Haijai.com


กดจุด ใบหู


 
เปิดอ่าน 16786

กดจุด ใบหู

 

 

ใบหูเป็นส่วนหนึ่งของหู แม้ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าไหร่เกี่ยกับการได้ยิน ทว่าก็มีทฤษฏีเกี่ยวกับการกดจุดสะท้อนบนใบหู จึงกลายเป็นว่าส่วนที่ดูเหมือนจะไม่มีหน้าที่อะไรนี้ อาจเป็นประตูสู่การดูแลสุขภาพอย่างที่ทุกคนคาดไม่ถึง ดังผลการวิจัยที่ระบุว่าการฝังเข็มหรือกดจุดบนใบหูช่วยบรรเทาอาการต่างๆ เช่น ปวดศีรษะไมเกรน ปวดกระดูกสันหลัง น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์หรือเป็นโรคอ้วน จมูกอักเสบจากโรคภูมิแพ้ เป็นต้น การดูแลสุขภาพด้วยวิธีนี้ จึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้รักสุขภาพ ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ลดาวัลย์ อุ่นประเสริฐพงศ์ นิชโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์การแพทย์แบบผสมผสานกับการแพทย์ทางเลือก (Complementary and Alternative Medicine) มาให้รายละเอียดเพิ่มเติมในประเด็นนี้

 

 

การนวดกดจุดสะท้อน

 

ผศ.ดร.ลดาวัลย์ อุ่นประเสริฐพงศ์ นิชโรจน์ ได้ให้คำอธิบายถึงศาสตร์การนวดกดจุดสะท้อน (Reflexology) ว่า ภายใต้ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ใบหน้า และใบหู ต่างมีจุดที่เป็นตัวแทนของอวัยวะต่างๆ การกระตุ้นจุดหรือเขตสะท้อนเหล่านี้ ช่วยทำให้การทำงานของอวัยวะนั้นๆ กลับคืนสู่สภาพปกติ บ่อยครั้งที่เราไม่สามารถกระตุ้นอวัยวะดังกล่างโดยตรงได้ เช่น ในกรณีนอนไม่หลับ ซึ่งอาจจะเกิดจากภาวะที่สมองคลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินลดน้อยลง แต่เราไม่สามารถไปกดจุดกระตุ้นที่สมองได้ ดังนั้น เราจึงต้องกดจุดที่เป็นตัวแทนของสมอง ซึ่งจะอยู่ที่ตรงกลางระหว่างคิ้ว นิ้วโป้งของมือและเท้าทั้งสองข้างแทน

 

 

นอกจากนี้การนวดกดจุดสะท้อน ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของพลังบำลัด (Energy Healing) ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ให้ถูกหลักการ เพราะพลังต้องเดินให้ถูกทิศ พลังเหล่านี้มีเส้นทางเดินเรียกว่าเส้นโคจรพลังไหลเวียนไปตามจุดต่างๆ ของร่างกาย การนวดต้องทำให้พลังเสริมทิศกันกับการไหลเวียนของเลือดเข้าสู่หัวใจ ต้องรู้ว่าควรกดจุดไหน เพื่อเสริมให้พลังนั้นวิ่งไปตามเส้นโคจรพลัง (Meridian Line) ในศาสตร์การแพทย์แผนจีนกล่าวไว้ว่า ถ้าพลังเดินได้โดยไม่ติดขัดแสดงว่าบุคคลมีสุขภาพดี แต่เมื่อใดก็ตามที่พลังติดขัดแสดงว่ากำลังเกิดปัญหาสุขภาพขึ้น ณ จุดนั้น ซึ่งในระหว่างการนวดกดจุด ผู้นวดที่ผ่านการฝึกฝนอบรมมาอย่างถูกต้อง จะรับรู้ได้ว่าพลังติดขัดตรงไหน

 

 

ข้อควรรู้ในการนวดกดจุด

 

