© 2017 Copyright - Haijai.com
การวัดความดันโลหิต
ความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่มักไม่มีอาการ แต่สามารถส่งผลแทรกซ้อนในระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอัมพฤกษ์และอัมพาต ดังนั้น การวัดความดันโลหิตด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยเฝ้าระวังความเสี่ยงและเตือนให้ไปพบแพทย์ เมื่อความดันโลหิตเริ่มสูงผิดปกติ โดยที่ยังไม่เกิดอาการหรือภาวะแทรกซ้อนของโรค
ควรวัดความดันโลหิตเมื่อใด
• เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หน้ามืด ใจสั่น เป็นลมหมดสติ ปวดท้อง หรือมีภาวะที่ทำให้สูญเสียน้ำ หรือเลือดออกจากร่างกายในปริมาณมาก เพราะอาการข้างต้นอาจทำให้ระดับความดันโลหิตสูงหรือต่ำผิดปกติได้
• วัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอในผู้ที่มีอายุมากวก่า 35 ปีขึ้นไป อย่างน้อยที่สุดปีละ 2 ครั้ง
• ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ หรือไทรอยด์เป็นพิษ เนื่องจากโรคเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับโรคความดันโลหิตสูง
การเลือกเครื่องวัดความดันโลหิต
เครื่องวัดความดันโลหิตที่ใช้ในบ้านควรเป็นชนิดดิจิตอล เนื่องจากสามารถพกพาได้ง่ายและสะดวกในการใช้งาน สามารถแสดงผลเป็นตัวเลขที่หน้าจอพร้อมกับอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้จดบันทึกแปลผลได้ง่าย บางชนิดสามารถพิมพ์ผลค่าที่วัด และจดจำค่าความดันโลหิตย้อนหลังได้ เครื่องวัดความดันชนิดดิจิตอลมีให้เลือกดังนี้
• ชนิดบีบลมเอง เป็นเครื่องที่มีราคาถูก พกพาง่าย แต่ต้องใช้มือในการบีบลม
• ชนิดมีมอเตอร์บีบลมเอง ใช้งานง่ายเพียงแค่กดปุ่ม
• ชนิดพันข้อมือ สามารถวัดความดันโลหิตได้ง่ายเพียงใส่สายรัดที่ข้อมือ พกพาสะดวกแต่มีราคาแพง
วิธีการวัดความดันโลหิต
• สถานที่ใช้ตรวจต้องเงียบและเป็นส่วนตัว ก่อนวัดความดันโลหิตให้นั่งพัก 15 นาทีบนเก้าอี้ ห้ามนั่งไขว่ห้าง หลังพิงพนัก เท้าอยู่บนพื้น
• เครื่องวัดความดันโลหิตและแขนที่จะวัดอยู่แนวเดียวกับระดับหัวใจ และวัดความดันโลหิตที่แขนขวาเสมอ ไม่ควรใส่เสื้อแขนยาวขณะวัดความดันโลหิต
• ขณะวัดไม่ควรมีความเครียด อาการเจ็บปวด ไม่ปวดปัสสาวะ ไม่ควรวัดความดันหลังรับประทานอาหาร ควรงดบุหรี่และกาแฟก่อนวัดความดันโลหิต 30 นาที
การแปลผลค่าความดันโลหิต
โดยปกติแล้ว การวัดค่าความดันโลหิตจะแสดงผลออกมา 2 ค่า บันทึกค่าเป็นสัดส่วน เช่น 130/80 mmHg
• Systolic คือ ค่าตัวบนซึ่งมีค่ามากกว่า เป็ฯการวัดค่าความดันของหลอดเลือดแดงในขณะที่หัวใจบีบตัว
• Diastolic คือ ค่าตัวล่างซึ่งมีค่าน้อยกว่า เป็นการวัดค่าความดันในหลอดเลือดแดง ในขณะที่หัวใจคลายตัว
• Pulse rate คือ อัตราการเต้นของหัวใจใน 1 นาที ค่าความดันโลหิตของผู้ใหญ่ สามารถแผลผลได้ ดังนี้
ค่าความดันโลหิต |
ปกติ |
ระยะก่อนที่จะเป็นความดันโลหิตสูง |
ความดันโลหิตสูง ระยะที่ 1 |
ความดันโลหิตสูง ระยะที่ 2 |
Systolic |
น้อยกว่า 120 mmHg |
120-139 mmHg |
140-159 mmHg |
สูงกว่า 160 mmHg |
Diastolic |
น้อยกว่า 80 mmHg |
80-89 nnHg |
90-99 mmHg |
สูงกว่า 100 mmHg |
หากวัดความดันโลหิตแล้วอยู่ในช่วงที่สูงกว่าค่าปกติเพียงครั้งเดียว จะยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่หากมีการวัดซ้ำ 3 ครั้ง ในโอกาสที่แตกต่างกันแล้ว ยังได้ค่าที่สูงกว่าปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาต่อไป ในกรณีที่วัดความดันโลหิตแล้วอยู่ในช่วงที่ต่ำกว่าค่าปกติ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ หรือไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติม
นพ.คมน์สิทธิ์ เดชะรินทร์
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
(Some images used under license from Shutterstock.com.)