
© 2017 Copyright - Haijai.com
เช็คยาประจำตัวสักนิดก่อนซื้อทานเอง
หลายคนยังไม่เข็ดกับการซื้อยารับประทานเอง ผลเสียที่ตามมาก็เจอทั้งแบบเฉียบพลัน ซึ่งอันตรายต่อชีวิต ส่วนผลระยะยาวคงไม่ต้องพูดถึง อาจต้องตามล้างตามเช็ดกับผลอื่นๆ ที่พ่วงมาเพราะความไม่ได้ตั้งใจ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของกระดูกยาบางตัว หากได้รับไปนานๆ จะมีผลไปถึงทำให้กระดูกเปราะหักเลยทีเดียว จะมียาตัวไหนไหมที่คุณกำลังขาดมันไม่ได้ หรือซื้อทานต้วยตัวเองอยู่
1.ยาสเตียรอยด์
จะอยู่ในรูปแบบของยาชุดแก้ปวดต่างๆ ยาชุดแก้หอบหืดยาลูกกลอน แม้จะมีบางโรคที่จำเป็นต้องใช้สเตียรอยด์ ได้แก่ โรคหอบหืดชนิดรุนแรง โรคถุงลมโป่งพอง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเอสแอลอี ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ หากใช้ในระยะยาว จะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน เนื่องจากสเตียรอยด์ไปเพิ่มกลไกการสลายแคลเซียมในกระดูก ลดการดูดซึมของแคลเซียม และลดฮอร์โมนทางเพศ มวลกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 6-10 เดือนหลังใช้ จากนั้นจะลดลงอย่างช้าๆ โดยเฉพาะกระดูกสันหลังและซี่โครง หากได้รับยาเกิน 7.5 มิลลิกรัม ต่อวัน นานกว่า 6 เดือน จะทำให้เสี่ยงต่อกระดูกหักได้
2.ยากลุ่มกันชัก
เช่น Phenytoin, Phenobarbital, Carbamazepine เมื่อใช้อย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้มวลกระดูกลดลง
3.ยาไทรอยด์ฮอร์โมน
ได้แก่ Levothyroxine ผู้ป่วยที่รักษาโรคไทรอยด์ด้วยยาชนิดนี้ อาจเกิดภาวะ Thyroid Hormone เกิน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน และความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นในผู้ป่วยสูงอายุ
4.ยาขับปัสสาวะในกลุ่ม
Loop Diurectic เช่น Furosemind ส่งผลยับยั้งการดูดกลับของแคลเซียม จึงทำให้มีการขับแคลเซียมออกทางไต
5.ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Tetracycline
โดยเฉพาะในผู้ที่ตั้งครรภ์ 3 เดือน ก่อนคลอด ไม่ควรใช้ยานี้เพราะยาสามารถผ่านไปสู่เด็ก ทำให้เกิดความเจริญทางสมองลดลง อาจพิการหรือสติปัญญาเสื่อม และในเด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี นอกจากนี้ยังไปยับยั้การเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน สารจากยาจะไปจับกับฟันทำให้ฟันเหลืองดำอย่างถาวรในเด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี อีกด้วย
6.ยารักษาวัณโรค
Pyrazinamind และ Ethambutol ส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียง ปวดข้อ ข้อบวมได้ ในช่วง 2 เดือนแรกหลังจากเริ่มทานยา หากเกิดอากรหลังจากทานยาให้แจ้งแพทย์ ไม่ควรหยุดยาเอง และเนื่องจากยายับยั้งการขับกรดยูริคทางปัสสาวะ จึงทำให้มีภาวะกรดยูริคในเลือดสูง และเกิดโรคเก๊าต์ หรือโรคเก๊าต์กำเริบขึ้น
ป้องกันที่จะลดการทานยากลุ่มนี้ได้อย่างไร
• ยากลุ่มสเตียรอยด์ในปัจจุบัน ผู้ป่วยมีการซื้อยามารับประทานเองเป็นจำนวนมาก ในรูปแบบของยาชุด รวมถึงการรับประทานยาสมุนไพรประเภทยาลูกกลอน ส่งผลให้เกิดกระดูกพรุน ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการซื้อยาชุด เพื่อทานบรรเทาอาการด้วยตัวเอง ควรซื้อยาที่มีเภสัชกรให้คำแนะนำและดูแลอย่างใกล้ชิด
• ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าวเป็นระยะเวลานาน อาจทานแคลเซียมเสริม หรืออาหารที่มีแคลเซียม วิตามินดี และฟอสฟอรัสมาก เพื่อให้กระดูกแข็งแรง
• ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
เภสัชกรหญิง พิชญา โตเลิศมงคล
หัวหน้าแผนกผู้ป่วยนอก
โรงพยาบาลยันฮี
(Some images used under license from Shutterstock.com.)