Haijai.com


พัฒนาการด้านการพูด


 
เปิดอ่าน 5517

Development of speech พัฒนาการด้านการพูด

 

 

การส่งเสียงอ้อแอ้ของเจ้าตัวน้อยในช่วงเดือนแรกๆ  ที่จะนำไปสู่พัฒนาการด้านการพูดในเวลาต่อมา เกิดจากการสังเกตและเลียนแบบในสิ่งที่เห็นคุณแม่และผู้ใหญ่คนอื่นๆ ทำกัน  เด็กที่สามารถออกเสียงสระคำเดี่ยวๆได้ตั้งแต่อายุสามเดือน  ก็จะสามารถออกเสียงคำสองพยางค์ได้หลายเสียงในช่วงเจ็ดเดือน และเริ่มเรียนรู้คำศัพท์ในช่วงแปดเดือน   พอประมาณสิบเดือนก็จะเริ่มหลุดคำพูดคำแรกออกมาได้แล้ว และพอครบหนึ่งขวบ ก็จะพูดได้ประมาณสามคำ

 

 

การสร้างคำศัพท์

 

ระหว่างที่เด็กกำลังทดลองใช้ภาษาที่ตนเองสร้างขึ้นมา  ถ้าหากได้รับแรงเสริมหรือการสนับสนุนจากผู้ใหญ่  เจ้าตัวน้อยก็จะยิ่งฝึกฝนการออกเสียงนั้นมากขึ้น  จนกระทั่งสามารถเปล่งเสียงคำๆนั้นออกมาได้  ไม่ว่าจะเป็นแม่  หม่ำๆ  อุ้มๆ หรือสิ่งของต่างๆที่เจ้าตัวน้อยกำลังสนใจอยู่ในขณะนั้น หรือชอบการออกเสียงคำๆนั้นเป็นพิเศษ  และจะค่อยๆเริ่มเชื่อมโยงความหมายของคำศัพท์แต่ละคำได้

 

 

ถึงแม้ว่าหนทางในการพัฒนาทางด้านภาษาจะต้องใช้เวลาอีกยาวนาน  แต่ถ้าเด็กพูดได้ 15-20 คำตอนช่วงอายุ 15 เดือน  ก็จะสามารถพูดได้ถึง 200-300 คำเมื่อมีอายุครบสองขวบ  และสามารถสร้างประโยคแบบหยาบๆ ที่มีทั้งกริยาและกรรมได้อีกด้วย  ซึ่งก็แน่นอนว่าเด็กแต่ละคนย่อมมีพัฒนาการที่ไม่เหมือนหรือเท่าเทียมกัน   เพราะจากตัวอย่างการสำรวจเด็กอายุยี่สิบเดือนเท่ากันกลุ่มหนึ่ง  พบว่ามีเด็กจำนวนหนึ่งที่พูดได้ถึง 350 คำ  ในขณะที่เด็กบางคนในกลุ่มพูดได้เพียงแค่หกคำเท่านั้น !!  ปริมาณของคำศัพท์ที่เจ้าตัวน้อยเรียนรู้และพูดได้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงประมาณ 2000-3000 คำ เมื่อเด็กอายุได้เจ็ดขวบค่ะ

 

 

ภาษาเด็ก

 

เด็กที่ได้รับการพูดคุยด้วยเหมือนผู้ใหญ่  จะรวบรวมข้อมูลคำศัพท์ได้มากกว่าเด็กที่ได้ยินแต่การพูดด้วยภาษาเด็กตลอดเวลา  พ่อแม่ส่วนใหญ่ในโลกนี้ จะพูดกับลูกด้วยภาษาเด็ก  ไม่ว่าจะเป็นการพูดประโยคเดิมซ้ำๆ  ประกอบกับทำสีหน้าไปด้วยในขณะพูด  หรือพูดแบบร้องเป็นเพลง  ซึ่งส่วนมากแล้วจะเป็นประโยคสั้นๆที่วนเวียนซ้ำไปซ้ำมา  และถ้าสังเกตดูให้ดี  ผู้ใหญ่ทั่วโลกไม่ว่าจะอายุเท่าใด  จะอยู่ในครอบครัวเดียวกันกับเด็กหรือไม่ก็ตาม  ก็มักพูดกับเด็กด้วยภาษาเด็กแทบทั้งสิ้น

