
© 2017 Copyright - Haijai.com
การปฐมพยาบาลเมื่อสัตว์มีพิษกัดต่อย
Q : หลังบ้านดิฉันเป็นพื้นที่ป่ารกค่ะ ยิ่งช่วงที่ฝนตกบ่อยๆ บางวันก็มีงูเลื้อยเข้ามา และเดี๋ยวนี้ ตามข่าวต่างๆ จะพบสัตว์มีพิษชนิดอื่นๆ ที่มีอันตรายไม่แพ้กัน อยากทราบว่าหากโดนสัตว์มีพิษกัดต่อย การปฐมพยาบาลเบื้องต้นควรทำอย่างไรคะ
A : การรับพิษจากสัตว์มีพิษต่างๆ ส่วนใหญ่จะพบได้ทางผิวหนังจากการสัมผัสสัตว์โดยตรง หรือการโดนกัดต่อย นอกจากนี้ยังได้รับพิษจากการรับประทาน โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ เช่น ปลาปักเป้าแมงดากลุ่มที่มีพิษ เป็นต้น
เราสามารถแบ่งสัตว์พิษได้เป็น 3 กลุ่ม ใหญ่ๆ ได้แก่
1.สัตว์เลื้อยคลานและครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น งูพิษ กบพิษ
2.แมลง และสัตว์ขาข้อ เช่น ผึ้ง ต่อ แตน แมงมุม แมงป่อง ตะขาบ
3.สัตว์ทะเล เช่น แมงกะพรุน ปลาหมึกบางชนิด แมงดา หอยเม่น ปลาสิงโต
อาการเมื่อโดนพิษสัตว์
• อาการที่เกิดจากพิษโดยตรง เป็นอาการที่เกิดจากลักษณะของพิษที่ได้รับ เช่น ถูกงูพิษที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการอัมพาต เป็นต้น
• อาการทางระบบภูมิคุ้มกัน คือ อาการแพ้พิษ ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยที่ถูกแมลง สัตว์ขาข้อกัดต่อย โดยเฉพาะผึ้ง เป็นอาการที่เกิดจากภูมิคุ้มกันร่างกายมีปฏิกิริยาต่อพิษนั้นๆ ซึ่งมีตั้งแต่อาการไม่รุนแรง เช่น บวม แดง ผื่น ลมพิษ จนถึงอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอกจากภาวะหลอดลมตีบ ไตอักเสบ ความดันโลหิตตก ช็อคได้ ถ้าแพ้รุนแรงและไม่ได้รับรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิต หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบมาพบแพทย์ทันที
สัตว์มีพิษที่พบบ่อย
• งู งูพิษในประเทศไทยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ พิษต่อระบบประสาท ทำให้อัมพาตทั้งตัว หนังตาตก ยกแขนขาไม่ขึ้น กล้ามเนื้อหายใจไม่ทำงาน จนเสียชีวิตจากภาวะหายใจล้มเหลว งูในกลุ่มนี้เช่น งูเห่า งูจงอาง อีกชนิดคือ พิษต่อระบบเลือด ทำให้ระบบแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เลือดออกตามอวัยวะต่างๆ ได้ง่าย ได้แก่ งูเขียวหางไหม้ งูกะปะ งูแมวเซา ชนิดสุดท้ายคือ พิษต่อกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออักเสบและสลายตัว ได้แก่ งูทะเล
• แมลง เช่น ผึ้ง เมื่อถูกผึ้งต่อนจะมีอาการปวดแสบปวดร้อน และพบอาการแพ้พิษได้บ่อย หากโดนรุมต่อยโดยผึ้งจำนวนมาก พิษจะสะสมในร่างกายมาก ทำให้เกิดอาการรุนแรงจากพิษได้ โดยเฉพาะเด็กๆ
• แมงกะพรุน หนวดแมงกะพรุนมีเข็มพิษจำนวนมาก ซึ่งเมื่อสัมผัสเข็มพิษจะถูกปล่อยสู่ร่างกายเรา เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน เซลลผิวหนังถูกทำลายได้ แมงกะพรุนบางชนิดมีพิษร้ายแรงมาก เช่น แมงกะพรุนกล่องพิษจากแมงกะพรุนกล่องทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดีแมงกะพรุนชนิดนี้พบได้น้อยมากในประเทศไทย วิธีปฐมพยาบาลเมื่อสัมผัสแมงกะพรุน คือ ใช้น้ำส้มสายชูราดผิวหนัง เพื่อทำลายเข็มพิษก่อน แล้วจึงดึงหนวดแมงกะพรุนออก
วิธีรักษา
การรักษาเฉพาะ คือ การให้ยาต้านพิษสำหรับงูพิษในประเทศไทย มีเซรุ่มต้านพิษ 7 ชนิด ซึ่งครอบคุมงูพิษเกือบทุกชนิด ยกเว้นแต่งูทะเลเท่านั้น หากไม่ทราบว่างูชนิดใดกัด แพทย์จะให้เฝ้าระวังดูอาการที่โรงพยาบาล เพื่อติดตามดูว่ามีอาการต่อระบบใด แล้วจึงให้เซรุ่มรักษา ไม่ใช่โดนกัดแล้วให้ยาทันที นอกจากนี้ยังมีเซรุ่มชนิดพิเศษ สกัดจากพิษงูหลายชนิดรวมกัน คือ เซรุ่มจากพิษงูที่มีผลต่อระบบเลือด และเซรุ่มพิษงูที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ซึ่งใช้ในกรณีที่ทราบอาการแล้ว แต่ไม่สามารถระบุชนิดงูได้
การรักษาประคับประคองอาการ เป็นการรักษาเพื่อประคับประคองการทำงานของอวัยวะต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากพิษ เช่น การดูแลบาดแผลไม่ให้ติดเชื้อซ้ำเติม การใส่เครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยที่การหายใจล้มเหลว การฟอกไตในผู้ป่วยไตวาย เป็นต้น
หยุด วิธีการขันชะเนาะเมื่อโดนงูกัด
เนื่องจากไม่มีประโยชน์นอกจากนั้น หากขันชะเนาะแน่นเกินไป จะทำให้อวัยวะบางส่วนขาดเลือด ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้ป่วยบางรายที่เมื่อคลายชะเนาะออกแล้ว อาการทรุดตัวลงทันที ควรตั้งสติให้ดี ควรนำงูมาให้แพทย์ดู หรือสังเกตและจดจำลักษณะของงู แต่หากไม่เจอตัวงูอย่าเสียเวลาไปกับการหางู ให้หาอุปกรณ์ตามอวัยวะส่วนนั้นให้อยู่นิ่งที่สุด แล้วรีบมาโรงพยาบาล
นายแพทย์สุรสิทธิ์ แซ่แต้
หัวหน้าแผนกฉุกเฉิน
โรงพยาบาลยันฮี
(Some images used under license from Shutterstock.com.)