
© 2017 Copyright - Haijai.com
Hand Skill หยิบๆ จับๆ ลูกรักเรียนรู้อะไร
ตั้งแต่แรกเกิดเป็นแบเบาะ คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตเห็นว่าเจ้าตัวเล็กมักจะขยำมือไปมา หรือไม่ก็กำนิ้วมือคุณพ่อคุณแม่ไว้แน่น เมื่อโตขึ้นมาหน่อย เจ้าตัวเล็กก็มักเริ่มยกไม้ยกมือ เมื่อคุณแม่ก้มลงไปเล่นด้วยใกล้ๆ บางทีลูกน้อยก็มักจะยื่นมือมาสัมผัสใบหน้า หรือเผลอๆ ก็เอานิ้วทิ่มตาคุณแม่เสียด้วย ลักษณะการใช้มือที่เปลี่ยนไปของลูกรักแม้เพียงเล็กน้อยเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าเจ้าตัวเล็กมีพัฒนาการก้าวหน้าไปทุกวัน ซึ่งการที่หนูน้อยเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ในการใช้มือทำสิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้นนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถมีส่วนช่วยลูกน้อยได้ด้วยค่ะ
The Skill “ชี้นิ้วมือไปยังสิ่งต่างๆ” เมื่อย่างเข้าขวบปีแรก หนูน้อยจะเรียนรู้วิธีการใช้นิ้วมือแต่ละนิ้วด้วยการชี้นิ้วไปยังสิ่งต่างๆ ซึ่งทักษะนี้จะช่วยพัฒนาให้กล้ามเนื้อที่นิ้วมือของลูกแข็งแรงขึ้น
Help Improve the Skill คุณสามารถช่วยเจ้าตัวเล็กให้พัฒนาทักษะนี้ได้โดย ชักชวนลูกเล่นปั้นแป้งโดว์ หรือหากคุณทนความเลอะเทอะได้จะลองให้ลูกเอามือลงไปขย้ำเยลลี่ในถ้วยก็ไม่ผิด ถ้าที่บ้านของคุณมีเปียโน หรือคีย์บอร์ด ลองดูสิว่าเจ้าตัวเล็กจะใช้นิ้วมือน้อยๆ กดแป้นเปียโนได้หรือไม่ ของเล่นที่ช่วยส่งเสริมทักษะนี้ได้ดี ได้แก่ ของเล่นที่มีปุ่มกดต่างๆ คุณอาจทำให้ลูกดูก่อนว่า เมื่อกดปุ่มที่ของเล่นอะไรจะเกิดขึ้น เช่น ของเล่นบางชิ้นอาจมีเสียง บางชิ้นอาจมีตุ๊กตาเด้งขึ้นมา แล้วค่อยเปิดโอกาสให้ลูกน้อยลองทำค่ะ
The Skill “กินข้าวเองได้แล้วจ๊ะ” แม้ว่าหนูน้อยส่วนใหญ่จะกำช้อนได้ก่อนที่จะอายุเข้า 1 ขวบปีเต็ม แต่โดยทั่วไปก็ไม่อาจจะนำอาหารเข้าปากได้ด้วยตัวเอง จนกว่าทักษะด้านการเคลื่อนไหวจะพัฒนาเต็มที่ นั่นก็คือเมื่อหนูน้อยอายุประมาณ 1 ขวบ 2 เดือนไปแล้ว
Help Improve the Skill ช่วยลูกกระตุ้นทักษะนี้ด้วยการให้ลูกฝึกถือช้อนพลาสติกเล็กๆ แม้ว่าจะไม่ได้กินอะไรก็ตาม เพราะจะช่วยให้ลูกพัฒนาความสามารถที่จะใช้ช้อนอย่างถูกต้องต่อไปได้ รวมทั้งกินอาหารพร้อมๆ กับลูก เพื่อที่หนูน้อยจะได้ดูตัวอย่างและเลียนแบบวิธีการกินอาหารที่ถูกต้องจากคุณ เมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกว่าลูกพร้อมที่จะกินอาหารด้วยช้อนได้เองแล้ว เริ่มต้นทดลองด้วยอาหารที่ตักง่าย เช่น โจ๊ก หรือ โยเกิร์ต อย่าคาดหวังว่าลูกจะนำอาหารทั้งหมดในช้อนเข้าปากได้โดยไม่เลอะเทอะในครั้งแรก ของอย่างนี้ก็ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนเหมือนกันค่ะ ข้อควรระวังคือ อย่าเพิ่งให้ลูกใช้ส้อมในช่วงวัยนี้แม้จะเป็นส้อมพลาสติก ก็อาจทำอันตรายลูกน้อยได้เหมือนกัน
The Skill “สร้างสรรค์งานศิลปะ” เมื่อย่างเข้าสู่วัยประมาณขวบครึ่ง กล้ามเนื้อมือของหนูน้อยจะเริ่มแข็งแรงจนสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะง่ายๆ ได้ค่ะ คุณอาจจะพบว่าลูกสามารถกลิ้งแป้งโดว์ไปมาจนเป็นลูกบอลกลมๆ ได้ หรือหนูน้อยบางคนก็อาจจะบดบี้แป้งโดว์ด้วยฝ่ามือจนแบนแต๋ดแต๋ ซึ่งเหล่านี้คือความสามารถใหม่ๆ ของหนูน้อยวัยนี้ค่ะ