 

 

การพูดภาษาเด็ก  อาจมีผลดีในด้านการจดจำเสียงและคำเหล่านั้น  แต่ถ้าพ้นหนึ่งขวบไปแล้ว และเด็กเริ่มพูดได้แล้ว  การพูดด้วยภาษาเด็ก  ก็ไม่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น  เพราะเด็กจะเรียนรู้จากการเลียนเสียงคำ หรือมองตามปากน้อยลง   ดังนั้น พ่อแม่ที่พูดกับลูกด้วยภาษาผู้ใหญ่ โดยใช้คำศัพท์ที่ไม่ยากนัก เป็นประโยคที่ครบถ้วนกระบวนความเหมือนที่เราคุยกัน  ก็จะทำให้เด็กร่ำรวยคำศัพท์มากกว่า และมีข้อมูลในเรื่องคำศัพท์ในตัวมากกว่าเด็กที่ยังได้รับการพูดคุยด้วยภาษาเด็กอยู่ตลอดเวลา  เพราะเด็กได้รับการกระตุ้นให้ปรับตัวกับการรับคำศัพท์ที่หลากหลายอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

 

 

จุดเริ่มต้นของการพูด

 

ดูเหมือนว่าเด็กทารกจะสามารถทำเสียงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพึมพำหรือการคำรามได้โดยธรรมชาติตั้งแต่อายุได้เพียงสามเดือนเท่านั้น  ซึ่งในช่วงแรกๆ มักเป็นการส่งเสียงเพื่อสื่อความรู้สึก  เช่น เจ้าตัวน้อยอาจส่งเสียงเหมือนคำราม เมื่อรู้สึกไม่สบายตัว  เมื่อหิว เหนื่อยหรือเมื่อรู้สึกเบื่อ เป็นต้น

 

 

มีการตั้งข้อสังเกตว่า เสียงคำรามซึ่งเป็นความพยายามขั้นแรกในการพูดคำง่ายๆ เช่น คำว่า “พ่อ”  “แม่” “ปาป่า” หรือ “มะมา” เป็นเสียงของเด็กที่มีความคล้ายคลึงกันทั่วโลก  จึงทำให้เชื่อกันว่ามนุษยชาติมีต้นกำเนิดทางภาษามาจากรากเดียวกัน  จากบรรพบุรุษเดียวกัน  ก่อนที่แบ่งแยกออกเป็นเผ่าพันธุ์หรือกลุ่มต่างๆ และเกิดเป็นภาษาอันหลากหลายตามมาในที่สุด

 

 

เสียงอ้อแอ้ที่ออกมาจากคอของทารก  จำแนกเสียงออกได้เป็นสี่รูปแบบ  ซึ่งในแต่ละรูปแบบมีเสียงสระที่คล้องจองกันเป็นพิเศษ  และยังไม่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละภาษา  เพราะเด็กทุกภาษายังอ้อแอ้เป็นเสียงเดียวกันหมด  และจะค่อยๆปรับเปลี่ยนเป็นสำเนียงเสียงภาษาเฉพาะเมื่อเจ้าตัวน้อยในแต่ละชาติเริ่มพูดได้ค่ะ  การเรียนรู้ภาษาของผู้ใหญ่เป็นขั้นตอนการเรียนรู้ที่สลับซับซ้อนที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับเจ้าตัวน้อย  และต้องใช้กล้ามเนื้อทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่าเจ็ดสิบมัดทีเดียว  ซึ่งลูกต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และให้เวลากล้ามเนื้อเหล่านั้นพัฒนาให้สามารถทำหน้าที่ได้เต็มที่ต่อไป

