
© 2017 Copyright - Haijai.com
หลบแดด เลี่ยงมะเร็ง
มะเร็งผิวหนังเป็นมะเร็งที่พบบ่อย มีอยู่สามชนิด ปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้คือคนที่ผิวขาว โดนแสงแดดมากควรป้องกัน โดยการหลีกเลี่ยงแสงแดด ถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรป้องกันโดยการใช้ครีมกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง ใส่แว่นกันแดด และเลือกเครื่องนุ่งห่มสีเข้ม คนที่มีความเสี่ยงควรตรวจร่างกายตัวเองเป็นประจำ
นักเล่นเทนนิสเมืองไทยส่วนมากมักเล่นบนสนามกลางแจ้ง ทำให้ถูกแดดแผดเผา บางคนชอบเทนนิสมาก เล่นกลางแดดจ้าได้โดยไม่กลัวเกรง จนผิวดำกร้าน ไม่กลัวว่าพิษของแสงแดดจะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ แสงแดดจำนวนน้อยๆ มีผลดีในการกระตุ้นให้ผิวหนังสร้างวิตามินดีขึ้นมา ซึ่งเอื้อต่อสุขภาพ เช่น การสร้างกระดูกให้แข็งแรง แต่ถ้าถูกแสงแดดแผดเผามากๆ รังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดจะทำให้เกิดความเสียหายของเซลล์ผิวหนังเป็นผลให้เกิดมะเร็งได้ เราสามารถจำแนกชนิดของมะเร็งผิวหนังออกเป็น 3 ชนิดตามพยาธิสภาพ ได้แก่
• มะเร็งชนิดเบซาลเซลล์ (basal cell carcinoma) เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบมากที่สุด มีลักษณะเป็นตุ่มหรือแผ่นสีเนื้อมีผิวมันๆ คล้ายไข่มุก มักเกิดในที่โดนแสงแดดประจำ มักจะรักษาหายได้ ถ้าตรวจพบและรักษาทันท่วงที ถ้ารักษาช้ามันจะขยายวงแพร่กระจาย
• มะเร็งชนิดสะเควมัสเซลล์ (squamous cell carcinoma) เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเช่นกัน มีลักษณะเป็นก้อนแข็งสีแดงหรือเป็นแผ่น ซึ่งมีผิวเป็นเกล็ดหรือแผ่นขรุขระ มักพบในบรเวณนอกร่มผ้า ถ้าตรวจและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ มักจะได้ผลดี แต่ถ้าทิ้งไว้จนเป็นมากแล้วจะรักษาไม่หาย
• มะเร็งชนิดเมลาโนมา (melanoma) พบไม่บ่อย แต่มักจะรุนแรงและแพร่กระจายได้ มะเร็งผิวหนังชนิดนี้ถือกำเนิดจากเซลล์ผลิตรงควัตถุสีดำที่ในภาษาแพทย์เรียกว่า melanocyte โดยปกติแล้วจะทำให้ผิวหนังของเรามีสีดำคล้ำเมื่อโดนแสงแดด มันเริ่มต้นคล้ายไฝดำแล้วเปลี่ยนแปลงไปในทางร้าย มักจะเกิดนอกร่มผ้า แต่ในร่มผ้าก็เกิดได้โดยเฉพาะในฝรั่งที่ชอบอาบแดด วงการแพทย์ไทยมักเรียกมะเร็งผิวหนังชนิดนี้ว่า “มะเร็งไฝดำ” ไฝที่เป็นมะเร็งมักจะมีลักษณะต่างจากไฝดำธรรมดา คือ ขอบจะไม่เห็นแน่ชัด สีดำไม่สม่ำเสมอ บางอันดำครึ่งด่างครึ่ง ถ้าเป็นแบบนี้ต้องปรึกษาแพทย์
