Haijai.com


ตุ่มน้ำใสในทารกแรกเกิด


 
เปิดอ่าน 45830

ตุ่มน้ำใสในทารกแรกเกิด

 

น้องนิวเป็นเด็กน้อยน่ารักอายุ 2 วัน ตอนแรกเกิดคุณหมอเด็กสังเกตเห็นตุ่มน้ำใสและตุ่มแดงตามตัวและขา น้องนิวเลยต้องออกมาอยู่ห้องแยกโรคที่มีพี่พยาบาลดูแลเป็นพิเศษในห้องเด็กทารกแรกคลอด ทุกๆ คนกังวลมาก และพยายามตรวจหาสาเหตุของผื่น

 

 

ในเด็กทารกแรกเกิด ถ้าพบตุ่มแดงหรือตุ่มน้ำใส อาจพบว่าเป็นโรคบางอย่างได้ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ เรียกโรคในกลุ่มนี้ว่า vesiculopustular diseases ซึ่งเป็นในเด็กทารกแรกเกิด  โดยสาเหตุของโรคเกิดจาก

 

 

1. Noninfectious, benign : กลุ่มที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคที่เกิดจากการที่ต่อมเหงื่อและต่อมไขมันในเด็กทารกแรกเกิดยังทำงานได้ไม่เต็มที่, ผดร้อน , erythema toxicum, acropustulosis of infancy, transient neonatal pustular melanosis ซึ่งส่วนใหญ่โรคในกลุ่มนี้รักษาหายได้ คุณแม่ไม่ต้องกังวลใจค่ะ

 

 

2. Noninfectious,potentially serious กลุ่มที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ แต่เป็นอาการเริ่มต้นของโรคต่างๆ บางชนิดอาจมีอาการรุนแรง และต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางอย่างต่อเนื่อง เช่น Epidermolysis bullosa เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เกิดจากความผิดปกติของการยึดตัวของเนื้อเยื่อผิวหนังในชั้นต่างๆ เมื่อเด็กมีกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเสียดสี จะเกิดตุ่มน้ำพอง และผิวหนังถลอกตามมา ในเด็กที่ดูดนิ้วจะพบเป็นตุ่มน้ำพองบริเวณนิ้วมือ บริเวณเยื่อบุในปาก และรอบๆ ปาก ซึ่งโรคในกลุ่มนี้สามารถแบ่งออกได้อีกเป็น 7 กลุ่ม ในกลุ่มที่อาการรุนแรงจะมีตุ่มน้ำพองทั่วตัว เมื่อแผลหายจะเกิดแผลเป็น หากมีบาดแผลบริเวณมือและเท้า จะทำให้มือและเท้ากุดเหมือนใส่ถุงมือ อาจพบเยื่อบุตาเป็นแผลจนทำให้ตามองไม่เห็นได้ Incontinentia pigmenti เป็นโรคผิวหนังที่พบได้ไม่บ่อย เกิดจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ อาจมีประวัติครอบครัว เช่น มีลูกผู้ชายแล้วเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ประมาณร้อยละ 97 จะเป็นในเพศหญิง สามารถพบผื่นได้ตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 3 เดือน อาการผื่นมีลักษณะเป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำ เรียงกันเป็นแนวยาวไปตามลำตัว แขนขา ซึ่งลักษณะผื่นจะเปลี่ยนไปเรื่อย แบ่งได้เป็น 4 ระยะตามอายุของเด็ก โดยผื่นจะหนาขึ้นและขรุขระคล้ายหูด แล้วจึงค่อยๆ แบนราบลงจนกลายเป็นวงสีน้ำตาล ในผู้ใหญ่จะคงเหลือเป็นเส้นสีขาวจางๆ   เนื่องจากโรค Incontinentia pigmenti สามารถพบร่วมกับความผิดปกติของระบบอื่นๆ ด้วยได้ เช่น ความผิดปกติของระบบประสาท อาการชัก พัฒนาการช้า ความผิดปกติของตา เช่น ตาเข ต้อกระจก ความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ แขนขาสั้นกว่าปกติ หรือแขนขาไม่เท่ากัน เด็กๆ จึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

 

 

Acrodermatitis enteropathica เป็นโรคทางผิวหนังซึ่งสาเหตุเกิดจากการขาดสังกะสี ปกติเราจะรู้จักผื่นที่พบจากการขาดสังกะสีในเด็กๆ ที่ถ่ายเหลววันละหลายๆ ครั้งและมีผื่นแดงบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อม แต่โรคนี้พบถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ด้วย โดยชนิดที่เป็นจากกรรมพันธุ์จะมีอาการตั้งแต่แรกเกิด  ผื่นจะมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำเล็กๆ และอาจเสียชีวิตได้หากไม่ได้รักษา

 

 

Epidermolytic hyperkeratosis หรือ Bullous congenital ichthyosiform erythroderma เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุ์กรรม อาการคือ มีตุ่มน้ำตั้งแต่แรกเกิด ผิวมีการถลอก หลังจากนั้นตุ่มน้ำจะค่อยๆ ลดลง ผิวหนังจะหนาขึ้น ฝ่ามือฝ่าเท้าจะหนา และพบว่าเล็บมีความผิดปกติร่วมด้วย โรคอื่นๆ เช่น Herpes gestationis (neonatal)

 

 

3.Infectious เป็นกลุ่มโรคติดเชื้อ เกิดจากเชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส เช่น เริม งูสวัส อีสุกอีใส ซิฟิลิส หิด สำหรับน้องนิว ผลการตรวจ ไม่พบเชื้อเริม สุกใส  และเนื่องจากผื่นเรียงเป็นแนวตามตัวซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่พบในโรค Incontinentia pigmenti คุณหมอจึงขอตัดชิ้นเนื้อเพื่อช่วยในการตรวจวินิจฉัย ซึ่งผลการตรวจชิ้นเนื้อที่ออกมาตรงกันกับโรค Incontinentia pigmenti คุณแม่จึงได้รับคำแนะนำให้เฝ้าระวังอาการเป็นพิเศษหลังกลับบ้าน    หลังจากกลับบ้านไป 24ชั่วโมง คุณแม่ก็พาน้องนิวกลับมารพ.อีกครั้งเนื่องจากมีอาการชักเกร็ง  น้องนิวได้รับยากันชัก ตรวจเลือดและสังเกตอาการที่โรงพยาบาล  ปัจจุบันน้องนิวอายุ 1 ขวบแล้ว เป็นหลานรักของทุกคนในบ้าน ผื่นที่เป็นก็ดูจางลงค่ะ

 

 

ตุ่มน้ำใสในทารกแรกเกิด ส่วนหนึ่งอาจเกิดเพราะโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เราสามารถเฝ้าระวังได้ก่อนที่จะมีลูกคนต่อไป แนะนำให้ปรึกษากับสูติแพทย์ก่อนที่จะตั้งครรภ์นะคะ เพราะปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ๆ ในการตรวจยีนเพื่อวางแผนความพร้อมให้กับครอบครัวอันเป็นที่รักยิ่งของเราค่ะ

 

 

แพทย์หญิงฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)