
© 2017 Copyright - Haijai.com
คุมน้ำหนักระหว่างตั้งครรภ์
มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ถามกันมามากในช่วงกำลังตั้งครรภ์คือ เรื่องอาหารการกินว่าจะกินกันอย่างไร ลูกในครรภ์ถึงจะแข็งแรง และกินอย่างไร จึงจะไม่อ้วน คุณๆ ส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงลูกเป็นสำคัญ ไม่ค่อยจะนึกถึงตัวเองสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะอ้วนเกินไปเพราะธรรมชาติมันช่วย
กินอย่างไรลูกในครรภ์จึงจะแข็งแรง จึงเป็นปัญหาที่หมอพบคุณแม่ถามถึงเสมอ
พูดถึงเด็กในครรภ์นั้นไม่ต้องการอะไรจากแม่ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งจะมองเห็นไข่แดงหรือ Yoke sac ในช่วง 3 เดือนแรก ซึ่งจะเห็นเป็นรูปร่างคล้ายแหวน อยู่ใกล้ๆ หรือต่อกับทารก ดังนั้นคุณสบายใจได้เลยว่า คุณสามารถแพ้ท้องได้โดยไม่ต้องทานอะไรเลย โดยเด็กทารกในครรภ์จะไม่เป็นอะไร จนกระทั่งเด็กทารกโตขึ้น หลังจาก 3 เดือนเป็นต้นไป อาหารจากไข่แดงก็จะไม่เพียงพอ ดังนั้นคุณจึงต้องทานเข้าไป โดยเฉพาะอาหารเสริมที่มีความสำคัญทั้งหลาย ได้แก่ ธาตุเหล็ก แคลเซียม และอื่นๆ อีกเล็กน้อย ซึ่งแพทย์จะจัดให้ในรูปแบบของยาบำรุงครรภ์ ทั้งหลายที่คุณๆ ควรได้รับระหว่างการตั้งครรภ์
ก็จะเห็นได้ว่าระหว่างการตั้งครรภ์นี้ น้ำหนักตัวก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการศึกษาพบว่าใน 3 เดือนแรก น้ำหนักขึ้นเพียงประมาณ 1 กิโลกรัม หลังจาก 3 เดือนแรก น้ำหนักจะขึ้นที่ 2 กิโลกรัมต่อเดือน จนกระทั่งเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ น้ำหนักจะขึ้นน้อยมาก ประมาณ 1 กิโลกรัม หรือไม่ขึ้นเลย สรุปว่าการตั้งครรภ์ที่ปกตินั้นน้ำหนักจะขึ้นทั้งหมดประมาณ 10-12 กิโลกรัม หรือคิดง่ายๆ ดังนี้ เช่น ตั้งครรภ์ ประมาณ 5 เดือนน้ำหนักก็ควรจะขึ้นประมาณ 5 กิโลกรัม หรือตั้งครรภ์ 7 เดือน ก็ควรจะขึ้นเป็น 7 กิโลกรัม เป็นต้น และตอนที่ตั้งครรภ์ครบกำหนดแล้วคือ 10 เดือน น้ำหนักก็ควรจะขึ้นเป็น 10 กิโลกรัม เป็นต้น นี่เป็นน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในภาวะปกติ ซึ่งประกอบไปด้วย น้ำ เลือด ในร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น การบวมตามเนื้อตามตัวของผู้เป็นแม่ น้ำหนักของเต้านมที่โตขึ้น และน้ำหนักของทารกเมื่อครบกำหนด
ในคนท้องนั้น น้ำหนักก็จะเพิ่มขึ้นดังที่กล่าวแล้ว ถ้าไม่ระวัง น้ำหนักก็จะเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ น้ำหนักตัวถ้าเพิ่มมากขึ้นโดยคาร์โบไฮเดรตหรือไขมัน ก็จะอ้วนผิดปกติ การทานอาหารจึงต้องระวังเรื่องของคาร์โบไฮเดรตและไขมันให้มาก ซึ่งโดยธรรมชาตินั้นการดูดซึมอาหารทั้งสองประเภทนี้จะมากกว่าภาวะปกติ ฉะนั้นถ้าไม่ระวังก็จะอ้วน ความอ้วนจึงเป็นศัตรูของการตั้งครรภ์ เพราะความอ้วนก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ ทำให้เกิดเบาหวานแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ที่น่ากลัวที่สุดคือครรภ์เป็นพิษ สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ สูติแพทย์จะกลัวครรภ์เป็นพิษกันมาก เพราะความรุนแรงอาจจะทำให้เด็กเสียชีวิต และมารดาก็อาจจะเสียชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้น ระหว่างตั้งครรภ์การคุมน้ำหนักจึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึง อย่าปล่อยให้เป็นเรื่องของเทวดา
