Haijai.com


โภชนาการที่ดีพิชิตโรคเรื้อรังของคนไทย


 
เปิดอ่าน 3213

โภชนาการที่ดีตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิตพิชิตโรคเรื้อรังของคนไทยในศตวรรษที่ 21

 

 

แม้ประเทศในแถบเอเชียจะขึ้นชื่อในเองประชากรที่มีอายุยืน แต่จากการรวบรวมผลการสำรวจสภาวะโภชนาการและสุขภาพอนามัยของแม่และเด็ก ร่วมกับข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในประเทศต่างๆ ทั่วเอเชีย พบว่าปัจจุบันประชากรในแถบเอเชียกำลังประสบปัญหาทุพโภชนาการไม่ว่าจะเป็น น้ำหนักที่ต่ำหรือสูงกว่าเกณฑ์จนกลายเป็นโรคอ้วน การขาดสารอาหารที่สำคัญ การเจริญเติบโตช้า ซึ่งกำลังเป็นปัญหารุนแรงในปะรเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม หรือปัญหาการเตี้ยแคระแกร็นในประเทศจีน มาเลเซีย แม้ประเทศไทยจะพบได้ไม่มากเท่า แต่ก็ควรที่จะระมัดระวังและให้ความสำคัญกับโภชนาการตั้งแต่วันนี้

 

 

ทีมนัพวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งประกอบด้วย สูติแพทย์ กุมารแพทย์ และนักโภชนาการจากสถานบันต่างๆ ของประเทศไทย จึงร่วมกันจัดตั้ง “เครือข่ายโภชนาการช่วงแรกของชีวิต” (Early Life Nutrition Network Thailand) ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของโภชนาการในช่วงแรกของชีวิต ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในระยะต่อมาของทุกคนในทุกช่วงวัย และการเกิดโรคเรื้อรังร้ายแรงต่างๆ ผ่านกิจกรรมให้ความรู้ให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ก่อนขยายสู้ประชาชนทั่วไป ดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นสตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร กับมารดาของทารกและเด็กเล็ก

 

 

การได้รับสารอาหารต่างๆ ในปริมาณที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับช่วงเวลาในช่วงแรกของชีวิต ไม่ว่าจะขณะที่อยู่ในครรภ์มารดาหรือภายหลังคลอด จะทำให้ทารกมีพัฒนาการไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีในอนาคต ในทางตรงกันข้ามทารกที่ได้รับสารอาหารในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ทั้งมากเกินไปหรือน้อยเกินไป และในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม จะทำให้ทารกมีพัฒนาการไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพไม่ดี และมีโรคเรื้อรังและร้ายแรงมารบกวนคุณภาพชีวิตได้มากมาย การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจในเอเชีย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพปัญหาภาวะ “ทุพโภชนาการ”  จากการขาดสารอาหารบางชนิดลดลง แต่พบภาวะโภชนาการเกินและนำไปสู่โรคอ้วนมากขึ้น โดยเฉพาะในประชากรที่อยู่ในช่วงแรกของชีวิต

 

 

ศาสตราจารย์นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานกรรมการวางแผนกรอบยุทธศาสตร์ การจัดการด้านอาหารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอาหารแห่งชาติเปิดเผยถึงการรวบรวมผลการสำรวจสภาวะโภชนาการและสุขอนามัยของแม่และเด็ก ร่วมกับการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในประเทศต่างๆ ทั่วเอเชีย โดย NutriPlanet ว่า ร้อยละ 4-26 ของหญิงตั้งครรภ์ในเอเชีย มีปัญหาทั้งน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ และร้อยละ 16-44 มีน้ำหนักเกินถึงอ้วน และยังพบปัญหาขาดสารอาหารที่สำคัญ ได้แก่ แคลเซียม วิตามินดี เหล็ก และโฟเลต นอกจากนี้ยังพบภาวะทุพโภชนาการที่ทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่รุนแรงในประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม และพบปัญหาเด็กเตี้ยแคระแกร็นสูงกว่าร้อยละ 30 ในประเทศจีน มาเลเซีย รวมทั้งประเทศไทย แม้ว่าปัญหาเด็กเตี้ยแคระแกร็นจะไม่มากเท่าประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม แต่ก็ยังพบได้ถึงร้อยละ 10-20 ซึ่งยังต้องมีมาตรการดูแลที่เข้มข้น เพื่อลดลงให้ได้มากกว่านี้ ในขณะที่เด็กในประเทศสิงค์โปร์และฮ่องกง มีภาวะเตี้ยแคระแกร็นอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ คือ น้อยกว่าร้อยละ 5

