Haijai.com


ออกกำลังกายพัฒนาสมอง


 
เปิดอ่าน 3595

กีฬาพัฒนาสมอง

 

 

ด้วยการรับรู้ที่มีมายาวนานของคนเราที่ว่า ถ้าอยากให้ร่างกายแข็งแรง กำยำล่ำสัน ให้หมั่นออกกำลังกายและเล่นกีฬา นอกจากร่างกายจะแข็งแรงแล้ว สำหรับคนที่มีการเล่นกีฬาบางชนิดบ่อยๆ จนเกิดเป็นทักษะและมีความสามารถที่โดดเด่นก็สามารถใช้ความถนัดในกีฬานั้นๆ ก้าวสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพได้

 

 

จากกิจกรรมยามว่างกลายมาเป็นอาชีพ

 

ไม่แปลกนักที่ปัจจุบันนี้ความคิดในการส่งเสริมเรื่องการเล่นกีฬา ให้กับลูกของพ่อแม่บางคนเปลี่ยนไปจากแต่เดิม ที่ให้เล่นเพื่อสุขภาพ และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ แปรเปลี่ยนเป็นการเล่นแบบเอาจริงเอาจังเพื่อหวังที่จะเป็นนักกีฬาอาชีพ จากตัวอย่างของนักกีฬาไทยบางคนที่โดดเด่นและมีชื่อเสียงระดับโลก แต่จะอย่างไรก็ตาม การรับรู้ของผู้ปกครองส่วนใหญ่เกี่ยวกับกีฬานั้นก็ยังคงเป็นในเรื่องของด้านร่างกาย แต่แท้ที่จริงนั้น กีฬาสามารถช่วยพัฒนาสมองของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้ด้วย

 

 

กีฬาพัฒนาสมองได้อย่างไร

 

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่า สมองของคนเราแบ่งเป็นสองซีกคือ ซีกซ้าย กับซีกขวา มีหน้าที่ต่างกัน ด้านขวา เกี่ยวข้องกับจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ด้านซ้าย ทำหน้าที่ในด้านการคำนวณ ลำดับการตัดสินใจและการรับรู้ สำหรับในวัยเด็ก การฝึกหรือการออกกำลังประเภทที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงนอกจากจะช่วยกระตุ้นและพัฒนาร่างกายให้แข็งแกร่ง เสริมสร้างกล้ามเนื้อ และกระดูกโดยตรงแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท และพัฒนากลไกการเคลื่อนไหวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย ที่สำคัญการเคลื่อนไหวในรูปแบบใด รูปแบบหนึ่ง หรือหลายรูปแบบ “อย่างเป็นระบบ” ตามขั้นตอน จะนำไปสู่การปรับตัวและการพัฒนาสมอง

 

 

ตาราง 9 ช่อง ช่วยพัฒนาสมองเด็กๆ

 

โดยหลักการพัฒนามาจากเรื่องของการทำงานของสมองและระบบประสาท ซึ่งนักกีฬาที่แข่งขันนอกจากจะมีสมรรถภาพทางร่างกายที่ดีแล้ว การทำงานของระบบประสาทกล้ามเนื้อ รวมทั้งการคิด การตัดสินใจในช่วงเวลาสั้นๆ เฉพาะหน้าระหว่างการแข่งขันจะต้องดีด้วย รศ.เจริญ กระบวนรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้คิดค้น “ตาราง 9 ช่อง” เครื่องมือที่จะช่วยในการพัฒนาสมองของเด็กๆ เป็นอุปกรณ์การฝึกในรูปแบบตารางขนาด 3 คูณ 3 รวมพื้นที่ 9 ช่อง และให้ผู้ใช้ ได้ฝึกการเคลื่อนไหวโดยกำหนดรูปแบบการเคลื่อนไหวในลักษณะต่างๆ เช่น รูปตัว L, V, X ซึ่งนอกจากจะมีผลในการให้นักกีฬาฝึกเพื่อพัฒนาปฏิกิริยาความเร็วของเท้าแล้ว ยังมีผลในการจัดระบบความจำของสมองในการบันทึกข้อมูลและสามารถดึงข้อมูลที่เก็บเอาไว้มาใช้ได้