มะเร็งผิวหนังในเมืองไทยยังไม่เคยเห็นสถิติแน่ชัด แต่ที่สหรัฐอเมริกาได้มีการประมาณการณ์ไว้ว่า อาจมีรายใหม่เกิดขึ้นราว 74,000 รายในปี 2014 (ที่จริงอาจจะมากเป็นล้าน เนื่องจากมะเร้งแบบไม่ใช่เมลาโนมา มักจะไม่ปรากกฏในการลงทะเบียนมะเร็ง) สำหรับเมลาโนมานั้นพบว่าในช่วงระยะเวลา 30 ปี ที่ผ่านมา มีอัตราเพิ่มขึ้นมากมายแค่ระหว่างปี ค.ศ.2006- คศ.2010 พบเพิ่มขึ้นในคนผิวขาวคิดเป็นอัตรา 2.7% ต่อปี ซึ่งมีการประมาณการณ์ว่าในชั่วชีวิตคน 50 คนจะมี 1 คนที่เป็นมะเร็งไฝดำ
คนที่เคยเป็นมะเร็งผิวหนังมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งอย่างอื่นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เคยเป็นมะเร็งผิวหนังตอนเป็นเด็ก จากรายงานการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้พบว่า คนที่เคยเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดที่ไม่ใช่เมลาโนมามีความเสี่ยงเป็นมะเร็งอย่างอื่น 36% มากกว่าคนที่ไม่เคยมีประวัติมะเร็งผิวหนังที่ไม่ใช่เมลาโนมา ดังนั้น ถ้าคุณเคยเป็นมะเร็งผิวหนังมาก่อน คุณควรมีความตื่นตัวให้ความสำคัญต่อการเช็คหามะเร็งอย่างอื่นเป็นประจำด้วย
ปัจจัยเสี่ยง
• การโดนแสงแดดมากเกินไป ใครก็ตามที่ต้องออกไปอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน อาจจะเกิดมะเร็งผิวหนังได้ ถ้าไม่มีการป้องกันแสงแดด การอบตัวให้ผิวคล้ำที่ฝรั่งชอบทำกัน แม้ว่าจะอบโดยใช้ตะเกียงแสงไฟฟ้าก็มีความเสี่ยงการเป็นมะเร็งผิวหนังเพิ่มขึ้นได้เหมือนกัน
• คนที่มีผิวขาว คือ คนที่มีรงควัตถุสีดำน้อย (สีผิวดำ สามารถป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดได้) เป็นคนที่จะเกิดมะเร็งผิวหนังได้ง่าย
• คนที่มีประวัติผิวหนังไหม้เมื่อโดนแดดแผดเผาในขณะที่เป็นเด็ก หรือแม้จะเป็นผู้ใหญ่ ก็มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนังได้มากกว่าปกติ
• การอยู่ในที่สูงและมีแสงแดดมาก ก็เป็นความเสี่ยงคนที่อยู่ในเมืองร้อน เสี่ยงกว่าคนเมืองหนาว เพราะถูกแสงแดดมากกว่า และคนที่อยู่ในที่สูงก็เสี่ยงมากกว่า เพราะในที่สูงจะโดนแสงแดดแรงกว่าและมีรังสีมากกว่า
• คนที่มีไฝมากโดยเฉพาะไฝที่ผิดปกติมีความเสี่ยงมะเร็งผิวหนังมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีประวัติเป็นมะเร็งไฝในครอบครัวด้วย
• ประวัติมะเร็งผิวหนังในครอบครัว
• ภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอมีความเสี่ยงต่อมะเร็งผิวหนังมากกว่าปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ และคนที่กินยากดภูมิต้านทาน
