
© 2017 Copyright - Haijai.com
เส้นเลือดขอด
ปัญหาหลอดเลือดดำที่ขาแม้ส่วนใหญ่จะไม่ได้มีอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยมากพอสมควร เพราะต้องเสียทั้งเงินและเวลาในการรักษา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเส้นเลือดขอด ภาวะบกพร่องของระบบหลอดเลือดดำเรื้อรัง และลิ่มเลือดอุดตัน หลอดเลือดดำลึก ภาวะเหล่านี้มักรักษาไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมไม่ให้เป็นมากขึ้นได้ โดยการดูแลน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้ระบบไหลเวียนภายในหลอดเลือดดีขึ้น หลีกเลี่ยงการยืนนานๆ พยายามยกขาสูง 15 นาทีทุก 4 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดคั่งอยู่ที่ขา ใช้ถุงน่องรัดประคองหลอดเลือดส่วนผิว เป็นต้น ในกรณีที่เป็นมาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้
ปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดดำที่ขามีอยู่หลายอย่างและมีคนเป็นกันมาก จึงสมควรนำมาทบทวนทำความเข้าใจกันอีกครั้งหนึ่ง
เส้นเลือดขอด
เส้นเลือดขอดเป็นโรคของหลอดเลือดดำที่ขาโป่งพอง คดเคี้ยวเหมือนตัวหนอนบนผิวหนังของขา ส่วนมากมักจะเป็นขาใต้เข่าหรือเหนือเข่าเล็กน้อย ทำให้เกิดผลเสียต่อขานั้น ก่อนอื่นต้องเริ่มต้นที่การทำความเข้าใจเรื่องหลอดเลือดดำที่ขากันก่อน
ในระบบไหลเวียนเลือดมีหลอดเลือดอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ หลอดเลือดแดง (artery) คือ หลอดเลือดที่เป็นทางไหลของเลือดออกจากหัวใจไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่วนมากเลือดนี้จะมีความเข้มข้นของออกซิเจนสูง อีกชนิดหนึ่งคือ หลอดเลือดดำ (vein) ซึ่งเป็นเส้นทางนำเลือดจากส่วนต่างๆ ของร่างกายกลับเข้าสู่หัวใจ เลือดในหลอดเลือดดำส่วนใหญ่มีออกซิเจนต่ำ เนื่องจากเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ใช้ออกซิเจนไปแล้วเปลี่ยนมาเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้เลือดมีสีดำ หลอดเลือดดำส่วนมาก (ยกเว้นที่ช่องท้อง) มีวาล์ว (ลิ้น) ทำหน้าที่บังคับการไหลของเลือดให้เป็นไปในทิศทางเดียว ถ้าวาล์วเสียหายจะทำให้เลือดไหลย้อน เกิดปัญหาเลือดดำคั่งได้ เส้นเลือดขอดส่วนมากเกิดที่ขา จึงขออธิบายเฉพาะหลอดเลือดดำที่ขาเป็นพื้นฐาน
หลอดเลือดดำที่ขาแบ่งใหญ่ๆ ได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่
1.หลอดเลือดส่วนผิว (superficial veins) คือ หลอดเลือดที่อยู่ใต้ผิวหนังของเรา สำหรับคนที่ไม่อ้วนจะมองเห็นได้เป็นเส้นนิ่มๆ กดบุ๋ม คดเคี้ยวบนหลังเท้า มีลิ้นบังคับให้เลือดไหลกลับไปสู่หัวใจ
2.หลอดเลือดส่วนลึก (deep veins) เป็นหลอดเลือดดำที่อยู่ส่วนในหรือส่วนแกนของกล้ามเนื้อขา เป็นหลอดเลือดที่นำเอาเลือดส่วนใหญ่ (90%) ของขากลับไปสู่หัวใจ โดยมีลิ้นบังคับให้ไหลไปทางเดียวกัน
3.หลอดเลือดเชื่อมต่อ (communicating veins) เป็นหลอดเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดทั้ง 2 ชนิดข้างต้น ทำหน้าที่ให้เลือดไหลจากหลอดเลือดส่วนผิวเข้าสู่หลอดเลือดส่วนลึก มีลิ้นบังคับให้เลือดไหลทางเดียวจากผิวเข้าสู่ส่วนลึก
ความดันเลือดในหลอดเลือดที่ขาเกิดจาก 2 ปัจจัย ได้แก่