เมืองไทยเป็นเมืองผลไม้ คนท้องถ้าได้ทานผลไม้มากถือเป็นสิ่งดี หลายคนเลยถามว่าทานทุเรียนดีไหม? เพราะทุเรียนได้ชื่อว่าเป็น King of Fruit ในกรุงเทพฯ ผมเห็นมีทุเรียนอยู่เสมอทุกเดือน ทุกหน้า ว่าไปแล้วทุเรียนหาได้ง่ายในบ้านเรา ทุเรียนเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยความหวาน มากไปด้วยคาร์โบไฮเดรต หากทานมากก็จะทำให้น้ำหนักขึ้นมาก หรืออ้วนมาก เรียกได้ว่าไม่ดี ฉะนั้นหากถามถึงทุเรียน ก็ตอบได้ว่าไม่ควรทานมาก เพราะประโยชน์ที่ได้มีน้อยกว่าโทษ หากจะทานทุเรียน ก็ต้องพิจารณาดูให้ดี
น้ำมะพร้าวก็มีถามเข้ามามาก หลายคนชอบดื่มน้ำมะพร้าว ทางการแพทย์ก็ไม่ได้ห้ามอะไร และไม่ได้ห้ามการดื่มน้ำมะพร้าว น้ำมะพร้าวมีฤทธิ์อ่อนๆ คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งจะทำให้รอบเดือนของผู้หญิงผิดปกติได้ เนื่องจากน้ำมะพร้าวทำให้รอบเดือนผิดปกติไปด้วย หลายๆ คนจึงห้ามดื่มน้ำมะพร้าว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ทำให้เกิดอะไร นอกจากดื่มแล้วจะอ้วนได้ เพราะอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต
อาหารของมนุษย์เรามีอยู่ 5 หมู่ ขณะที่กำลังตั้งครรภ์ควรจะรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ซึ่งจะได้คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน เกลือแร่ และวิตามิน อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต และไขมัน
ดังที่กล่าวมาแล้วว่าเนื่องจากร่างกายต้องการสารอาหารดังกล่าว และหาได้ง่าย หากทานไม่ได้บันยะบันยัง ก็จะอ้วนได้ง่าย ขณะที่อาหารหมู่โปรตีน เกลือแร่ วิตามินเป็นหมู่ที่ร่างกายต้องการไม่มาก แม้ว่าจะจำเป็น จึงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะอาหารเหล่านี้ไม่ทำให้อ้วน
อาหารพวกเกลือแร่และวิตามิน ร่างกายได้จากอาหารเสริม หรือในรูปยาบำรุง ซึ่งได้แก่ธาตุเหล็ก และเกลือแคลเซียม เมื่อทานธาตุเหล็กเข้าไปทำให้อุจจาระดำก็ไม่เป็นไรครับ ส่วนเกลือแคลเซียมนั้น ในช่วงของการตั้งครรภ์มีความจำเป็นมาก โดยเฉพาะเมื่ออายุครรภ์มากกว่า 5 เดือนขึ้นไปแล้ว ร่างกายของแม่ต้องการวันละ 1,200–1,300 มิลลิกรัม ถ้าหากแคลเซียมไม่พอดี มีมากหรือน้อยเกินไป ก็จะทำให้เกิดเป็นตะคริวขึ้นมา ฉะนั้นในแต่ละวันต้องให้ได้พอดีกับความต้องการของร่างกาย มีฮอร์โมนพาราไทรอยด์และฮอร์โมนซิโตนินเป็นตัวควบคุม แคลเซียมมีมากในนมซึ่งหาได้ง่ายและรู้ปริมาณที่แน่นอน หรือในรูปของเกลือแคลเซียมในรูปแบบของยาเม็ด ฉะนั้นคุณต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าในแต่ละวันได้แคลเซียมเพียงพอหรือไม่ น้อยไปหรือมากไป และทำให้เกิดเป็นตะคริวได้ ถ้าใครไม่รู้จักตะคริว ผมก็ขอแนะนำให้เปิดอินเทอร์เน็ตดูนะครับ
นพ.พนิตย์ จิวะนันทประวัติ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)