คนที่มีความเสี่ยงดังกล่าวควรให้ความสนใจ โยการตรวจร่างกายตัวเอง ตรวจผิวหนังตัวเองเป็นประจำ โดยใช้กระจกด้ามถือและกระจกผนัง พร้อมกับแสงสว่างที่เพียงพอ ส่องดูความเปลี่ยนแปลงในที่ต่างๆ ไม่เฉพาะบริเวณนอกร่มผ้าที่โดนแสงแดด แต่ในร่มผ้า ซอกนิ้วเท้า ซอกขา ซอกหู ไรผม ก็ควรดูให้ทั่ว เพ่งดูไฝหาความผิดปกติ เพ่งรอยโรคที่อยู๋ในร่มผ้าที่หลบจากสายตา ซึ่งยิ่งอันตรายมากเพราะบางที่กว่าจะสังเกตพบก็เป็นโรคมากแล้ว
การรักษา
การรักษาถ้าเป็นมะเร็งผิวหนังที่เพิ่มเริ่มเป็นอยู่ในผิวหนังส่วนผิวๆ แค่ผ่าตัดเอาออกให้หมดก็เพียงพอแล้ว ถ้าต้องรักษาเพิ่มหมอโรคผิวหนัง อาจจะใช้ไนโตรเจนเหลวจี้แข็งมะเร็ง (cryosurgery) หรือใช้เข็มไฟฟ้าจี้ หรือใช้แสงเลเซอร์จี้ หรือใช้แสงรักษา (photodynamic) ใช้การผ่าตัดเอามะเร็งออก บางกรณีต้องผ่าตัดวิธีพิเศษซับซ้อนขึ้น หรือใช้ยากระตุ้นภูมิต้านทานฆ่ามะเร็ง (immunotherapy) ในบางรายอาจจะต้องใช้การฉษยรังสีช่วยในกรณีที่ผ่าเอาออกไม่หมด ถ้ามะเร็งแพร่กระจายจำเป็นต้องใช้เคมีบำบัดเข้ามาเสริม การรักษามะเร็งผิวหนังส่วนใหญ่ ทำให้คลินิกของหมอโณคผิวหนัง มีบางส่วนเท่านนั้นที่รักษาโดยศัลยแพทย์ การตรวจพบแต่เนิ่นๆ จึงมีผลดี ไม่ต้องผ่าตัดใหญ่
การป้องกัน
• หลีกเลี่ยงแสงแดดตอนกลางวัน เพราะมันเป็นแสงที่แรงที่สุด แม้ว่าจะเป็นในฤดูหนาวหรือในขณะที่มีเมฆครึ้ม
• ใช้ยาทากันแดดตลอดปี แม้ว่ายาทากันแดดจะไม่สามารถรองรังสีอัลตราไวโอเลตออกไปได้หมด แต่มันมีบทบาทสำคัญในการป้องกันแดด ควรใช้ครีมกันแดดที่มีความสามารถในการกรองแสงแดดมากขนาดเบอร์ SPF15 จะดีมาก (SPF=sun protection factor) ควรใช้ปริมาณให้มากเพียงพอในทุกจุดที่ต้องโดนแดด ไม่ว่าจะเป็นจมูก ปาก ใบหู ฯลฯ
• ใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่มที่กันแดดได้ ควรเป็นเสื้อผ้าที่มีสีเข้ม ไม่ใช่สีขาว สีจางๆ เพราะสีเข้มแม้จะอมความร้อนแต่มันป้องกันแสงสีขาว ซึ่งอันตรายไม่ให้ผ่านไปโดนผิวหนังได้ ส่วนเครื่องนุ่งห่มสีขาวหรือสีจางๆ จะป้องกันไม่ได้ ควรสวมหมวกปีกกว้างป้องกันใบหน้าและลำคอ อย่าลืมสวมแว่นกันแดดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดที่ป้องกันรังสี UVA และ UVB
• ไม่ควรเห่อตามฝรั่งในการอบตัว โดยใช้ตะเกียงไฟฟ้าให้ผิวคล้ำ คติพจน์ที่ว่า dark, tall and handsome ไม่ดีต่อผิวหนังแน่
นอกจากนี้ยาบางอย่างยังมีผลข้างเคียง ทำให้ผิวหนังมีความไวต่อแสงแดด ดังนั้นถ้าคุณมีความเสี่ยง ควรถามแพทย์หรือเภสัชกรถึงเรื่องนี้ เพื่อหลีกเลี่ยง ในกรณีที่มีความเสี่ยงตามที่กล่างถึงข้างต้นและไม่สามารถตรวจผิวหนังตัวเองได้ทั่ว ควรให้แพทย์หรือพยาบาลตรวจร่างกายให้ ถ้าเห็นรอยโรคใด ไม่ควรไว้ใจ ควรพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการวินิจฉัย
นพ.นริศ เจนวิริยะ
ศัลยแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)