
© 2017 Copyright - Haijai.com
พิษโลหะหนัก
โลหะหนักที่มักก่อให้เกิดความเป็นพิษ ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท และสารหนู ซึ่งเกิดพิษต่อระบบประสาทและอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายทั้แบบเฉียบพลันและเรื้อรัง โลหะหนักเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายระบบ ทั้งผิวหนัง ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร การระวังไม่ให้ร่างกายรับสารพิษเหล่านี้ และมาตรการของภาครัฐในการควบคุมการใช้โลหะหนัก จึงนับเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสังคมสุขภาพ
ชีวิตประจำวันเราต้องเกี่ยวข้องกับสารเคมีมากมาย สารเคมีหลายชนิดก่อให้เกิดพิษทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ในบทความนี้จะกล่าวถึงโลหะหนักที่มีพิษและเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญหลายๆ ครั้ง เพื่อที่พวกเราจะได้ตระหนักถึงผลเสียของการใช้สารเหล่านี้ และหาแนวทางป้องกันการปนเปื้อนสารเหล่านี้ จากการดำรงชีวิตประจำวัน
ตะกั่ว
ตะกั่วที่พบในชีวิตประจำวัน มีทั้งในรูปแบบตะกั่วอนินทรีย์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของสีทาบ้าน สีทาของเล่นเด็ก แบตเตอรี่ บัดกรี เข้าสู่ร่างกายทางระบบทางเดินและโดยการหายใจ และตะกั่วอินทรีย์ ซึ่งเป็นส่วนผสมในน้ำมันรถยนต์ เข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง ทางเดินอาหาร และทางเดินหายใจ ปัจจุบันปัญหาพิษจากตะกั่วอินทรีย์ลดลง เนื่องจากการใช้น้ำมันที่มีสารตะกั่วลดลง
เมื่อตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าสู่กระแสเลือด ร้อยละ 99 จับกับเม็ดเลือดแดง อีกร้อยละ 1 อยู่ในพลาสมา ต่อมาตะกั่วจะกระจายไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น ไขกระดูก สมอง ไต ตับ กล้ามเนื้อ กระดูก และอวัยวะเพศ ตะกั่วสามารถผ่านรกไปสู่ทารกในครรภ์ได้ ทั้งยังยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ขัดขวางการทำงานของแคลเซียม เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของผนังเซลล์และตัวรับต่างๆ พิษของตะกั่วสามารถเกิดได้ทั้งแบบเฉียบพลัน ซึ่งมักพบในเด็ก โดยมีอาการ ได้แก่ ปวดศีรษะ ชัก หมดสติ และแบบเรื้อรัง ซึ่งพบได้ในหลายระบบของร่างกาย เช่น
• ระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ท้องผูก ท้องเสีย ปวดท้อง
• ระบบประสาท ได้แก่ สูญเสียความรู้สึกเจ็บบริเวณปลายแขนและขา แขนอ่อนแรง
• ไต ได้แก่ ไตวายเรื้อรัง การขับกรดยูริกลดลง
• เลือด ได้แก่ ภาวะเลือดจาง
ปรอท
เราสามารถรับพิษจากปรอทใน 3 รูปแบบ ได้แก่
• ปรอทอินทีรย์ เป็นรูปแบบที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์มากที่สุด โดยรับปรอทรูปแบบนี้จากากรรับประทานปลาที่ปนเปื้อนสารปรอท (เช่น เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นและอิรัก) ปรอทเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารโดยควันจากไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่ปนเปื้อนปรอท นำปรอทเข้าไปสู่บรรยากาศ ต่อมาปรอทจะตกลงสู่ทะเลและมหาสมุนทรพร้อมกับฝน เชื้อแบคทีเรียจะเปลี่ยนปรอทให้อยู่ในรูปอินทรีย์ แล้วเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อาหาร โดยปลานักล่าจะมีปรอทสะสมมากกว่าปลาที่เป็นเหยื่อ ทางอื่นๆ ที่ปรอทเข้าไปปนเปื้อนระบบนิเวศ ได้แก่ การที่โณงงานปล่อยของเสียที่ปนเปื้อนปรอท หรือเมล็ดธัญพืชที่มียาฆ่าเชื้อรา ซึ่งเป็นปรอทอินทรีย์ ปรอทอินทรีย์จะส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้มีอาการสั่น พูดไม่ชัด เดินเซ ชาปลายมือปลายเท้า พิษต่อระบบประสาทนี้ยังส่งผลไปถึงทารกในครรภ์ ทำให้ทารกปัญญาอ่อน แขนขาผิดรูป พูดไม่ชัด เป็นต้น
• ปรอทอนินทรีย์ เข้าสู่ร่างกายทางระบบทางเดินอาหารและผิวหนัง ปรอทในรูปแบบนี้มีพิษต่อระบบประสาท ทำให้เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน ตกใจง่าย ขี้อาย ขาดความมั่นใจ ซึมเศร้า วิตกกังวล เสียสมาธิ ความจำบกพร่อง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพิษต่อระบบทางเดินอาหารและทำให้ไตวายเฉียบพลันได้
• ปรอทเหลว เข้าสู่ร่างกายโดยระบบทางเดินหายใจ มีความเป็นพิษต่อระบบประสาท โดยมีอาการเดียวกับปรอทอนินทรีย์ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ปอดอักเสบได้อีกด้วย
สารหนู
มนุษย์สามารถได้รับพิษจากสารหนูได้จากการดื่มน้ำ และรับประทนอาหารที่ปนเปื้อนสารหนู (ดังกรณีที่เคยเกิดที่อำเภอร่อนพิบูลย์ นครศรีธรรมราช และบังกลาเทศ) ตลอดจนการใช้ยาสมุนไพรที่ปนเปื้อน สารหนู การทำงานในโรงงานถลุงแร่ และอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ สารหนูที่ทำให้เกิดพิษมักพบในรูปอนินทรีย์ โดยเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร และทางเดินหายใจ หลังจากดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด สารหนูจะกระจายไปสู่อวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต ปอด ม้าม ลำไส้ จากนั้นจึงไปสะสมอยู่ที่ผิวหนัง ผม และกระดูก
พิษของสารหนูสามารถเกิดได้ทั้งแบบเฉียบพลัน ซึ่งมีอาการ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ความดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นเร็ว ไตวายเฉียบพลัน ซึม ชัก หมดสติ เป็นต้น และแบบเรื้อรัง ซึ่งทำให้มีอากรสับสน หลงผิด หวาดระแวง เห็นภาพหลอน หูแว่ว ชาหรือปวดแสบปวดร้อนที่ปลายมือปลายเท้า มักจะพบรอยโรคที่ผิวหนัง โดยผิวหนังมีสีคล้ำ มีตุ่มนูนแข็งที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจพบลายขวางสีขาวที่เล็บ นอกจากนี้สารหนูยังเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่งด้วย
โลหะหนักที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนเกี่ยวข้องกับเราในชีวิตประจำวัน ทั้งในด้านที่ใช้ในเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ตลอดจนการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกคนทั้งภาครัฐและประชาชนจะต้องร่วมมือ ร่วมใจกันจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง เพื่อสุขภาพของพวกเราและลูกหลานในอนาคต
นพ.จีรศักดิ์ กาญจนาพงศ์กุล
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา
(Some images used under license from Shutterstock.com.)