แน่นอนว่าเมื่อจะรับการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่ง เราย่อมหวังว่าผลจะออกมาดีที่สุด อย่างไรก็ตามเราจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษานั้นๆ ด้วย ว่ามีข้อห้ามหรือข้อพึงปฏิบัติอย่างไร และกลุ่มใดที่ไม่ควรนวดกดจุดสะท้อน ซึ่งกลุ่มที่ไม่ควรรับการนวดมีดังนี้

 

 ผู้ที่ตั้งครรภ์ระหว่าง 1-3 เดือนแรก เพราะการนวดกดจุดสะท้อน อาจจะทำให้มดลูกบีบตัวแรงขึ้น

 

 

 ผู้ที่มีแผลเปิดตรงบริเวณที่จะนวดกดจุดสะท้อน เพราะการนวดตรงบริเวณที่มีแผลเปิด อาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อ

 

 

 ผู้ที่มีไข้สูง

 

 

 ผู้ที่มีอาการหลอดเลือดดำอักเสบ ควรหลีกเลี่ยงการนวดจุดสะท้อนที่ฝ่าเท้า เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ลิ่มเลือดจะหลุดไปอุดหัวใจ

 

 

 ผู้ที่มีเชื้อราที่ง่ามเท้า ควรหลีกเลี่ยงการนวดกดจุดที่ฝ่าเท้า เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

 

 

 ผู้ที่มีปัญหาเลือดไหลออกง่าย เกล็ดเลือดต่ำ หรือใช้ยาที่ทำให้เลือดไหลออกง่าย เช่น คลอพิโดเดรล วาร์ฟาริน แอสไพริน เป็นต้น

 

 

ส่วนวิธีการนวดที่มีประสิทธิภาพนั้น ผู้นวดจะต้องได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี จนสามารถนวดในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะถ้านวดผิดทิศทางจะทำให้ผู้ถูกนวดอ่อนแรงหรือเกิดอาการบวมได้ นอกจากนี้ยังต้องรู้จักกำหนดแรงในการนวดให้เหมาะสม เพื่อให้จุดหรือเขตสะท้อนได้รับการกระตุ้น แต่ก็ต้องไม่มากเกินไป จนเกิดอาการเขียวช้ำ ในกรณีที่นวดให้ผู้อื่นต้องรู้จักซักถามและสังเกตสีหน้าของผู้รับการนวด

 

 

ความสัมพันธ์ของส่วนต่างๆ บนใบหูกับส่วนต่างๆ ของร่างกาย

 

 

กดจุด ใบหู

 

 

1.ขอบใบหู

 

1A. รากขอบใบหู – กระบังลม บริเวณรอบๆ รากขอบใบหูสัมพันธ์กับระบบทางเดินอาหาร

 

1B. หางขอบใบหู

 

2.แอ่งระหว่างขอบใบหูและโค้งตรงข้ามขอบใบหู – แขนและมือ

 

3A. โค้งตรงข้ามขอบใบหูแขนงบน – ขา

 

3B. โค้งตรงข้ามขอบใบหูแขนล่าง – สะโพก

 

3C. โค้งตรงข้ามขอบใบหู – ลำตัว

 

4.แอ่งสามเหลี่ยม – อุ้งเชิงกรานและอวัยวะสืบพันธุ์ภายใน

 

5.แอ่งใบหูด้านบน – ช่องท้อง

 

6.แอ่งใบหูด้านล่าง – หน้าอก

 

7.ติ่งหน้ารูหู – ระบบทางเดินหายใจและต่อมหมวกไต

 

8.รอยตัดเหนือติ่งหน้ารูหู – หูชั้นนอก

 

9.รอยตัดระหว่างติ่งหน้ารูหู – ต่อมไร้ท่อ

 

10.บริเวณตรงข้ามติ่งหน้ารูหู – ต่อมไร้ท่อ

 

11.รอยตัดระหว่างบริเวณตรงข้ามติ่งหน้ารูหู และโค้งตรงข้ามขอบใบหู – ก้านสมอง

 

12.ติ่งหู – ศีรษะและใบหน้า

 

 

การกดจุดสะท้อนบนใบหู

 