1) แรงดันของเหลว ซึ่งจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระยะทางระหว่างจุดวัดในขาถึงหัวใจห้องขวาบนในท่ายืน
2) การบีบตัวของกล้ามเนื้อในขา ซึ่งปกติจะทำหน้าที่บีบไล่เลือดกลับไปสู่หัวใจ เวลากล้ามเนื้อน่องบีบตัว จะทำให้ความดันในหลอดเลือดดำขึ้นไปได้สูงถึง 150-200 มิลลิเมตรปรอท ถ้าลิ้นหลอดเลือดดำเสียการทำงาน จะทำให้เลือดไหลย้อนความดันมาโป่งออกที่หลอดเลือดส่วนเชื่อมต่อและหลอดเลือดส่วนผิว ซึ่งเมื่อดันนานๆ เข้า ก็จะทำให้ลิ้นของหลอดเลือดเสียหายไปด้วย หลอดเลือดส่วนผิวก็จะค่อยๆ เสียหายกลายเป็นหลอดเลือดโป่งพองหรือเส้นเลือดขอด ที่เรามองเห็นได้
โรคเส้นเลือดขอด ถ้าไม่รักษาต่อไปนานๆ จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นภาวะบกพร่องของระบบหลอดเลือดดำเรื้อรัง
ปัจจัยเสี่ยงการเกิดหลอดเลือดดำขอด
• อายุ ยิ่งอายุมากความเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น
• เพศ หลอดเลือดดำขอดเกิดได้ในทุกเพศ แต่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากปัจจัยด้านฮอร์โมน
• การบาดเจ็บ การผ่าตัด เหล่านี้เป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้
ปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ก็มีบางปัจจัยที่เราสามารถควบคุมได้ คือ
• ภาวะน้ำหนักเกินหรือความอ้วน
• ภาวะตั้งครรภ์
• การออกกำลังกาย หากขาดการออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง
• การยืนเป็นเวลานาน เช่น คนขายของ
ลักษณะอาการ
อาการของเส้นเลือดขอดในกรณีที่เป็นไม่มากอาจจะไม่มีอาการ สำหรับอาการที่พบบ่อย ได้แก่ ปวดตื้อๆ เมื่อยๆ ที่ขาบริเวณน่องและเข่า บางรายอาจบ่นว่าคัน ถ้าเป็นมากจนมีลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำส่วนลึก ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดมากเวลาเดินหรือออกกำลังขา นอกจากนี้ จะมีความกังวลเรื่องความไม่สวยงามของขา เนื่องจากหลอดเลือดขอด บางรายมาหาหมอด้วยการเป็นแผลเรื้อรังรักษาไม่ยอมหาย
การรักษา
การรักษาหลอดเลือดดำขอดมีหลายอย่างขึ้นอยู่กับสถานภาพของโรค
1.การรักษาแบบประคับประคองไม่ให้เป็นมากขึ้น โดยการใช้ถุงน่องช่วยรัดประคองหลอดเลือดส่วนผิวของขา หลีกเลี่ยงการยืนนานๆ เช่น เมื่อมีเวลาว่างจากยืนขายของให้นั่งยกขาขึ้น เป็นต้น ลดน้ำหนัก ลดความอ้วน ออกกำลังกายสม่ำเสมอให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรง
2.การรักษาโดยการฉีดยาให้หลอดเลือดอุดตัน เป็นวิธีที่บาดเจ็บน้อย ทำได้กับหลอดเลือดขอดที่มีขนาดเล็ก ตั้งแต่หลอดเลือดฝอยขึ้นมาถึงขนาดหลายมิลลิเมตร อีกวิธีหนึ่งคือการใช้แสงเลเซอร์ทำให้หลอดเลือดยุบ แต่มีบางกรณีที่ยุบไม่หมดต้องใช้ร่วมกับยาฉีด
3.การรักษาโดยวิธีผ่าตัด ใช้ในการรักษาหลอดเลือดขอดขนาดใหญ่ วิธีการมีตั้งแต่แบบน้อยไปหามาก เช่น การผ่าตัดเจาะรูเล็กๆ เฉพาะที่เป็นเส้นเลือดขอดแล้วดึงรั้งตัดเส้นเลือดขอดออก (vein ablation) สำหรับหลอดเลือดที่เป็นมากตามแนวทางของหลอดเลือดผิวของขาเส้นใหญ่ รักษาได้โดยวิธีผ่าตัดดึงปลิ้นหลอดเลือดเส้นใหญ่ออกทั้งยวง (vein stripping) หรือสมัยใหม่นี้ใช้วิธีรักษาภายในหลอดเลือด (endovascular therapy) โดยการใส่สายสวนภายใต้การนำวิถีของอัลตราซาวนด์ เข้าไปในหลอดเลือดส่วนผิวเส้นใหญ่ แล้วใช้คลื่นวิทยุหรือแสงเลเซอร์ทำให้หลอดเลือดตันลง วิธีหลังนี้เป็นวิธีที่บาดเจ็บน้อย แต่ค่าใช้จ่ายอาจจะสูงเนื่องจากเครื่องมือมีราคาแพง
