Haijai.com


โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน


 
เปิดอ่าน 3625

หัวใจขาดเลือด

 

 

โรคหัวใจขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน  กล้ามเนื้อหัวใจตาย-ขาดเลือด เป็นหนึ่งในห้าโรคที่เป็นสาเหตุการป่วย พิการ และตายมากที่สุดของชาวโลกและชาวไทย “โรคยาห้าโรค” ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง หลอดเลือดหัวใจตีบตัน หลอดเลือดสมองตีบ-อัมพฤกษ์-อัมพาต และมะเร็ง คำขวัญของวันหัวใจโลกปีนี้ (พ.ศ.2557-2558) คือ “Heart Choices, not Hard Choices” หรือแปลเป็นไทยว่า “ทางเลือกรักษ์หทัย ไม่ยากอย่างที่คิด” เรามาลองทดสอบตนเองว่าเรารู้จักโรคหัวใจขาดเลือดมากน้อยแค่ไหน เราดูแลตนเองถูกต้องเหมาะสมมากน้อยเพียงใด

 

 

10 ปีที่ผ่านมาคนไทยเราตายจากโรคหัวใจขาดเลือดและป่วยเป็นโรคดังกล่าว “เพิ่มขึ้น เท่าเดิม หรือ ลดลง”

 

 A. ตายเท่าเดิม แต่ป่วยมากขึ้น

 

 

 B. ตายเพิ่มขึ้น ป่วยเพิ่มขึ้น

 

 

 C. ตายเท่าเดิม ป่วยลดลง

 

 

คำตอบคือ ข้อ A

 

การตายจากโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในคนไทย มีแนวโน้มที่คงที่ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด แต่การป่วยจากโรคดังกล่าวกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นเพราะคนไทยเราเก่ง “รักษา” เมื่อเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมากขึ้น จึงรอดตายกันมากขึ้น แต่ไม่เก่ง “ป้องกัน” เลยป่วยกันมากขึ้น และอาจเป็นเพราะเรารอดตายกันมากขึ้น เลยประมาทไม่ดูแลตนเองมากขึ้นด้วย เข้าทำนอง “ไปตายเอาดาบหน้า” หลายๆ คนเลยได้ “ตาย” สมใจก่อนวัยอันควร เพราะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ตายแล้วตายเลย ไม่ฟื้นกลับมาอีก บางครั้งหัวใจขาดเลือดแล้วเกิดภาวะแทรกซ้อน ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง ตายก่อนถึงโรงพยาบาล

 

 

สัญญาณเบื้องต้นของโรคหัวใจขาดเลือดเป็นอย่างไร

 

 A. เจ็บแน่นหน้าอก เรอแล้วดีขึ้น

 

 

 B. เจ็บแน่นหน้าอก กดเจ็บ นวดแล้วดีขึ้น

 

 

 C. เจ็บแน่นหน้าอกเวลาใจเต้นเร็ว เต้นแรง

 

 

คำตอบคือ ข้อ C

 

เวลาหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย อาการเจ็บแน่นหน้าอกจะพบได้บ่อยที่สุด ส่วนใหญ่มักแน่นกลางหน้าอก ร้าวไปที่แขนซ้ายด้านใน โดยเฉพาะเวลาใช้หัวใจทำงานมากขึ้น หัวใจจะเต้นเร็วขึ้นแรงขึ้น เช่น เวลายกของหนัก เดินขึ้นบันได วิ่ง หรือโมโห ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงยิ่งมากยิ่งต้องคิดถึงก่อน ว่าอาการที่หน้าอกเป็นโรคหัวใจขาดเลือดไว้ก่อน ส่วนอาการแน่นหน้าอก เรอแล้วดีขึ้นน่าจะเกิดจากแก๊สในกระเพาะอาหารมากเกินไป อาการเจ็บแน่นหน้าอกที่กดเจ็บ นวดๆ แล้วดีขึ้น มักเกี่ยวกับภาวะผิดปกติของกล้ามเนื้อเอ็นข้อกระดูกมากกว่าครับ