 

 

รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิทยาถิฐาพันธ์ จากภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาทุพโภชนาการ 2 ลักษณะในเวลาเดียวกัน (Double Burden of Malnutrition) คือ ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งได้รับอาหารมากเกินไป (Over-Nutrition) ในเวลาเดียวกันก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับอาหารน้อยเกินไป (Under-Nutrition) การได้รับอาหารมากเกินกำลังทำให้สตรีวัยเจริญพันธุ์กลายเป็นคนอ้วน ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจ เมื่อ พ.ศ. 2552 พบว่า ประเทศไทยมีสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่อ้วนถึงร้อยละ 41 ซึ่งส่วนหนึ่งของสตรีกลุ่มนี้จะเป็นแม่ที่อ้วน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งแม่และทารกที่คลอดออกมา แม่ที่อ้วนมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ตลอดช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นการแท้งบุตร การเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โรคครรภ์เป็นพิษ การคลอดยาก รวมถึงการติดเชื้อหลังคลอด เป็นต้น

 

 

เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับโภชนาการที่ไม่เหมาะสมก็จะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ โดยรองศาสตราจารย์แพทย์หญิง ลัดดา เหมาะสุวรรณ จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าในปัจจุบันเรากำลังเผชิญปัญหาของทารกและเด็กเล็กทั้งในกลุ่มที่น้ำหนักมากเกินไป และกลุ่มที่น้ำหนักน้อยเกินไป เช่นเดียวกับกลุ่มคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ และยังมีปัญหาของเด็กที่มีภาวะเตี้ยและแคระแกร็น (Stunting) อีกด้วย ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจในประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2556 พบว่า 1 ใน 5 ของเด็กไทยอายุ 3-13 ปี มีน้ำหนักเกินและอ้วน สอดคล้องกับการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2549 ที่พบเด็กก่อนวัยเรียนร้อยละ 8-20 และเด็กในวัยเรียนร้อยละ 5-16 มีปัญหาน้ำหนักเกินและอ้วน

 

 

ในทางตรงกันข้าม ข้อมูลจากการสำรวจเดียวกันใน พ.ศ.2556 พบว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของเด็กไทยอายุ 6 เดือนถึง 13 ปี ได้รับแคลเซียม เหล็ก สังกะสี วิตามินเอและวิตามินซี จากอาหารต่ำกว่าที่ควร และมีเด็กมากกว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มอายุ 3-13 ปี มีภาวะขาดธาตุเหล็กและวิตามินดี ทั้งนี้ ปัญหาการได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสมมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ ปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งมักเป็นปัยหาในแม่ที่ได้รับอาหารน้อยเกินไป แต่ปัจจุบันยังคงมีอีกปญหาหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าปัจจัยดังกล่าว คือ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโภชนาการในสตรีตั้งครรภ์และในทารกแรกเกิด

 

 

ด้วยตระหนักถึงภัยคุกคามจากภาวะทุพโภชนาการดังกล่าว นักวิชาการกลุ่มหนึ่งซึ่งประกอบด้วยสูติแพทย์ กุมารแพทย์ และนักโภชนาการจากสถาบันต่างๆ ของประเทศไทย จำนวน 11 คน จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง “เครือข่ายโภชนาการช่วงแรกของชีวิต” (Early Life Nutrition Network Thailand) ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัยของโภชนาการในช่วงแรกของชีวิต ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในระยะต่อมา รวมทั้งโอกาสในการเกิดโรคเรื้อรังร้ายแรงต่างๆ น้อยลง โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น โดยทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อเป้าหมายสูงสุด คือ การมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงของประชาชนชาวไทย ปราศจากโรคเรื้อรังและร้ายแรงที่จะมาคุมคามชีวิต

 

 

เครือข่ายโภชนาการช่วงแรกของชีวิต

Early Life Nutrition Network Thailand

(Some images used under license from Shutterstock.com.)