Haijai.com


รังสีรักษากับมะเร็งเต้านม


 
เปิดอ่าน 2439

รังสีรักษากับมะเร็งเต้านม

 

 

ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม การรักษาหลักคือการผ่าตัด ซึ่งอาจพิจารณาผ่าตัดทั้งเต้านม หรือผ่าตัดเฉพาะก้อนมะเร็งโดยเก็บรักษาเต้านมไว้ หลังการผ่าตัดผู้ป่วยบางรายจะได้รับ การรักษาเสริมด้วยฉายรังสีและหรือการให้เคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับระยะและลักษณะทางพยาธิวิทยาของโรค การฉายรังสีหลังการผ่าตัดมะเร็งเต้านมนั้น เป็ฯส่วนสำคัญในการรักษามะเร็งเต้านม ช่วยป้องกันโรคมะเร็งไม่ให้กลับเป็นซ้ำบริเวณเต้านมที่ผ่าตัด และต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง อีกทั้งยังเพิ่มอัตราการรอดชีวิตในระยะยาว ส่วนเคมีบำบัดหลังการผ่าตัดจะช่วยรักษาโรคมะเร็ง ที่อาจมีการแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย

 

 

การฉายรังสีหรือรังสีรักษาที่ใช้ในปัจจุบัน ใช้รังสีเอ็กซ์หรือที่เราคุ้นหูกันในชื่อเอ็กซเรย์นั่นเอง แต่รังสีที่ใช้เพื่อการรักษามะเร็งนั้น จะเป็นรังสีที่มีพลังงานสูง เพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็ง ในปัจจุบันความรู้ความเข้าใจและเทคนิคทางรังสีรักษาที่ดีขึ้น ทันสมัยมากขึ้น ทำให้ฉายรังสีทำลายเซลล์มะเร็งได้อย่างถูกต้อง และมีความแม่นยำสูง ซึ่งสามารถลดปริมาณรังสีต่อเซลล์ปกติข้างเคียง และสามารถลดผลข้างเคียงที่เกิดจากการฉายรังสีให้เหลือน้อยได้

 

 

ปริมาณรังสีและบริเวณที่จะต้องฉษยรังสีในผู้ป่วยแต่ละคน อาจมีความแตกต่างกัน โดยต้องพิจารณาให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนใหญ่การฉายรังสีสำหรับมะเร็งเต้านม จะเป็นการฉายบริเวณหน้าอกและแผลผ่าตัด โดยบางรายอาจฉายครอบคลุมบริเวณต่อมน้ำเลหืองข้างเคียงร่วมด้วย เทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบันทำให้สามารถจำลองการฉายรังสี  โดยการใช้ภาพเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สร้างภาพ 3 มิติ เพื่อให้เห็นตำแหน่งของอวัยวะต่างๆ และสามารถกำหนดตำแหน่งและปริมาณรังสีในการฉายที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่ออวัยวะข้างเคียง หรือเกิดน้อยที่สุด เนื่องจากการฉษยรังสีเป็นการรักษาเฉพาะที่ ผลข้างเคียงจึงเป็นเฉพาะที่เช่นกัน เช่น อาจมีผิวหนังดำคล้ำ บางคนเกิดผิวแห้ง แต่หลังจากฉายรังสี สภาพผิวจะค่อยๆ ดีขึ้น จนกลับเข้าสู่สภาวะปกติเอง

 

 

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีและเทคนิคเพื่อการฉายรังสีสำหรับมะเร็งเต้านม ในปัจจุบันมีเป้าหมายในการคุมโรคให้ได้ดีที่สุด ในขณะเดียวกันก็พยายามให้เกิดผลข้างเคียงให้น้อยที่สุดด้วยเช่นกัน เทคนิคการฉษยรังสีไม่ว่าจะเป็นการฉายรังสีแบบ 3 มิติ หรือการฉายรังสีแบบปรับความเข้ม สามารถลดปริมาณรังสีต่ออวัยวะอื่นๆ บริเวณใกล้เคียง ลดผลข้างเคียงในระยะยาวได้ การที่สามารถฉายรังสีได้อย่างตรงจุดและแม่นยำ ยังช่วยให้สามารถควบคุมมะเร็งเต้านมได้ดีขึ้นด้วย

 

 

นายแพทย์จักรพงษ์ จักกาบาตร์

แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา

Breast Health Centre โรงพยาบาลบีเอ็นเอ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)