
© 2017 Copyright - Haijai.com
เคล็ดลับ สร้างลูกให้วิธีคิดวิเคราะห์ อย่างมีเหตุผล
การคิดวิเคราะห์และความมีเหตุผล เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่อง ที่ดูเหมือนว่าจะสอนกันยากเย็นเหลือเกิน แต่ก็ไม่ได้ยากเกินความสามารถของคุณแม่ทั้งหลายอยู่แล้ว เรามีเคล็ดลับดีๆ มาฝากค่ะ
สำหรับเด็กวัย 3-4 ปี
“หลังจากที่ครูสอนเรื่องการจัดกลุ่ม หนูนิดวัยสามขวบ กำลังนั่งต่อบล็อกให้สูงขึ้นไปเป็นหอคอย โดยไม่มีทีท่าว่าจะหยุด เพราะครูบอกว่าหนูนิดสามารถต่อได้ “สูง” กว่านี้อีก”
คำพูดของครูช่วยให้หนูนิดคิดตามและมีประสบการณ์ในการประมวลความคิดวิเคราะห์ เด็กวัยก่อนวัยเรียนจะมีกระบวนการพัฒนาเกี่ยวกับการเรียนรู้และการทำความเข้าใจสิ่งแวดล้อม โดยการที่รวมรวมไว้จากประสบการณ์ของตัวเอง เพื่อนำไปสู่การเข้าใจโลกรอบตัว
เด็กจะเข้าใจสิ่งที่ตาเห็นมากกว่าการเข้าใจโดยใช้หลักตรรกะ จึงจำเป็นจะต้องผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบหลายๆ ครั้ง ก่อนที่เขาจะสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ต่างๆ ได้
เรียนรู้จากความยากลำบากและความผิดพลาด
นอกจากจะส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่นในแต่ละวันแล้ว สิ่งที่ต้องทำก็คือจดจำวิธีการหรือกระบวนการคิดของเด็กให้ได้ ซึ่งลักษณะส่วนใหญ่ของเด็กวัยนี้จะมีดังนี้
ตัดสินด้วยสิ่งที่เห็น เมื่อเขาเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มันเป็นการยากที่เขาจะเข้าใจว่าปริมาตรที่เปลี่ยนไปนั้นไม่ได้ทำให้ปริมาณเปลี่ยนด้วย อย่างเช่น เมื่อคุณเทขนมรูปสัตว์ออกจากกล่องหนึ่งไปอีกกล่องหนึ่ง ซึ่งเล็กกว่า พอมันล้น เด็กจะไม่เข้าใจว่าปริมาณของขนมยังเท่าเดิม และหากเราถามว่าทำไมถึงมีขนมมากขึ้น เขาจะไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น
มองของสิ่งเดียวในเวลาเดียว สำหรับเด็กวัยนี้เป็นเรื่องยากที่เขาจะโฟกัสสิ่งของอื่นๆ ด้วย นอกเหนือจากสิ่งที่อยู่ในการรับรู้ เขาจะมองของที่อยู่ในความสนใจเพียงแค่อย่างเดียวมากกว่าสองอย่าง ถ้าหากเราให้บล็อกที่มีขนาดแตกต่างกัน ทั้งสีและรูปทรง เด็กวัย 3 ขวบ จะแบ่งเป็นกลุ่มด้วยการแยกขนาด (ไม่ได้คำนึงถึงการแยกตามสี) อย่างไรก็ตาม เด็กที่อายุราว 4 ขวบขึ้นไปก็อาจจะแบ่งโดยการแยกตามคุณสมบัติ (อาจจะเป็นการแบ่งสีก่อน แล้วจึงค่อยแยกตามขนาดหรือรูปทรงอีกครั้งหนึ่ง)
ไม่รู้เรื่องจำนวน เด็กจะยังไม่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างจำนวน ตัวเลข และปริมาณ เช่น เขาอาจจะนับได้ว่าของเล่นมีกี่ชิ้น แต่ยังไม่เข้าใจเรื่องปริมาณมากกว่าหรือน้อยกว่า ไม่รู้ว่าของห้าชิ้นมากกว่าของสามชิ้น หรือถ้าหากให้เหรียญสิบ กับเหรียญห้า เขาก็จะไม่เข้าใจว่าเหรียญสิบมีมูลค่ามากกว่าเหรียญห้า แต่ในความเข้าใจคือมันเท่ากัน(จำนวน 1 เหรียญเท่ากัน)
