Haijai.com


เช็คความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุน


 
เปิดอ่าน 2511

เช็คความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุน

 

 

อวัยวะภายในร่างกายหากเราไม่หมั่นตรวจล่ะก็ จะรู้ได้อย่างไรว่าทุกอย่างปกติดี โดยเฉพาะกับกระดูกและข้อ ถ้าไม่ตรวจก็ไม่มีทางรู้เลยว่ากระดูกเราพรุนมากน้อยแค่ไหน เสี่ยงต่อการเปราะ หัก ง่ายหรือไม่ เมื่อไม่รู้สาเหตุก็ไม่ร็วิธีป้องกันเช่นกัน

 

 

เข้าใจองค์ประกอบของกระดูก

 

ในร่างกายของเรามีกระดูกอยู่หลากหลายชนิด มีทั้งกระดูกที่มีลักษณะเป็นแท่งยาวๆ เช่น กระดูกแขน ขา กระดูกที่เป็นชิ้นเหลี่ยม เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกตามข้อมือ ข้อเท้า หรือกระดูกที่มีส่วนประกอบที่หนา หรือที่เรียกว่า กระดูกเนื้อแน่น คือ กระดูกทึบ (Cortical Bone) และกระดูกที่มีลักษณะคล้ายรังผึ้ง (Cancellous Bone) ซึ่งเพศหญิงเสี่ยงต่อกระดูกหักมากเป็น 3 เท่าของเพศชาย เพราะกระดูกบางและพรุนมากกว่า ในกระดูกก็ประกอบไปด้วย

 

 เยื่อหุ้มกระดูก เป็นเยื่อหนาๆ โดยเฉฑาะกระดูกที่มีลักษณะยาว ในเด็กจะมีอยู่มากกว่าผู้ใหญ่ มีไว้เพื่อความเจริญเติบโตของกระดูก และซ่อมแซ่มกระดูกเมื่อเวลากระดูกหักได้ด้วย

 

 

 ไขกระดูก มีหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือด มีองค์ประกอบของเซลล์ในการซ่อมแซมให้กระดูกหักสามารถยึดติดกันได้

 

 

 ข้อ เป็นองค์ประกอบของร่างกายที่ทำให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้

 

 

 เอ็น เป็นอวัยวะที่ซับซ้อน โดยเฉพาะข้อเข่า เพื่อให้เกิดความมั่นคง

 

 

 กล้ามเนื้อ เป็นส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อพิเศษ เป็นส่วนที่ยึดติดระหว่างกระดูก 2 ชิ้น เช่น กล้ามเนื้อที่เข่าจะยึดติดกับกระดูกอุ้งเชิงกราน อีกส่วนจะยึดติดบริเวณกระดูกบริเวณข้อเข่า เพื่อให้สามารถงอ เหยียดได้

 

 

 เส้นประสาท เป็นอวัยวะที่คอยรับคำสั่งจากสมองเพื่อส่งต่อไป ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของแขน ขา ลำตัว และเป็นส่วนที่ให้ความรู้สึกที่ผิวหนัง

 

 

 หลอดเลือด เพื่อนำโ,หิตไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและส่วนต่างๆ ของกระดูกและข้อ รวมถึงสมอง และข้อ

 

 

 ฮอร์โมน คือ สารคัดหลั่งจากต่อมไร้ท่อ เพื่อให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ตามปกติ เช่น การเจริญเติบโตของร่างกาย ทำหน้าที่ต่างๆ ของเพศ และประกอบกับควบคุมแคลเซียมที่ไปจับกระดูก

 

 

สารที่เป็นส่วนประกอบของกระดูก มีแคลเซียม แมกนีเซียม เหล็กและอื่นๆ เช่น อิเล็กโตรไลท์ โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียมจะจับกับกระดูกต้องอยู่ในเส้นเลือด ซึ่งได้จากการรับประทานอาหารประเภทแคลเซียมโดยตรง แล้วจะถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสโลหิต

 

 

กำเนิดของกระดูกและความหนาแน่นของกระดูก

 

เมื่อเราอยู่ในท้องแม่ กระดูกเราจะเป็นกระดูกอ่อนก่อน แล้วแคลเซียมจะจับมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งใช้เวลาตั้งแต่เกิดจนไปถึงวัยรุ่น 16-17 ปี เมื่อพ้นวัย 25 ปี แล้วปริมาณแคลเซียมที่จะไปจับกระดูกจะลดลง

 

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้กระดูกบางหรือพรุน คือ

 

 ฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศหญิง การหมดประจำเดือนเร็ว หรือวัยหมดประจำเดือน ฮอร์โมนเอสโรเจนลดลง ซึ่งจะทำให้กระดูกบางหรือพรุนได้ และมีโอกาสเกิดกระดูกสันหลังยุบตัวจนหลังโก่ง

 

 

 พันธุกรรมและเพศ เพศหญิงรูปร่างบางน้ำหนักตัวน้อยมากไป

 

 

 เชื้อชาติ ชาติที่ไม่ค่อยเป็นโรคกระดูกพรุน คือ ชาวนิโกร

 

 

 อายุ ร่างกายมีมวลเนื้อกระดูกสูงสุด เมื่ออายุ 25 ปี และความหนาแน่นของกระดูกจะคงที่ไปถึงอายุ 40 ปี

 

 

 อาหาร รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมน้อย และอาหารที่มีปริมาณไขมันจัด

 

 

 ชีวิตประจำวัน ไม่เคยถูกแสงแดดช่วงเวลา 10.00-14.00 น. เป็นช่วงแสงแดดจัด หากโดนแดดนานอาจเป็นมะเร็งผิวหนังได้ จะให้ดีควรโดนแดดก่อนเที่ยง หรือหลังจาก 15.00 น.