การกดจุดสะท้อนบนใบหูมีมาตั้งแต่สมัยโบราณทั้งในซีกโลกตะวันออกและซีกโลกตะวันตก ตำราการแพทย์แผนจีนอย่างหวงตี้เน่ยจิงได้บันทึกถึงความสำคัญของใบหูว่า “หูเป็นจุดเชื่อมของเส้นลมปราณต่างๆ และเอ็น” นอกจากนี้ตำราการแพทย์ที่ถูกค้นพบที่เนินหม่าหวาง เมืองฉางซา มณฑลหูหนานเมื่อปี พ.ศ.2516 ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างตำแหน่งบนใบหูกับมือและเท้าทั้งสองข้าง ตำราการแพทย์อื่นๆ เช่น “ซูเฉินเหลียงฟาง” ตลอดจน “ทงอึยโบกัม” ของหมอโฮจุน ล้วนกล่าวถึงการนวดใบหูว่าเป็นวิธีการบำรุงสุขภาพประการหนึ่ง

 

 

ในซีกโลกตะวันตกบางชนเผ่าที่อาศัยบริเวณคาบสมุทรอาหรับ ใช้ความร้อนกระตุ้นบริเวณใบหูเพื่อรักษาความเจ็บป่วย ฮิปโปเครตีส ซึ่งเป็นแพทย์ชาวกรีกโบราณได้พูดถึงการเจาะหลือดเลือดดำบริเวณด้านหลังใบหู เพื่อรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ชาวยุโรปในยุคต่อมา ได้สังเกตถึงความสัมพันธ์ระหว่างการกระตุ้นบางตำแหน่งบนใบหูกับการบรรเทาอาการปวดตามตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย จนกระทั่งปี พ.ศ.2500 นพ.ปอล โนจิเอร์ ซึ่งเป็นแพทย์ชาวฝรั่งเศสได้ศึกษาเรื่องนี้โดยละเอียด และสร้างแผนภาพแสดงจุดต่างๆ บนใบหูที่สัมพันธ์กับอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยมองว่า ใบหูเมหือนทารกในครรภ์ที่หัวกลับลงแล้ว โดยตำแหน่งติ่งหูเทียบได้กับศีรษะ

 

 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากใบหูมีขนาดเล็กจึงไม่ค่อยนิยมทำการกดจุดสะท้อนบนใบหู เพราะจะไปไม่ถึงจุดที่ต้องการ แต่จะเลือกใช้วิธีการฝังเข็มกันมากกว่า การฝังเข็มที่ใบหูสามารถทำได้ โดยการนำเข็มที่ใช้ในการฝังเข็มมากระตุ้นจุดบนใบหู หรือใช้เมล็ดผักกาดวางไว้บนจุดที่ใบหู แล้วแปะพลาสเตอร์ทับลงไป จากนั้นให้กดเมล็ดผักกาดครั้งละ 2-3 นาที วันละ 3-5 ครั้ง ปัจจุบันมีการพัฒนาเม็ดแม่เหล็ก (magnetic beads) สำหรับกระตุ้นจุดบนใบหู งานวิจัยหลายงานได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการฝังเข็มที่จุดบนใบหูว่า สามารถรักษาอาการปวดไมเกรน ปวดกระดูกสันหลัง น้ำหนักเกิน/อ้วน จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นต้น อย่างไรก็ตามวิธีการกระตุ้นจุดดังกล่าวข้างต้น ควรทำโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

 

 

ดูแลสุขภาพผ่านใบหูด้วยตนเอง

 

หากเราต้องการจะส่งเสริมสุขภาพ โดยผ่านจุดกระตุ้นที่หู มีบางวิธีที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ควรตัดเล็บให้สั้นก่อนที่จะนวดใบหู ควรถอดตุ้มหูออกก่อนทำการนวด เพื่อป้องกันใบหูบาดเจ็บ และใช้แรงในการนวดที่เหมาะสม ไม่รุนแรงเกินไป

 

