Haijai.com


มะเร็งเต้านม รู้รักษารู้ป้องกัน


 
เปิดอ่าน 4624

มะเร็งเต้านม รู้รักษารู้ป้องกัน

 

 

ปัจจุบันมะเร็งเต้านมยังคงเป็นมะเร็งที่พบมากในผู้หญิง แต่ก็เป็นมะเร็งที่การรักษาได้ผลดีเช่นกัน และด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ส่งผลให้ผู้หญิงตื่นตัวกับเรื่องนี้กันมากและมาตรวจคัดกรองเพิ่มขึ้น ซึ่งการตรวจพบโรคในระยะต้นๆ ผู้ป่วยจะมีทางเลือกในการรักษาที่หลากหลาย มีโอกาสหายขาดสูง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป ดังนั้นผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จึงควรมารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำทุกปี ซึ่งวิธีตรวจคัดกรองในคนทั่วไปมี 2 วิธี ได้แก่ การทำแมมโมกราฟฟีและการทำอัลตราซาวนด์  สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และตรวจพบผลบวกต่อยีน BRCA แพทย์จะพิจารณาใช้วิธีตรวจ MRI ร่วมด้วย

 

 

อาการที่พบบ่อย

 

อาการผิดปกติของเต้านมที่นำพาผู้ป่วยมารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ (ไม่นับรวมกลุ่มที่มาตรวจคัดกรองตามปกติ) ที่พบบ่อยที่สุดคือ “คลำได้ก้อนบริเวณเต้านม” ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บ อาจมีบ้างที่มาด้วยมีความผิดปกติของผิวหนัง ซึ่งถูกดึงรั้งด้วยเนื้อมะเร็งหรือมีน้ำสีคล้ายเลือดไหลออกมาจากหัวนมแต่พบได้น้อย

 

 

ในกรณีที่ผู้ป่วยคล้ำได้ก้อนแล้วมาพบแพทย์ ก้อนที่ตรวจพบส่วนใหญ่จะมีขนาดไม่ต่ำกว่า 2 เซนติเมตร ยังมีโอกาสเป็นมะเร็งระยะแรกอยู่ แต่อาจไม่ใช่ระยะแรกเริ่มเหมือนกับที่ตรวจพบในผู้มาตรวจคัดกรองประจำปี เพราะการตรวจคัดกรองสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ก้อนมีขนาด 5 มิลลิเมตร การตรวจพบโรคในระยะต้นๆ ผู้ป่วยจะมีทางเลือกในการรักษาหลากหลายกว่า และมีโอกาสหายขาดสูง

 

 

ทางเลือกในการรักษา

 

 การตัดเต้านมออกทั้งหมด เป็นมาตรฐานการรักษามะเร็งเต้านมที่มีมาตั้งแต่อดีต และยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดในแง่ของการหายขาด แต่ถามว่าทำไมผู้หญิงจึงอยากมีทางเลือกอื่นเพิ่มเติม เหตุผลก็คือยังต้องการมีเต้านมอยู่ ในกรณีที่เป็นมากแพทย์จะไม่แนะนำให้รักษาด้วยวิธีการอื่น แต่จะเน้น “ปลอดภัยไว้ก่อน” โดยการตัดเต้านมออกทั้งหมด แต่ถ้าผู้ป่วยเป็นน้อย ก้อนมีขนาดเล็ก แพทย์จะให้ทางเลือกในการรักษา โดยซักถามถึงความต้องการของผู้ป่วยว่า ต้องการการรักษาแบบใด ยังต้องการเก็บเต้านมไว้หรือไม่ บางครั้งผู้ป่วยไม่กล้าบอกความต้องการที่แท้จริง ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้คำแนะนำว่า สามารถทำได้แต่ต้องเป็นกรณีที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าปลอดภัยจริงๆ

 

 

 การผ่าตัดแบบเก็บเต้านม การรักษามะเร็งเต้านมด้วยวิธีนี้เริ่มมีขึ้นประมาณปี ค.ศ.1970 วิธีการคือตัดเนื้อมะเร็งและเนื้อดีรอบๆ ออก แต่การรักษาด้วยวิธีนี้โอกาสการกลับเป็นซ้ำของเต้านมข้างนั้น จะมีมากกว่าการตัดเต้านมออกทั้งหมด และมีเงื่อนไข คือ ต้องฉายแสงที่เต้านม ซึ่งผู้ป่วยบางรายจะรู้สึกว่าระยะของอาการและการรักษามันไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากแพทย์จะเสนอทางเลือกนี้ให้กับผู้ป่วยที่เป็นน้อยๆ หรือระยะเริ่มต้น จึงไม่น่ามีการฉายแสงเข้ามาเกี่ยวข้อง เกิดเป็นคำถามตามมาว่า “ไม่ฉายแสงได้หรือไม่” โดยทั่วไปถ้าผู้ป่วยเลือกการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแบบเก็บเต้านมไว้ แต่ปฏิเสธการฉายแสงแพทย์จะไม่ทำให้ เพราะผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงสูงในการกลับเป็นซ้ำ และผู้ป่วยกว่าครึ่งหนึ่งที่กลับเป็นซ้ำ มะเร็งจะอยู่ในระยะแพร่กระจาย ทั้งที่ความจริงแล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรเป็นกลุ่มที่หายขาด เนื่องจากเป็นมะเร็งในระยะเริ่มต้นเท่านั้น