ภาวะบกพร่องของระบบหลอดเลือดดำเรื้อรัง
หลอดเลือดโป่งพองจากการไหลย้อนกลับของหลอดเลือดดำนี้ นอกจากทำให้เสียรูปลักษณ์ของขาแล้ว ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อ ทำให้เนื้อเยื่อและผิวหนังขาดออกซิเจน ทำให้มีการแข็งตัวของหนัง มีการแตกเป็นแผลได้ง่ายแต่หายยาก มีการฝังตัวของสารที่ทำให้สีผิวกระดำกระด่าง ที่กล่าวมานี้เป็น “ภาวะบกพร่องของระบบหลอดเลือดดำที่ขาเรื้อรัง”
ผู้ป่วยที่ประสบปัญหาภาวะบกพร่องของระบบหลอดเลือดดำที่ขาเรื้อรัง มักจะมาพบแพทย์ด้วยการเป็นแผลเรื้อรังที่ขาบริเวณข้อเท้าด้านใน แผลนี้หายยากต้องรักษาโดยการทำแผล แล้วปิดแผลด้วยยาต้านเชื้อเฉพาะที่ ในบางกรณีต้องให้ยาปฏิชีวนะถ้าติดเชื้อลุกลาม
การแก้ไขสามารถทำได้โดย ในเวลากลางคืนให้นอนยกขาสูง เพื่อช่วยการไหลเวียนของหลอดเลือดดำ ในเวลากลางวันให้ใช้ผ้ายางยืดพันจากเท้าไปถึงใต้เข่า โดยให้เริ่มรัดให้แน่นที่สุดเท่าที่จะทนได้ที่บริเวณข้อเท้า และค่อยๆ รัดไล่ขึ้นมาจนถึงใต้เข่า โดยลดความแน่นลงตามลำดับ บางแห่งมีขีดความสามารถที่จะทำการวัดตัดถุงน่องยางยืดให้สวม แล้วมีการไล่ระดับความแน่นตามที่กล่าวมา จึงทำให้ง่ายต่อการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ผู้ที่มีอาการถึงระดับนี้ต้องระวังรักษาขาของตัวเองให้ดี อย่าให้เกิดบาดแผล ไม่ควรถูสบู่เพราะทำให้ผิวแห้งแตกได้ง่าย ไม่ควรเกา ให้ใช้ครีมเพิ่มความชุ่มชื้นทาผิว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการคัน
ลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำลึก
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของหลอดเลือดดำที่ขาคือ “หลอดเลือดดำส่วนลึกที่มีลิ่มเลือดอุดตัน” ภาวะนี้พบมากในชาวตะวันตก เพราะพันธุกรรมส่งเสริม แต่ก็พบมากขึ้นในคนไทย นอกจากปัจจัยด้านพันธุกรรมแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดภาวะนี้ได้ เช่น ในหลอดเลือดดำที่บาดเจ็บหรือมีการไหลเวียนน้อยลง (เช่น ขณะผ่าตัดใหญ่ ผ่าตัดสะโพก) ภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ ในภาวะมะเร็งหรือในภาวะที่ความดันในหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขาสูงขึ้น ทำให้เกิดลิ่มเลือดที่ลิ้นหลอดเลือดแล้วลุกลามขึ้นไปจนเกิดการอุดตันของหลอดเลือดดำส่วนลึก ทำให้มีอาการปวด หน่วง ขาบวม อาการปวดขาจะมากขึ้นเวลาออกกำลังขา เช่น การเดิน นอกจากนี้ลิ่มเลือดอาจจะหลุดเลื่อนขึ้นไปอุดตันหลอดเลือดของปอด ถ้าลิ่มเลือดขนาดใหญ่อุดตันปอด จะทำให้การทำงานของปอด เช่น การฟอกเลือด เป็นไปไม่ได้ หรือเลือดกลับเข้าหัวใจไม่พอ ทำให้ความดันเลือดตกกลายเป็นภาวะวิกฤตถึงตายได้ ดังนั้น ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำลึก จึงควรได้รับการป้องกัน วินิจฉัยและรักษาให้ถูกต้อง
ลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำส่วนนี้เคยมีข่าวว่า เกิดกับผู้ที่นั่งเครื่องบินเป็นเวลานาน กล้ามเนื้อขาไม่ได้ทำงาน ทำให้เลือดไหลกลับสู่หัวใจช้า เป็นผลให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย การป้องกันคือต้องลุกขึ้นยืน เดิน หรือบริหารกล้ามเนื้อน่องในขณะที่นั่งบ่อยๆ
ภาวะนี้ต้องได้รับการรักษาให้ดี ส่วนมากต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล นอนยกขาสูงระดับหัวใจ หรือระดับนิ้วเท้าสูงกว่าจมูก แพทย์จะให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด การรักษาในกรณีที่มีลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันแพทย์จะให้ยาแบบฉีดก่อนในตอนต้น หลังจาก 5-10 วัน (เมื่อลิ่มเลือดเริ่มติด ไม่หลุดไปอุดปอดแล้ว) จึงเปลี่ยนเป็นยากิน ให้ผู้ป่วยใส่ถุงน่องช่วยประคับประคองการไหลของเลือดดำขาตอนกลับบ้าน ช่วงพักอยู่ที่บ้านก็ต้องพยายามยกขาสูง อย่างน้อยก็ยกวางบนเก้าอี้ การกินยารักษาอาจจะต้องใช้เวลานานหลายเดือน กินแล้วต้องตรวจเลือดดูผลของยาเป็นประจำ เพื่อปรับเปลี่ยนขนาดยาให้เหมาะสม บางกรณีโรคนี้อาจกลับมาเป็นซ้ำหลายครั้ง จึงต้องกินยาป้องกันลิ่มเลือดไปตลอด ซึ่งการกินยาประเภทนี้ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์โดยตลอดเช่นกัน
การดูแลระบบหลอดเลือดดำที่ขา
ปัญหาของระบบหลอดเลือดดำที่ขาเมื่อเกิดขึ้นแล้ว มักจะรักษาไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมได้โดยอาศัยความใส่ใจและวินัยในการปฏิบัติ ได้แก่
• พยายามยกขาให้สูงไว้เมื่อมีโอกาส เช่น ยกขาสูง 15 นาที ทุก 4 ชั่วโมง และยกขาสูงทุกครั้งหลังออกกำลังกาย วิธีนี้จะช่วยไม่ให้เลือดคั่งอยู่ที่ขา
• ออกกำลังขาเพื่อให้กล้ามเนื้อน่องบีบตัวไล่เลือดไปสู่หัวใจ ควรขยับข้อเท้าขึ้นลงหมุนไปมา โดยรอบทุกๆ ครึ่งชั่วโมง (เช่น เวลานั่งเครื่องบินนานๆ) และควรหาโอกาสออกไปเดินหรือว่ายน้ำทุกวัน
• ในที่ทำงานถ้าทำได้ควรยกขาวางบนเก้าอี้ให้อยู่ในระดับสะโพก แม้ว่าวิธีนี้จะไม่ลดบวมแต่จะช่วยป้องกันไม่ให้ขาบวมมากขึ้น
• หาเวลาออกกำลังกายทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าว่ายน้ำได้ยิ่งดี เพราะจะช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดในหลอดเลือดดำดีขึ้น มีผลคล้ายการใส่ถุงน่อง
• การใส่ถุงน่องที่สั่งตัดเย็บมาพอดี จะสะดวกในการใช้ แม้เวลาออกกำลังกายก็ควรจะใส่ถุงน่องช่วยค้ำจุน สำหรับคนที่ไม่มีถุงน่องแบบวัดสั่งตัด แนะนำให้พันผ้ายางยืดแบบมีความดันลดหลั่นจากเท้าไปสู่เข่า ทำเป็นประจำ จะช่วยให้ทำได้ชำนาญ และช่วยได้ดีเหมือนถุงน่อง
• ละเว้นการรัดรึงเพิ่มความดันในช่องท้อง เช่น การใส่สเตย์รัดหน้าท้อง เพราะจะทำให้ความดันในหลอดเลือดดำในช่องท้อง ซึ่งผ่องถ่ายไปที่ขาเพิ่มขึ้น
ปัญหาของหลอดเลือดที่ขา แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่ได้มีอันตรายถึงชีวิต แต่ก็สามารถก่อให้เกิดความทุกข์ เพราะเป็นแผลเรื้อรังต้องรักษาแผลไปนาน เสียค่าใช้จ่าย เสียเวลาในการทำงาน เสียรายได้ สรุปแล้วเสียหายมากมาย ดังนั้นควรเอาใจใส่ดูแลรักษาระบบหลอดเลือดตัวเองให้ดี
นพ.นริศ เจนวิริยะ
ศัลยแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)