 

 

ปัจจัยเสี่ยง (ที่มีมานาน) ของโรคหัวใจขาดเลือดและปัจจัยกระตุ้น (เพิ่งมีก่อนเกิดอาการ) ให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด ได้แก่

 

 A. อ้วนและกินอาหารเสริม

 

 

 B. สูบบุหรี่และกินอิ่มเกินไป

 

 

 C. ไขมันในเลือดสูงและดื่มชาร้อน

 

 

คำตอบคือ ข้อ B

 

ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดหัวใจขาดเลือด ได้แก่ ผู้ที่เป็น “เบาหวาน ความดันฯ ไขมัน (ผิดปกติ หรือ คอเลสเตอรอลรวมสูง แอลดีแอลสูง และ / หรือเอชดีแอลต่ำ) บุหรี่ อ้วนพีมีพุง” ส่วนปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่พบบ่อย ได้แก่ กินอิ่มเกินไป ตีเทนนิส ยกของหนัก ดื่มกาแฟ ดีใจ เสียใจเกินไป ขณะมีเพศสัมพันธ์ (โดยเฉพาะกับชู้ กับกิ๊ก หรือกินยากระตุ้น)

 

 

โรคหัวใจขาดเลือดเป็นภัยเงียบ อยู่ๆ ก็เกิดอาการได้ทันที แล้วเราจะทำอย่างไรดี

 

 A. ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ดูหลอดเลือดหัวใจ

 

 

 B. เดินสายพานทดสอบ (exercise stress test)

 

 

 C. ลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยงโรคฯ

 

 

คำตอบคือ ข้อ C

 

การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอ็มอาร์ไอ เพื่อดูว่าหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน เป็นการบอกให้รู้ว่าการใช้ชีวิตที่ผ่านมาของเรา ปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายทำให้หลอดเลือดหัวใจเราตีบมากน้อยแค่ไหน (บอกอดีต) เช่นเดียวกับการเดินสายพาน ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะหัวใจเต้นเร็วเต้นแรง บอกภาวะหัวใจขาดเลือดใน “ปัจจุบัน” ขณะนั้นเท่านั้นว่าหัวใจเต้นเร็วเต้นแรงขนาดนี้ หัวใจขาดเลือดไหม มีอาการอะไรไหม แต่อาจไม่บอก “อนาคต” ว่าเราจะเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการทำเหตุปัจจัยใน “ปัจจุบัน” ว่าเราใช้ชีวิตอย่างไร เพิ่มหรือลดปัจจัยเสี่ยง / ปัจจัยกระตุ้นมากน้อยเพียงใด ผู้สูงอายุที่หลอดเลือดหัวใจตีบร้อยเปอร์เซ็นต์ (ตัน) ก็ไม่จำเป็นต้องมีกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน เพราะออกกกำลังกายเป็นประจำจนหัวใจสร้างหลอดเลือดฝอยมาเลี้ยงหัวใจส่วนที่ขาดเลือดแทน หรือผู้ที่ไปตรวจขณะเดินสายพานแล้ว ไม่พบหัวใจขาดเลือดก็มีโอกาสเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้ต่อมา เพราะอาจประมาทว่าตัวเองไม่มีภาวะหัวใจขาดเลือด

 

 

ดังนั้น “ตรวจสุขภาพ ดาบสองคม” อาจได้ประโยชน์จากการลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยง / ปัจจัยกระตุ้นด้วยตนเอง หรืออาจเกิดโทษเพราะ “ประมาท” (ถ้าตรวจว่า ปกติ) หรือ “กังวล” จนกินไม่ได้นอนไม่หลับถ้าผิดปกติไม่มากจนเกิดอาการ การลด ละ เลิก ปัจจัยเสี่ยงด้วยตนเอง จึงสำคัญที่สุดในการป้องกันภาวะหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน (พึ่งตน พึ่งธรรม)

 

 

ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์

อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือด

(Some images used under license from Shutterstock.com.)