 

 

 การตัดต่อมน้ำนมออกทั้งหมด โดยเก็บผิวหนังไว้ การรักษาวิธีนี้เริ่มมีขึ้นประมาณปี ค.ศ.1991 ในยุโรปและอเมริกามีแนวโน้มที่จะใช้วิธีนี้ในการรักษามะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีข้อดีคือถ้าเป็นน้อยๆ แค่ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยไม่ต้องเข้ารับการฉายแสง วิธีการคือแพทย์จะตัดต่อมน้ำนมออกทั้งหมด เหลือแต่ผิวหนังไว้ในกรณีที่ก้อนอยู่ใกล้กับหัวนม จะต้องเอาหัวนมออกด้วย เพราะมีโอกาสที่มะเร็งจะลามออกมาที่ท่อน้ำนมใหญ่ เมื่อตัดต่อมน้ำนมออกบริเวณใต้ผิวหนังจะเหลือเป็นโพรง แพทย์จะทำการเสริมซิลิโคนใต้กล้ามเนื้อ ในกรณีที่ต้องทำเต้าขนาดใหญ่เพื่อให้เท่ากับอีกข้าง อาจต้องใส่แผ่นสังเคราะห์ต่อจากกล้ามเนื้อ แล้วจึงค่อยใส่ซิลิโคนตามเข้าไป หรือถ้าผู้ป่วยไม่อยากใช้ซิลิโคนเสริมเต้านมและเต้านมขนาดมใหญ่มากนัก แพทย์จะผ่าตัดนำเนื้อบริเวณข้างหลังหรือหน้าท้องมาเสริมแทน การรักษาด้วยวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยระยะเริ่มต้น แพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ในผู้ป่วยที่เป็นมากๆ เนื่องจากมีโอกาสกลับเป็นซ้ำทำให้ต้องรื้อซิลิโคนออก และมีโอกาสต้องเข้ารับการฉายแสง ซึ่งการฉายแสงจะทำให้ซิลิโคนแข็ง

 

 

ข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วย

 

นอกเหนือจากการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมกับสภาพของโรค การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยก็มีส่วนสำคัญต่อคุณภาพชีวิต และการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งมีข้อควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

 

 ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจเรื่องการดำเนินโรคว่า สามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ แม้ว่าจะได้รับการรักษาแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้ หรือต้องได้รับการรักษาเสริมด้วยวิธีอื่นๆ นอกเหนือจากการผ่าตัด เช่น การใช้ยา (ทั้งยากินและยาฉีด) การฉายแสง การทำเคมีบำบัด ฯลฯ ผู้ป่วยควรเตรียมใจรับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น ผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียน

 

 

 ในกรณีที่ได้รับยาเคมีบำบัด ซึ่งมีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยควรระวังเรื่องการติดเชื้อ ถ้ามีอาการไข้ให้รีบมาพบแพทย์ทันที

 

 

 ผู้ป่วยควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น เดิน อย่างน้อยสัปดาห์ละ 4 วัน วันละ 20-30 นาที เนื่องจากมีการศึกษาแล้วว่าการออกกำลังกายจะช่วยลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมได้

 

 

 รับประทานอาหารที่สะอาดถูกสุขอนามัย งดอาหารที่มีไขมันปริมาณมาก เช่น อาหารทอด เนื่องจากไขมันสามารถถูกเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน ถ้ามีปริมาณมากอาจไปกระตุ้นการเกิดมะเร็งเต้านมได้ นอกจากนี้ควรจำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรตไม่ให้มากเกินไป ไม่ควรงดอาหารโปรตีน แต่ให้รับประทานโปรตีนที่มีคุณภาพดี ได้แก่ เนื้อปลา เนื้อไม่ติดมัน และไข่ขาว

 

 

ผู้ที่ผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมแล้ว ควรมารับการตรวจติดตามผลอยู่เสมอๆ เนื่องจากยังมีความเสี่ยงในการกลับเป็นซ้ำได้ ในกลุ่มที่กลับเป็นซ้ำมักจะเกิดขึ้นภายใน 2 ปี ในช่วง 3-5 ปีหลังผ่าตัด มีโอกาสเปิดเป็นซ้ำได้ แต่จะพบน้อยกว่าช่วง 2 ปีแรก หลังจากห้าปีแรกหลังการผ่าตัดความเสี่ยงในการกลับเป็นซ้ำจะลดลง โดยในช่วงสองปีแรกผู้ป่วยควรมารับการตรวจร่างกายจากแพทย์ทุกๆ 3 เดือน ส่วนปีที่สามถึงปีที่ห้าควรมาตรวจทุกๆ 6 เดือน หลังจากห้าปีผ่านไป ความถี่ก็จะลดลงมาเป็นการตรวจร่างกายปีละหนึ่งครั้งทุกปี

 

 

ผศ.พญ.สุกัญญา ศรีอัษฏาพร

ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดมะเร็งเต้านม

(Some images used under license from Shutterstock.com.)