครงสร้างรอง เช่น ผิวหนังมีริ้วรอยเหี่ยวย่น ไม่เรียบตึง มีร่องแก้มลึก มีรอยบุ๋ม ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ สามารถใช้สารฟิลเลอร์มาเติมเต็มจะสามารถแก้ไขได้ผลดีกว่า

(Some images used under license from Shutterstock.com.)