 

 

ทำไมลูกพูดช้า

 

การที่เด็กพูดช้า  ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะมีปัญหาด้านการพูดเสมอไป  เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ค่อยมีใครพูดคุยด้วย  ไม่ได้สอนให้พูด หรือเป็นบ้านที่ใช้หลายภาษา  สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยให้เด็กต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูลก่อนที่จะพูดออกมาได้ทั้งสิ้น  โดยเฉลี่ยแล้ว เด็กผู้ชายอาจเริ่มพูดช้ากว่าเด็กผู้หญิงเล็กน้อย  แต่ถ้าอายุสองขวบไปแล้ว  เจ้าตัวน้อยยังไม่สามารถพูดคำที่มีความหมายได้เลย  หรือพูดได้แต่คำเดี่ยวๆ ไม่กี่คำ  ไม่สามารถสื่อสารกับคนทั่วไปได้  ก็ควรรีบพาไปให้คุณหมอตรวจเช็คดูทันที  ไม่ควรปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปนาน เพราะหากมีอาการผิดปกติ จะสามารถแก้ไขได้ผลดีกว่าปล่อยทิ้งเอาไว้ค่ะ

 

 

สาเหตุของเด็กพูดช้า

 

 เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะในการออกเสียง  เช่น มีพังผืดยึดติดลิ้น, กล้ามเนื้อริมฝีปากอ่อนแอ, ฯลฯ

 

 

 ความผิดปกติของอวัยวะในการได้ยิน  เช่น หูน้ำหนวก, หูชั้นกลางและหูชั้นในผิดปกติ, ประสาทหูผิดปกติ, ฯลฯ

 

 

 มีความผิดปกติของระบบประสาท หรือสมอง

 

 

 สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย  เช่น ไม่มีใครคุยด้วย  หรือถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียวบ่อยๆ  เป็นต้น

 

 

ข้อสุดท้ายสามารถแก้ไขเองได้ที่บ้าน  แต่ถ้าเป็นสามข้อแรก ต้องพาลูกไปพบคุณหมอ หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านการพูดโดยเฉพาะค่ะ

 

 

ดูทีวีมาก ลูกพูดช้า

 

เด็กที่พูดช้าหรือพูดไม่ชัด อาจก่อให้เกิดปัญหาทางด้านจิตใจ อารมณ์ สังคมและการเรียนรู้ตามมาได้  บางบ้านที่เลี้ยงลูกโดยการให้ทีวีเป็นพี่เลี้ยงเด็ก  มักทำให้เด็กมีปัญหาในเรื่องพัฒนาการด้านต่างๆตามมา  เพราะทีวีเป็นการสื่อสารทางเดียว  เด็กไม่เข้าใจความหมายของคำศัพท์ที่ได้ยิน  ทีวีไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้โต้ตอบ  ให้ดูและฟังอย่างเดียว  มีการศึกษาในอเมริกาพบว่า  เด็กทารกอายุ 8-16 เดือน  ที่เปิดดีวีดีหรือวีดีโอการสอนพูดให้เด็กทารกดูวันละสี่ชั่วโมง กลับเข้าใจความหมายของคำศัพท์ ได้น้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้ชมวีดีโอที่สอนในเรื่องการพูดเลย ประมาณ 6-8 คำโดยเฉลี่ย และพบอีกว่าพัฒนาการทางสมองของเด็กทารกที่ดูรายการทีวี, วีดีโอหรือดีวีดีนั้น ช้ากว่าเด็กทารกที่ไม่ได้ดูทีวีเลย  รวมทั้งทักษะในการออกเสียงก็ทำได้ไม่ดีเท่าเด็กที่พ่อแม่พูดคุยด้วยบ่อยๆ ค่ะ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)