 

 

ความเชื่อมโยงของกีฬากับสมอง

 

รศ.เจริญ กระบวนรัตน์ ให้ความรู้เพิ่มเติมไว้อีกว่า การฝึกปฏิกิริยารับรู้และตอบสนองต่อการเคลื่อนไหว เป็นหนึ่งในหลักการฝึกพัฒนาความเร็วที่สำคัญสำหรับนักกีฬา ในการแข่งขันที่ต้องใช้ความรวดเร็วแม่นยำในการเคลื่อนไหวและทักษะกีฬา ตลอดจนการคิด การตัดสินใจ และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รูปแบบของการฝึกจะเน้นการกระตุ้นการทำงานของสมองหรือระบบประสาทที่ทำหน้าที่ในการรับรู้ข้อมูล เพื่อส่งไปยังสมองส่วนกลาง ซึ่งสมองส่วนนี้จะทำหน้าที่วิเคราะห์และแปลความหมายข้อมูล ก่อนจะส่งไปยังเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่สั่งงานและควบคุมการเคลื่อนไหวให้เป็นไปตามข้อมูลที่ส่งมา

 

 

หลักง่ายๆ ก่อนเริ่ม “ออกกำลังกายพัฒนาสมอง” สำหรับเด็กๆ

 

ท่าออกกำลังกายที่จะช่วยพัฒนาสมองและความจำสำหรับคุณพ่อคุณแม่บ้านไหนที่ต้องการฝึกลูกลองใช้ท่าต่อไปนี้ฝึกลูกๆ ที่บ้านของคุณดู การออกกำลังกายท่าเหล่านี้เหมาะกับน้องๆ 3 ขวบขึ้นไปจนถึง 6 ขวบค่ะ

 

 

 สร้างความเชื่อมโยง

 

กีฬาหรือการออกกำลังกายที่ได้ใช้ความเชื่อมโยงระหว่างสมองกับร่างกายนั้นยิ่งทำมากเท่าไรเด็กๆ จะสามารถพัฒนาทั้งสองด้านพร้อมๆ กัน ลองหาท่าออกกำลังกายหรือกีฬา เช่น การเล่นลูกบอลที่เด็กๆ จะต้องคิดและกำหนดการโยนให้แม่นเพื่อที่จะให้การเล่นนั้นประสบความสำเร็จ ถ้าเป็นกีฬาให้คุณพ่อคุณแม่เน้นให้เล่นกีฬาที่ต้องใช้การวางแผนและการคิด โดยเริ่มต้นแบบง่ายๆ ก่อน

 

 

 ทำซ้ำให้เกิดการเรียนรู้

 

หลักการง่ายๆ ของการเล่นกีฬาหรืออการออกกำลังกายในท่าที่ซ้ำๆ คือ จะทำให้เกิดทักษะและความเชี่ยวชาญ และพัฒนาไปสู่การเกิดความจำที่ดีในสิ่งนั้นๆ กีฬาหรือท่าออกกำลังกายที่ส่งเสริมในเรื่องการทำซ้ำจะช่วยให้เด็กๆ จดจำได้ดี เช่นเดียวกับการเรียนภาษาที่จะต้องอาศัยการทำซ้ำและจดจำ

 

 

 ทำสิ่งที่โดดเด่น

 

นี่คืออีกหนึ่งในหลักการพื้นฐาน คนเราจะสามารถจดจำสิ่งที่โดดเด่นได้มากกว่าสิ่งที่ธรรมดาปรกติ พยายามหากิจกรรมหรือการออกกำลังกายที่โดดเด่นให้ลูก นอกจากจะช่วยเพิ่มทักษะและสร้างความจำที่ดีแล้ว เด็กๆ ยังจะกระตือรือร้นที่จะเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมนั้นด้วย

 

 

Brain Wellness

(Some images used under license from Shutterstock.com.)