Haijai.com


ออกกำลังกายที่บ้านปลอดภัยจริงหรือ


 
เปิดอ่าน 1369

ออกกำลังกายที่บ้านปลอดภัยจริงหรือ?

 

 

Q : ผมเป็นคนชอบออกกำลังกายที่บ้านมากกว่าไปฟิตเนสครับ เพราะสะดวกไม่วุ่นวาย โดยกำลังสนใจกับดีวีดีสอนออกกำลังกาย T25 บ้าง และอื่นๆ บ้าง อยากทราบว่า การออกกำลังกายเองที่บ้านมีข้อเสียหรืออันตรายอะไรไหม น้องผมไม่เคยออกกำลังกายเลย แต่จะมาออกกำลังกายด้วยกัน จะเป็นอันตรายไหมครับ

 

 

A : การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องดูว่าการออกกำลังกายนั้นๆ เหมาะสมกับตัวเราหรือไม่ ถ้าเป็นการออกกำลังกายในบ้าน ในกรณีที่เคยออกกำลังกายที่ฟิตเนสอยู่แล้ว แล้วก็กลับมาออกกำลังกายที่บ้านด้วย แน่นอนว่าก็คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะเคยได้รับคำแนะนำจากเทรนเนอร์มาหมดแล้ว อีกกรณีคือ การออกกำลังกายนั้นเป็นการออกกำลังกายไม่หนักมาก เช่น กระโดดเชือก โยคะ ยกเวท ที่น้ำหนักไม่มาก เป็นต้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ไม่ว่าจะเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายใดๆ ควรออกกำลังกายที่ตัวเองรับไหว ไม่ควรเล่นหนักเกินความสามารถตัวเอง

 

 

ความหนักของการออกกำลังกายแบ่งออกเป็น 3 ระดับ

 

 ระดับเบา เช่น เดินเร็ว ไทเก๊ก โยคะ การทำงานบ้าน

 

 

 ระดับปานกลาง หัวใจจะเต้นอยู่ประมาณ 70-80% เช่น การวิ่ง การเต้น ขี่จักรยาน เตะฟุตบอล

 

 

 ระดับหนัก หัวใจจะเต้นอยู่ประมาณ 80% ขึ้นไป เช่น การยกเวท วิ่งระยะไกล T25

 

 

ประเมินหัวใจขณะออกกำลังกาย

 

ในการออกกำลังกายเราควรประเมินอัตราการเต้นของหัวใจอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเต้นของหัวใจที่เร็วและถี่เกินไป อาจทำให้เป็นลมจนถึงขั้นหัวใจล้มเหลวได้

 

 

สูตรลัดจำง่ายๆ

 

นำเลข 220 ลบด้วย อายุ จะได้ค่าระดับการเต้นของหัวใจสูงสุด เช่น อายุ 20 ปี ต้องให้อัตรากาเต้นของหัวใจไม่เกิน 220 – 20 = 200

 

 

ออกกำลังกายอย่างไรให้หัวใจและปอดแข็งแรง

 

การออกกำลังกายให้หัวใจและปอดแข็งแรง ควรเล่นความหนักระดับปานกลางครั้งละประมาณ 30 นาที หากเป็นการออกกำลังกายแบบ T25 ที่มีระยะเวลา 25 นาที ออกกำลังกาย 3 วันต่อสัปดาห์ ก็เพียงพอแล้ว เนื่องจากการออกกำลังกายหนักเกินไป จะทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลง นอกจากนี้การออกกำลังกายไม่ควรทำท่าซ้ำๆ เพราะอาจเกิดการบาดเจ็บได้ จากตำแหน่งเดิมๆ

 

 

อาการแบบนี้พบหมอด่วน

 

 เป็นลม หมดสติ

 

 

 แน่นหน้าอกมาก

 

 

 หัวใจเต้นเร็วมาก

 

 

 บาดเจ็บรุนแรง มีแผลเลือดออกมาก

 

 

ผู้ที่น้ำหนักตัวเยอะ ออกกำลังกายได้หรือไม่

 

คนเป็นโรคประจำตัวต่างๆ ไม่ได้เป็นข้ออ้างในการออกกำลังกาย แต่เป็นข้อบ่งชี้ด้วยซ้ำที่ควรออกกำลังกาย สิ่งที่บอกความฟิตของร่างกาย คือ ความสามารถของปอดและหัวใจ ถ้ามีน้ำหนักตัวมาก แต่แข็งแรง กล้ามเนื้อก็ไม่มีปัญหาอะไร สามารถออกกำลังได้ แต่หากเริ่มรุ้สึกเจ็บให้หยุดเล่น อย่าฝืน ที่สำคัญไม่ว่าอ้วนหรือผอมก็ควรประเมินร่างกายตัวเองก่อน ไม่ว่าจะด้วยแบบสอบถามก็ดี หรือให้แพทย์ประเมินก็ดี เพื่อตรวจดูความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ ปอด ความดันโลหิต เป็นต้น ซึ่งหากเป็นผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน ควรเริ่มจากการออกกำลังกายระดับต่ำก่อน ให้หัวใจเต้นประมาณ 50-60%

 

 

นายแพทย์อี๊ด บอประยูร

เวชศาสตร์การกีฬา

โรงพยาบาลกรุงเทพ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)