Haijai.com


อาการเสมหะ อาการเมแทบอลิก


 
เปิดอ่าน 2319

สังเกตจาก เสมหะ

 

 

เสมหะในการแพทย์แผนจีนไม่ใช่แค่เพียงเมือกที่ถูกขากออกมาเวลาไอ หากแต่เป็นสิ่งที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายในการนำน้ำไปใช้ประโยชน์ เสมหะมีทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น สามารถเป็นสาเหตุของความผิดปกติหลายประการรวมถึงกลุ่มอาการเมแทบอลิก ที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ ปัจจัยที่ทำให้เกิดเสมหะกับกลุ่มอาการเมแทบอลิกลัวนเป็นปัจจัยเดียวกัน เช่น การรับประทานอาหารที่อุดมด้วยไขมัน การนอนหลับผิดเวลา เป็นต้น  ดังนั้น ประเด็นของเสมหะและกลุ่มอาการเมแทบอลิก จึงเปรียบเหมือนด้านหัวและก้อยของเหรียญเดียวกัน

 

 

เสมหะที่คนทั่วไปนึกถึงจะเป็นเมือกเหนียวสีใสขาวขุ่น เหลืองขุ่น หรือเขียวขุ่น ที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจไม่สะดวก ไอ จนต้องหายาละลายเสมหะหรือยาขับเสมหะมารักษา อย่างไรก็ตามคำว่าเสมหะยังมีนัยที่ลึกซึ้งกว่านี้ ในการแพทย์แผนจีน โดยมีทั้งที่ “มองเห็นได้” และ “มองไม่เห็น” และเสมหะของการแพทย์แผนจีน ยังเป็นปัจจัยก่อโรคหลายอย่างตั้งแต่อาการเวียนศีรษะ ไอ แน่นหน้าอก จิตใจผิดปกติ จนถึงกลุ่มอาการเมแทบอลิก

 

 

ที่มาของเสมหะตามการแพทย์แผนจีน

 

การแพทย์แผนจีนกล่าวว่ากระบวนการนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในร่างกายเกี่ยวข้องกับอวัยวะต่างๆ ได้แก่

 

 ม้าม ซึ่งมีหน้าที่ดูดซึมน้ำจากทางเดินอาหาร แล้วส่งน้ำที่ถูกดูดซึมนี้ไปที่ปอด

 

 

 ปอด ซึ่งควบคุมการไหลเวียนของน้ำในร่างกาย ทั้งไหลเวียนไปให้ความชุ่มชื้นแก่ส่วนต่างๆ และพาน้ำส่วนเกินไปที่ไต เพื่อขับออกในรูปของปัสสาวะ และขับน้ำส่วนเกินออกทางทางเดินหายใจหรือเหงื่อ

 

 

 ซานเจียว ซึ่งหมายถึงช่องอกและช่องท้อง มีหน้าที่เป็นทางลำเลียงสารอาหารและน้ำไปหล่อเลี้ยงร่างกาย

 

 

 ไต ซึ่งควบคุมสมดุลของน้ำในร่างกาย โดยขับน้ำส่วนเกินออกมาเป็นปัสสาวะ และยังช่วยทำให้ม้ามทำหน้าที่ดูดซึมของเหลวได้อย่างเป็นปกติ

 

 

เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งข้างต้น น้ำย่อมไม่สามารถหมุนเวียนได้เป็นปกติ จะคั่งค้างกลายเป็นเสมหะและความชื้นในร่างกาย ตำราการแพทย์แผนจีนกล่าวว่า เสมหะมีลักษณะขุ่นและเหนียวข้น และมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่

 

 ชนิดที่มองเห็น คือ เสมหะที่เป็นเมือกในระบบทางเดินหายใจ

 

 

 ชนิดที่มองไม่เห็น จะไหลตามลมปราณไปตามเส้นลมปราณ แล้วอุดตันเส้นลมปราณหรือขัดขวางการทำงานของอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดอาการต่างๆ ขึ้นอยู่กับอวัยวะหรือเส้นลมปราณที่เกี่ยวข้อง เช่น เมื่อไปที่ศีรษะก็จะทำให้วิงเวียน เมื่อไปที่หัวใจก็ทำให้ใจสั่น หรือถ้าหนักมากก็มีความผิดปกติทางจิต (การแพทย์แผนจีนมองว่าหัวใจมีหน้าที่ควบคุมจิตใจ) เมื่อไปที่กระเพาะอาหารก็ทำให้ปวดท้อง แน่นท้อง เป็นต้น

 

 