 

 

 แอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ชะลอการดูดซึมของแคลเซียม

 

 

 การได้รับยาบางชนิด เช่น ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ทำให้กระดูกบางพรุน หรือกล้ามเนื้อลีบได้

 

 

ภาวะกระดูกพรุน

 

ภาวะกระดูกพรุน เกิดจากความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง ร่วมกับความเสื่อมของโครงสร้างภายในกระดูกด้วย นอกจากความแข็งแรงของกระดูกจะลดลงแล้ว ยังทำให้กระดูกเปราะ หักง่าย แต่หากกระดูกสันหลังหักยุบ อาจเกิดการกดทับเส้นประสาททำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ และมีโอกาสเกิดกระดูกสะโพกหักง่าย

 

 

การรับประทานแคลเซียมเข้าไปเป็นจำนวนมาก ก็อาจไม่ดูดซึมดีกว่าเดิมได้ เนื่องจากขาดฮอร์โมน และวิตามินดีเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้มีการดูดซึมแคลเซียมไปจับที่กระดูก

 

 

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระดูกพรุน

 

เราจะทราบมวลหนาแน่นของกระดูกได้จากากรตรวจวัดจากแพทย์ โดยทั่วไปมักนิยมตรวจกระดูกที่มีโอกาสหักได้ง่าย 3 ตำแหน่ง ได้แก่ กระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar Spine) กระดูกข้อสะโพก (Hip) และกระดูกปลายแขน หรือข้อมือ (Wrist) ถ้าค่าน้อยกว่า -2.5 แปลว่ากระดูกพรุนแล้ว ส่วนใหญ่จะวัดจากส่วนกระดูกสะโพก และกระดูกสันหลัง เพราะเป็นตัวที่ให้ดัชนีชี้บ่งค่อนข้างถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน จะเริ่มเข้าสู่สภาวะกระดูกบาง

 

 

เช็คค่าความหนาแน่นมวลกระดูก

 

ค่าความหนาแน่นมวลกระดูกจะคำนวณเป็นค่าที่เรียกว่า T- Score (T) ซึ่งใช้เป็นค่าวินิจฉัยภาวะความหนาแน่นมวลกระดูกเช็คผลได้ดังนี้

 

 ค่า T Score ที่มากกว่า -1 ถือว่าความหนาแน่นกระดูกปกติ

 

 

 ค่า T Score ที่อยู่ระหว่าง -1 ถึง -2.5 คือ กระดูกบาง (Osteopenia)

 

 

 ค่า T Score ที่น้อยกว่า -2.5 คือ กระดูกพรุน (Osteoporosis)

 

 

วิธีรักษา

 

 กรณีที่กระดูกไม่หัก จะให้ทานแคลเซียมตรวจร่างกายและรักษาตามอาการ

 

 

 กรณีที่กระดูกเคลื่อนที่ไม่มาก และไม่ต้องการผ่าตัด จะทำให้การเข้าเฝือกให้ผู้ป่วย ซึ่งจะใช้ระยะเวลาตั้งแต่ 2-3 เดือน หรือมากกว่านั้น จนกว่าจะติดประสานกัน

 

 

 สำหรับกระดูกเคลื่อนที่มากๆ เช่น กระดูกสะโพกหัก แพทย์จะแนะนำให้ผ่า เพื่อให้กระดูกสมานกันเร็วขึ้น ไม่ต้องเข้าเฝือกนาน อาจจะนำเหล็กไปยึด โดยเหล็กสามารถอยู่ถาวรได้ หรือชั่วคราวก็ได้

 

 

ภาวะกระดูกพรุนป้องกันได้

 

 ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ (อย่างน้อยครั้งละ 20-30 นาที) จะช่วยให้มวลกระดูกมีความแข็งแรงและหนาแน่นมากขึ้น

 

 

 เปลี่ยนชีวิตประจำวัน การออกไปถูกแสงแดดบ้าง

 

 

 เลี่ยงแอลกอฮอล์ บุหรี่ สารเทนนินในบุหรี่

 

 

 รับประทานอาหารกลุ่มแคลเซียม หรือวิตามินดี ให้เพียงพอ เช่น นม ปลากรอบ เนยแข็ง เห็ดหอม ถั่วเหลือง ถั่วแดง กุ้งแห้ง และผักใบเขียว เช่น ใบชะพลู ผักคะน้า ผักกระเฉด ยอดสะเดา ใบโหระพา ลดอาหารประเภทไขมันจัดที่ทำให้กระดูกบาง

 

 

 ป้องกันการขาดฮอร์โมนเพศ ด้วยการปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจร่างกาย และรับฮอร์โมนทดแทนเป็นประจำ

 

 

ผู้ป่วยกระดูกพรุนควรออกกำลังกายหรือไม่?

 

ควรออกกำลังกาย ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง ส่วนใหญ่ระดับความรุนแรงจะอยู่ช่วงอายุ 70 ปี ขึ้นไป และควรระมัดระวังอย่าให้เกิดการหกล้ม

 

 

การทำให้กระดูกแข็งแรงก็เหมือนเราฝากเงินในธนาคาร ก็คือนำแคลเซียมไปฝากไว้กับกระดูก หากเราแข็งแรงและออมไว้ตั้งแต่เริ่มแรก กระดูกก็สามารถนำแคลเซียมออกมาใช้ได้ในยามจำเป็น โรคกระดูกพรุนเราป้องกันได้

 

 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนพ. เจริญ โชติกวณิชย์

ศัลยแพทย์กระดูกสันหลังและข้อ

โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)