© 2017 Copyright - Haijai.com
การวัดอุณหภูมิร่างกาย
มนุษย์เป็นสัตว์เลือดอุ่น ดังนั้น ร่างกายมนุษย์จึงมีกลไกที่จะรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่อยู่เสมอ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม เมื่ออากาศร้อนร่างกายจะขับความร้อนออกมา เช่น เหงื่อออก ปัสสาวะบ่อย เป็นต้น ในทางกลับกันเมื่อสิ่งแวดล้อมมีอุณหภูมิลดต่ำลง หลอดเลือดที่ผิวหนังจะหดตัว ขนลุกชันและกล้ามเนื้อจะมีการสั่นเพื่อสร้างความร้อนขึ้นมา
ตำแหน่งที่ใช้วัดอุณหภูมิร่างกาย
• วัดอุณหภูมิทางปาก โดยอุณหภูมิปกติ คือ 36.8 C
• วัดอุณหภูมิทางรักแร้ โดยอุณหภูมิปกติ คือ 36.4 C
• วัดอุณหภูมิทวารหนัก (นิยมใช้ในเด็กเล็ก) โดยอุณหภูมิปกติ คือ 37.6 C
หากวัดอุณหภูมิได้มากกว่า 37.8 C จะถือว่ามีไข้ให้ปฐมพยาบาลด้วยการเช็ดตัวลดไข้ ซึ่งสามารถทำได้บ่อยครั้งร่วมกับรับประทนยาลดไข้ทุก 4-6 ชั่วโมง
สาเหตุของไข้
• การติดเชื้อ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา
• ยาบางชนิดทำให้เกิดไข้ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาเสพติด ยาแก้แพ้
• โรคบางชนิด เช่น โรคมะเร็ง
วิธีการวัดอุณหภูมิ
• การวัดอุณหภูมิทางปาก เป็นตำแหน่งที่นิยมวัดมากที่สุด โดยก่อนใช้งานให้สะบัดแท่งปรอทเพื่อให้สารปรอทลดระดับลงมาอยู่ที่กระเปาะ ใส่ปลายปรอทไว้ใต้ลิ้น รอจนกระทั่งอุณหภูมิคงที่จึงอ่านค่าอุณหภูมิที่วัดได้
• การวัดอุณหภูมิทางทวารหนัก เป็นตำแหน่งที่วัดอุณหภูมิได้แม่นยำที่สุด เหมาะสำหรับการวัดอุณหภูมิทารกหรือเด็กเล็ก วิธีการวัดคือจัดให้เด็กนอนคว่ำ ทาสารหล่อลื่นที่ปลายปรอท แง้มแก้มก้น ใส่ปรอทเข้าไปในรูทวารประมาณ ½ - 1 นิ้ว รอสังครู่จนอุณหภูมิคงที่และอ่านค่าอุณหภูมิที่วัดได้
• การวัดอุณหภูมิที่รักแร้ ค่าอุณหภูมิที่วัดได้จากรักแร้จะต่ำกว่าที่วัดได้จากทางปากประมาณ 0.6 C วิธีการวัดเช่นเดียวกับการวัดอุณหภูมิทางปาก
ทั้งนี้ข้อผิดพลาดของการตรวจวัดไข้ อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ ปรอทวัดไข้ไม่สัมผัสกับพื้นที่ผิว เช่น อมปรอทไม่สนิท หนีบปรอททางรักแร้ไม่แน่น ไม่สะบัดปรอทก่อนนำมาใช้งาน วัดอุณหภูมิหลังจากรับประทานยาลดไข้ ทำให้อุณหภูมิที่วัดได้ต่ำกว่าความเป็นจริง ผู้วัดไข้จึงต้องพึงระวังในเรื่องนี้ด้วย
นพ.คมน์สิทธิ์ เดชะรินทร์
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
(Some images used under license from Shutterstock.com.)