สาเหตุที่ทำให้อวัยวะต่างๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมการไหลเวียนของน้ำเกิดความผิดปกติจนน้ำคั่งกลายเป็นเสมหะ และความชื้นล้วนมาจากการรับประทานอาหารและการดำรงชีวิตที่ไม่ถูกสุขอนามัยตามหลักการแพทย์แผนจีน ดังนี้

 

 

 การรับประทานอาหารที่มันและย่อยยาก จะส่งผลลดสมรรถภาพในการดูดซึมและส่งน้ำของม้าม ม้ามนั้นแม้จะมีหน้าที่เกี่ยวกับการดูดซึมของเหลว แต่ก็ไม่ชอบความชื้น อาหารที่อุดมด้วยไขมันถือว่าเป็นความชื้นที่ไปกระทบการทำงานของม้าม ทำให้การทำงานของม้ามผิดปกติ น้ำจึงกลายเป็นเสมหะในที่สุด

 

 

 การสูบบุหรี่ จะทำให้เกิดความร้อนและแห้งไปทำลายหยินของปอด หน้าที่ในการลำเลียงน้ำไปทั่วร่างกายของปอดจึงเสียไป ทำให้เกิดเสมหะในที่สุด

 

 

 การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป นอกจากจะไปทำลายกระเพาะอาหารแล้ว แอลกอฮอล์ที่อยู่ในร่างกายยังสามารถเปลี่ยนเป็นเสมหะ และส่งผลต่อการทำงานของม้ามอีกด้วย

 

 

 การนอนหลับผิดเวลา เช่น นอนมากเกินไป นอนดึก เป็นต้น ตลอดจนการใช้ชีวิตที่เฉื่อยชาและขาดการออกกำลังกาย ซึ่งทำให้ลมปราณและเลือดไหลเวียนได้แย่ ส่งผลต่อการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหารจนเกิดเสมหะในที่สุด

 

 

 สาเหตุอื่นๆ เช่น เครียด วิตกกังวล รับประทานอาหารหวานจัด รับประทานอาหารดิบหรือแช่เย็นรับประทานอาหารเร็วเกินไปหรือมากเกินไป มีกิจกรรมทางเพศมากเกินไป เป็นต้น

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะเสมหะและความชื้นกัลป์กลุ่มอาการเมแทบอลิก

 

กลุ่มอาการเมแทบอลิก หมายถึง การที่ผู้ป่วยมีภาวะดังต่อไปนี้อย่างน้อย 3 ข้อ ซึ่งภาวะเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคระบบหลอดเลือดหัวใจและเบาหวาน

 

 รอบเอวเท่ากับหรือใหญ่กว่า 80 เซนติเมตรในเพศหญิง หรือ 90 เซติเมตรในเพศชาย

 

 

 ระดับไขมันตัวดี (HDL) ในเลือดต่ำกว่า 50 มิลลิกรัม / เดซิลิตรในเพศหญิง และ 40 มิลลิกรัม / เดซิลิตรในเพศชาย

 

 

 ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเท่ากับหรือสูงกว่า 150 มิลลิกรัม / เดซิลิตร

 

 

 ความดันเลือดเท่ากับหรือสูงกว่า 130/85 มิลลิเมตรของปรอท

 

 

 ระดับน้ำตาลในเลือดเมื่ออดอาหารมีค่าตั้งแต่ 100 มิลลิกรัม / เดซิลิตร

 

 

ดังที่ได้กล่าวในข้างต้นว่าโรคหลายอย่างมีความสัมพันธ์กับเสมหะ กลุ่มอาการเมแทบอลิกก็เช่นเดียวกัน โดยพิจารณาได้จากสิ่งต่างๆ ดังนี้

 

 การเปรียบเทียบกับหลักการแพทย์แผนจีน อาการแสดงของการที่ไขมันในเลือดสูงในผู้ป่วยบางราย ได้แก่ อ้วน เจ็บหน้าอก เวียนศีรษะ เหงื่อออกง่าย เป็นอาการที่สัมพันธ์กับความชื้นและเสมหะคั่งภายใน

 

 

 การศึกษาทางระบาดวิทยาเพื่อหาว่าผู้ที่มีกลุ่มอาการเมแทบอลิกมักจะมีสภาพร่างกายแบบไหน ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน ผลการศึกษาพบว่าผู้ที่มีกลุ่มอาการเมแทบอลิกมักจะมีภาวะเสมหะ และความชื้นสะสมในร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาในผู้สูงอายุที่เคยทำงานในกองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีน จำนวน 4,502 คน พบว่ามีผู้ที่มีกลุ่มเมแทบอลิกถึง 1,589 คน (35.3%) ในจำนวนผู้ป่วยกลุ่มอาการเมแทบอลิก สภาวะร่างกายที่พบมากสุด คือสภาวะที่มีเสมหะและความชื้นในร่างกาย (53.8% ของผู้ป่วย) หรือการศึกษาจากเกาหลีใต้ที่ศึกษาในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันจำนวน 359 คน พบว่าผู้ป่วยในกลุ่มที่มีความชื้นและเสมหะในร่างกาย จะป่วยด้วยกลุ่มอาการเมแทบอลิกมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะดังกล่าว