เราควรทำอย่างไร
เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้หลายๆ วิธี เด็กบางคนชอบกระโดดไปมาทางโน้นทางนี้วุ่นวายไปหมด สิ่งที่ควรทำก็คือส่งเสริมให้เด็กได้มีวัสดุอุปกรณ์ที่ช่วยให้เขาได้สำรวจหรือเรียนรู้โลกรอบตัวให้มากที่สุด
ส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็นและทักษะในการคิดของเด็ก ลองหาสิ่งแปลกใหม่และตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมดังกล่าว เช่น ให้เขาเปรียบเทียบความยาวของของใช้ต่างๆ ภายในบ้าน หรือหากิจกรรมที่ได้ใช้ทักษะในการออกแบบ เช่น ร้อยลูกปัดเป็นสร้อยคอ (ซื้อลูกปัดหลากสี และพวกหินต่างๆ หลากหลาย เพื่อให้เด็กได้ออกแบบ) หรือการต่อโลโก้สร้างเป็นเมือง หรือปราสาทแสนสวย
พยายามอธิบายสิ่งที่เป็นเหตุและผลของเหตุการณ์ต่างๆ โดยเริ่มต้นจากการตั้งคำถามปลายเปิดให้เด็กได้คิดหาคำตอบด้วยตัวเองก่อน แล้วจึงค่อยอธิบายให้เด็กฟังเกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้นจริง หรือจะให้เด็กลงมือทำเพื่อค้นหาคำตอบด้วยก็ได้
เช่น การทำไข่เจียว ปกติจะใช้ไข่เพียงแค่ 1-2 ฟอง ก็อาจจะถามเด็กว่า ถ้าเราใช้ไข่สี่ฟองจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ลองให้เด็กเดาคำตอบไว้ล่วงหน้า เมื่อเจียวไข่เสร็จแล้วก็ตรวจคำตอบไปพร้อมๆ กัน โดยคุณอาจจะอธิบายในแง่ของวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ไปด้วยก็ได้ หรือถ้าหากเป็นเด็กเล็กอาจจะสอนคำศัพท์จากการเจียวไข่ไปด้วย
ท้าทายให้เด็กใช้ความคิดสม่ำเสมอ ในแต่ละวันเด็กๆ จะได้เล่นต่อบล็อกและอ่านหนังสือตลอดอยู่แล้ว(หรือไม่ก็รื้อของเล่นอย่างอื่น) เราก็ควรจะฉวยโอกาสนี้แหละ บอกให้เขาจัดกลุ่มสิ่งของให้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าเขาจะจัดแบ่งตามขนาดหรือสี หรือรูปทรงก็ได้ แล้วก็ให้เขาอธิบายถึงความแตกต่างของสิ่งของแต่ละชิ้นด้วย นอกจากนี้การตั้งคำถามให้เด็กจัดหมวดหมู่และแยกความแตกต่างของสิ่งของนี้ เราสามารถนำไปใช้ในขณะที่พาเด็กไปห้างสรรพสินค้าได้เช่นกัน
Mom must know
• เด็กวัยสามและสี่ขวบ มักจะเข้าใจโลกในแบบที่ตาเห็น มากกว่าการเข้าใจในแง่ตรรกะและเหตุผล
• เด็กวัยอนุบาลจะสนใจเพียงแต่สิ่งที่เห็น แต่ไม่ได้ทำความเข้าใจหรือสนใจไปมากกว่านั้น
• การอธิบายเรื่อง “จำนวนตัวเลข” และ “ปริมาณ” ให้เด็กวัย 3-4 ขวบเข้าใจ เป็นเรื่องยาก เพราะว่าเขาจะมีความสับสนระหว่าง “ชื่อ” ของตัวเลขกับ “จำนวน” ของตัวเลข
(Some images used under license from Shutterstock.com.)