Haijai.com


เน้นออกกำลังกายป้องกันโรคเบาหวาน


 
เปิดอ่าน 3110

เบาหวาน ความดันฯ เน้นออกกำลังและยา

 

 

"การออกกำลังกายนั้น ถ้าทำน้อยไปก็จะเฉา ถ้าทำมากไปก็จะช้ำ การออกกำลังกายแต่พอดีจะทำให้เกิดความสมบูรณ์ทั้งกายและใจ"

 

พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช

 

 

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง เป็นส่วนส่งเสริมของการรักษา ทำให้ผู้ป่วยใช้ยาในปริมาณที่น้อยลง จนเหลือการใช้ยาน้อยที่สุด และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วยมากมาย ผลดีของการออกกำลังกาย ได้แก่ ช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้นในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจ ทำให้น้ำหนักตัวลดลง เพิ่มสมรรถภาพการใช้ไขมันเป็นพลังงาน ทำให้การทำงานของหัวใจและระบบการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น

 

 

การประเมินสุขภาพก่อนออกกำลังกาย

 

ผู้ป่วยเบาหวานมีความผิดปกติหรือความบกพร่องของอินซูลิน เมื่อออกกำลังกายต้องคำนึงถึงระดับน้ำตาลในเลืด ถ้าสูงกว่า 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือมีภาวะแทรกซ้อนในระยะรุนแรง ต้องงดการออกกำลังกาย หากไม่มีข้อจำกัดดังกล่าว ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตขณะพักสูงกว่า 180/100 มิลลิเมตรปรอท หรือความดันโลหิตตกขณะออกกำลังกายเกิน 20 มิลลิเมตรปรอท ไม่ควรออกกำลังกาย

 

 

การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน

 

ผู้ป่วยที่มีอินซูลินสูงจะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ง่ายขณะออกกำลังกาย เนื่องจากอินซูลินที่สูงจะยับยั้งการสร้างและปลดปล่อยน้ำตาลจากตับ รวมทั้งการสลายไขมัน และกล้ามเนื้อสามารถใช้น้ำตาลได้มากขึ้น ผลคือ ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ตรงกันข้ามถ้าระดับอินซูลินไม่พอ ตับจะสร้างและปลดปล่อยน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดมาก แต่กล้ามเนื้อไม่สามารถใช้น้ำตาลได้มาก อาจเกิดภาวะเลือดเป็นกรดสูงจากการสลายไขมันมากเกินไป ดังนั้น การออกกำลังกายในผู้ป่วยที่ฉีดอินซูลิน จำเป็นต้องปรับอาหารและยาให้เหมาะสมตามเวลาการออกกำลังกายระยะเวลา และประเภทของการออกกำลังกาย

 

 

หลักปฏิบัติ

 

 ผู้ป่วยต้องออกกำลังกายทีละน้อย และต้องปรับขนาดไปพร้อมๆ กัน ซึ่งควรรับคำแนะนำจากแพทย์ เมื่อมีระยะเวลาการออกกำลังกาย และขนาดยาที่พอดีกันแล้ว ก็ไม่ควรเพิ่มระยะเวลาหรือออกกำลังกายอย่างหักโหม มิฉะนั้น จะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ อาจเกิดอาการ เช่น เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม ใจสั่น มือสั่น คลื่นไส้ เป็นต้น ระหว่างและหลังการออกกำลังกาย

 

 

 ผู้ป่วยที่ใช้ยาฉีดอินซูลินควรฉีดยาที่หน้าท้อง เมื่อวางแผนจะออกกำลังกาย งดการฉีดยาที่แขนหรือขา เพื่อหลีกเลี่ยงการดูดซึมของยาอย่างรวดเร็ว ไม่ควรออกกำลังกายขณะยาออกฤทธิ์สูงสุด หากใช้อินซูลินชนิดน้ำใส ซึ่งออกฤทธิ์เร็ว ควรออกกำลังกายหลังฉีดยาประมาณ 4 ชั่วโมง แต่ผู้ที่ใช้อินซูลินชนิดน้ำขุ่น ซึ่งออกฤทธิ์นาน ควรออกกำลังกายภายหลังฉีดยาประมาณ 8 ชั่วโมง

 

 

 ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อนและหลังการออกกำลังกายในระยะเริ่มแรก เพื่อให้ทราบการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือด และเรียนรู้ว่าการออกกำลังกายชนิดต่างๆ มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดของตนเองอย่างไร เพื่อจะเป็นแนวทางการปรับขนาดยา และปริมาณอาหารให้เหมาะสม เพราะภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอาจเกิดขณะออกกำลังกาย หรือภายหลังการออกกำลังกายแล้วหลายชั่วโมง

 

 

 ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ ทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกาย เพราะมีการสูญเสียน้ำทางเหงื่อ และทางลมหายใจ ซึ่งการขาดน้ำมาก เป็นผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

 

 

 ไม่ควรออกกำลังกายก่อนนอน เพราะอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะนอน

 

 

อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากการออกกำลังกายแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอื่นๆ เช่น การลดน้ำหนัก การควบคุมอาหาร การลดความเครียดและการทำกิจกรรมอื่นๆ ก็มีความสำคัญและควรได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอด้วยเช่นกัน

 

 

ภก.สัณห์ อภัยสวัสดิ์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)