 

 

เมื่อปัจจัยเสี่ยงทั้งสองอย่างคืออันเดียวกัน

 

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะที่เสมหะ และความชื้นคั่งในร่างกายกับกลุ่มอาการเมแทบอลิก คือ ปัจจัยเสี่ยงของทั้งสองภาวะนี้หลายอย่างเป็นตัวเดียวกัน ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

 

 การนอนผิดเวลา นักวิจัยจากเกาหลีใต้ได้วิเคราะห์ผลจากการศึกษาทั้งหมด 15 งาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานวิจัยรวมเป็นจำนวนถึง 78,082 คน แล้วพบว่าการนอนหลับน้อยกว่าวันละ 5 ชั่วโมง เพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยกลุ่มอาการเมแทบอลิก ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนร่างกาย จนส่งผลให้ความอยากอาหารมากขึ้น การใช้พลังงานน้อยลง และการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแย่ลง ในทางกลับกัน ผู้ที่นอนมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ก็มีความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยกลุ่มอาการเมแทบอลิกเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะมาจากการที่เมื่อนอนมาก ก็จะมีเวลาออกกำลังกายลดลง หรือผู้ที่นอนมากมีสาเหตุอื่นที่ทำให้นอนมาก แล้วสาเหตุนั้นก็ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยกลุ่มอาการแทบอลิก เช่น ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ผลจากงานวิจัย โดยนักวิจัยชาวฮ่องกงที่ระบุด้วยว่า การทำงานกะดึกก็มีส่วนต่อการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นกลุ่มอาการเมแทบอลิก

 

 

 การสูบบุหรี่ การวิเคราะห์ผลการตรวจสุขภาพและภาวะโภชนาการของชายชาวเกาหลีใต้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป จำนวน 3,452 คน เมื่อปี พ.ศ.2541 พบว่า การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งต่อการป่วยด้วยกลุ่มอาการเมแทบอลิก ผลการศึกษาทางระบาดวิทยาจากชาวเมืองซานฮวน เครือรัฐเปอร์โตริโก ที่มีอายุระหว่าง 21-79 ปี จำนวน 856 คนพบว่าผู้ที่สูบบุหรตั้งแต่ 20 มวนต่อวัน มีความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยกลุ่มอาการเมแทบอลิกมากกว่าผู้ที่ไม่เคยสูบเลย ถึง 2.24 เท่า โดยกลไกที่เกียวข้องได้แก่ การสูบบุหรี่ทำให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินน้อยลง เนื่องจากเพิ่มปริมาณฮอร์โมนในร่างกาย ที่ออกฤทธิ์ต้านกับอินซูลิน นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังสัมพันธ์กับภาวะ อ้วนลงพุง ความดันเลือดที่สูงขึ้น ตลอดจนทำให้ผนังหลอดเลือดผิดปกติ เป็นต้น

 

 

 การรับประทานอาหารที่มีรสหวาน คณะนักวิจัยชาวอเมริกันได้วิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยต่างๆ ที่ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มเครื่องดื่มที่ปรุงรสหวานด้วยน้ำตาล กับความเสี่ยงต่อการเป็นกลุ่มอาการเมแทบอลิก หรือโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 11 งาน และพบว่ายิ่งดื่มเครื่องดื่มดังกล่าวมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการป่วยด้วยกลุ่มอาการเมแทบอลิกมากขึ้น โดยเครื่องดื่มดังกล่าวทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด และทำให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินน้อยลง

 

 

แม้ว่าจะมีมุมมองในด้านกลไกลและคำจำกัดความของโรคที่แตกต่างกัน แต่การแพทย์แผนจีนและแผนปัจจุบันต่างชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมและอาหารล้วนส่งผลต่อสุขภาพได้ ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่พวกเราต้องสำรวจตัวเอง เพื่อที่แก้ไขพฤติกรรมที่เป็นลบ และเพิ่มพูนพฤติกรรมที่เป็นบวก อันจะทำให้ชีวิตของเราห่างไกลโรคเรื้อรัง

(Some images used under license from Shutterstock.com.)