Help Improve the Skill แป้งโดว์ เป็นอุปกรณ์ที่ดีที่สุดในการช่วยพัฒนาทักษะและกล้ามเนื้อมือของหนูน้อยวัยนี้ค่ะ นอกจากนี้ คุณควรมีกระดาษและสีเทียนหรือสีชอร์ค เพื่อให้หนูน้อยฝึกจับสีแล้วละเลงลงบนกระดาษ อีกกิจกรรมที่น่าสนุกไม่แพ้กันคือ การใช้นิ้วมือวาดภาพค่ะ ซึ่งคุณอาจต้องดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษ หรือหากต้องการจะพัฒนาทักษะด้านความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือและการทำงานประสานกันระหว่างมือกับสายตา ลองให้ลูกฉีกกระดาษแล้วมาขยำเป็นลูกบอลก็สนุกไม่น้อยค่ะ
Household Toy ของเล่นในบ้าน เพิ่มพัฒนาการลูก (วางพร้อมภาพประกอบตามตัวอย่าง)
รู้หรือไม่ว่า ทารกนั้นชื่นชอบที่จะได้เล่นกับของใช้ง่ายๆ ในบ้านเป็นที่สุด และเจ้าของใช้ในบ้านที่กลายเป็นของเล่นของลูกนั้น ก็สามารถเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ให้กับเจ้าตัวเล็กได้เป็นอย่างดี หากคุณคิดจะหาของใช้ในบ้านมาให้ลูกเล่น ก็แค่ต้องแน่ใจว่าสิ่งของเหล่านั้นไม่ใช่เป็นของตกแตกได้ ไม่มีมุมที่แหลมคม และไม่มีชิ้นส่วนเล็กๆ ที่จะหลุดเข้าคอลูกได้ เท่านั้นเองค่ะ ซึ่งเราขอแนะนำ
• หม้อพร้อมฝาปิด เหมาะสำหรับหนูน้อยวัย 8-9 เดือนที่จะได้ฝึกพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา (Problem – Solving Skill) ด้วยการพยายามปิดฝาหม้อให้ได้ ยิ่งหากคุณมีหม้อและฝาหม้อหลายๆ ใบเจ้าตัวเล็กก็จะได้ทดลองจนกว่าจะปิดฝาหม้อได้ถูกใบ
• เสื้อผ้าสะอาดกลิ่นหอม หลังจากลูกอาบน้ำอาบท่าตัวหอมสะอาดแล้ว จะเป็นไรไปหากจะปล่อยให้เขาเล่นกับกองเสื้อผ้ากลิ่นหอมที่คุณซักแล้ว เลือกเสื้อผ้าสีสดๆ ไม่ต้องพับมากองให้ลูกได้สัมผัส หนูน้อยจะได้เรียนรู้เรื่องพื้นผิวต่างๆ ซึ่งช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
• ถ้วยตวง หนูน้อยวัย 7 – 10 เดือน จะเพลิดเพลินกับการวางถ้วยตวงใบเล็ก ลงในถ้วยตวงใบใหญ่ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมทักษะการประสานงานระหว่างนิ้วมือให้เจ้าตัวเล็กได้
Baby Hand Skill Month-by-Month
มาดูกันค่ะว่าในแต่ละเดือนนั้นหนูน้อยมีพัฒนาการกล้ามเนื้อมืออย่างไรบ้าง
• วัย 1-2 เดือน ในวัยนี้หนูน้อยมักจะกำมืออยู่ตลอด หากคุณจับมือลูกกางออก ไม่นานมือลูกก็จะกลับมากำแน่นกว่าเก่า นี่เองปฏิกริยาสะท้อนกลับที่ติดตัวหนูน้อยมาตั้งแต่เกิด
• วัย 3- 4 เดือน กล้ามเนื้อมือของลูกเริ่มแข็งแรงพอที่จะคว้าของเล่นที่คุณยื่นให้ได้ ผนวกกับพัฒนาการด้านการมองทำให้หนูน้อยชื่นชอบที่เอื้อมมือตามสิ่งของที่เคลื่อนไหวไปมา เช่น โมบายต่างๆ เจ้าตัวเล็กบางคนอาจค้นพบอวัยวะต่างๆ ของตัวเอง เช่น นิ้วเท้าน้อยๆ ที่เจ้าตัวนี้มักจะจับเข้าปาก
• วัย 5-6 เดือน ช่วงเวลานี้เหมาะที่คุณจะให้ลูกได้สัมผัสหนังสือผ้าสีสดใส เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสให้กับลูกค่ะ
• วัย 7-8 เดือน เป็นช่วงเวลาแห่งความตื่นเต้นกับการเรียนรู้ใหม่ๆ เจ้าตัวเล็กอาจจะสามารถเปลี่ยนของเล่นจากมือหนึ่งไปยังอีกมือหนึ่ง นำของเล่นที่อยู่ในมือทั้งสองมากระทบกันให้เกิดเสียง ดังนั้นของเล่นที่ส่งเสียงจะดึงดูดหนูน้อยวัยนี้ได้มากค่ะ
• วัย 9-10 เดือน เจ้าตัวเล็กจะตื่นเต้นกับการจับของเล่นใส่กล่องหรือใส่ถุง หนูน้อยอาจสามารถจัดการให้รถของเล่นวิ่งได้ด้วยการไถล้อรถ รวมทั้งเปิดประตูบ้านตุ๊กตา ซึ่งการกระทำเหล่านี้ช่วยให้เจ้าตัวเล็กเข้าใจเรื่องความเป็นเหตุเป็นผล (Cause & Effect)
• วัย 10 – 12 เดือน แม้ว่าหนูน้อยจะควบคุมกล้ามเนื้อมือได้มากขึ้นแล้ว แต่เจ้าตัวเล็กก็ยังต้องฝึกทักษะการใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้เพื่อหยิบจับสิ่งของ คุณอาจพบว่าลูกหยิบของชิ้นเล็กๆ ได้บ้าง รวมทั้งอาจถือถ้วยน้ำดื่มเองได้แล้ว
(Some images used under license from Shutterstock.com.)