 ขั้นที่หนึ่ง วางนิ้วหัวแม่มือไว้ที่ติ่งหูด้านหลัง และวางนิ้วชี้ไว้ติ่งหูด้านหน้า บีบ นับ 1-5 ในใจ แล้วคลายออก การกระตุ้นติ่งหูเป็นการกระตุ้นสมองจึงเริ่มที่จุดนี้ก่อน จะช่วยให้สดชื่น ไม่ง่วงเหงาหาวนอน

 

 

 ขั้นที่สอง นวดขอบใบหู โดยนำนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือบีบคลึงตามแนวขอบใบหู

 

 

 ขั้นที่สาม นวดโค้งตรงข้ามขอบใบหู โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือบีบคลึง การนวดตรงนี้จะช่วยเรื่องของกระดูกสันหลัง

 

 

 ขั้นสุดท้าย นวดที่จุดกระเพาะอาหาร ซึ่งจะช่วยให้ไม่หิว จุดกระเพาะอาหารจะอยู่ตรงปลายรากขอบใบหูที่ยื่นเข้าไปในแอ่งใบหู และแบ่งแอ่งดังกล่าวออกเป็นด้านบนและล่าง เวลานวดให้กดย้ำ คือ กดลงไปแล้วนับ 1-5 ในใจ จากนั้นปล่อ่ย

 

 

ขอแถมท้ายวิธีการบริหารใบหูแบบจีน ซึ่งนำมาจากการนวดกดจุดใบหูและตรวจรักษาผ่านจุดใบหู อันน่าอัศจรรย์โดยแพทย์จีนเซวียติ้งหมิง ท่าต่างๆ ซึ่งทำกับหูทั้งสองข้างพร้อมกันมีดังนี้

 

 ท่าที่หนึ่ง ใช้ฝ่ามือถูกันจนร้อนแล้วนำฝ่ามือมาถูใบหูไปด้านหลัง เพื่อนวดใบหูด้านหน้า จากนั้นเคลื่อนที่ย้อนกลับมาด้านหน้า เพื่อนวดใบหูด้านหลัง

 

 

 ท่าที่สอง ฝ่ามือทั้งสองข้างกำหมัด วางตำแหน่งนิ้วหัวแม่มือให้ตรงกับขอบใบหู ตำแหน่งของนิ้วชี้ตรงกับโค้งตรงข้ามขอบใบหู แล้วเคลื่อนที่นิ้วทั้งสองขึ้นลงหลายๆ ครั้ง

 

 

 ท่าที่สาม ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้หนีปลายด้านบนใบหูตรงจุดสูงสุดของใบหู แล้วดึงขึ้น

 

 

 ท่าที่สี่ นำนิ้วชี้วางไว้ตรงบริเวณรอยตัดระหว่างติ่งหน้ารูหู ส่วนนิ้วหัวแม่มือวางไว้ที่ติ่งหูด้านหลัง แล้วจึงดึงบริเวณตรงข้ามติ่งหน้ารูหูและติ่งหูออกไปด้านนอก

 

 

 ท่าที่ห้า เริ่มจากนำนิ้วชี้หมุนตามเข็มนาฬิกาตรงแอ่งสามเหลี่ยมจนร้อน แล้วจึงทำเช่นเดียวกันที่แอ่งใบหูด้านบนและด้านล่าง จากนั้นนำนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือบีบนวดตามบริเวณตรงข้ามติ่งหน้ารูหูและติ่งหู ตบท้ายด้วยการใช้นิ้วชี้นวดกลับไปกลับมาตามโค้ง ตรงข้ามขอบใบหูและขอบใบหู

 

 

อาจทำด้วยกันทุกๆ ท่า หรือเลือกทำแค่ท่าใดท่าหนึ่งก็ได้ ในแต่ละวันให้บริหารใบหูวันละ 1-2 ครั้ง แต่ละท่าทำประมาณ 20-30 ครั้ง

 

 

ผศ.ดร.ลดาวัลย์ อุ่นประเสริฐพงศ์ นิชโรจน์

ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์การแพทย์แบบผสมผสานกับการแพทย์ทางเลือก

(Some images used under license from Shutterstock.com.)