Haijai.com


ฉีดโบท็อกซ์รักษาโรคไมเกรน


 
เปิดอ่าน 6238

โบท็อกซ์ ไม่ได้มีดีแค่ทำสวย แต่รักษาโรคได้

 

 

สาวๆ หลายคนคงรู้จัก “โบท็อกซ์” กันเป็นอย่างดี สารที่ใครๆ มักให้ความสำคัญในเรื่องของการลดริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า ให้กลับมาเบบี้เฟซเต่งตึงดังเดิม แต่ใครว่าโบท็อกซ์มีดีแต่เรื่องความสวยความงามเพียงอย่างเดียว เพราะปัจจุบันโบท็อกซ์ สามารถช่วยรักษาโรคได้ด้วย โดยเฉพาะ “โรคไมเกรนและอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ” นับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาที่ได้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผู้ป่วยก็กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วและดีขึ้นด้วย

 

 

รู้จักกับไมเกรน ก่อนโบท็อกซ์

 

ไมเกรนจัดอยู่ในโรคของการปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ ไม่พบพยาธิสภาพในสมอง เป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการปวดศีรษะเป็นๆ หายๆ ซึ่งอาจมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การงานหรือการเรียนได้ โรคนี้มีผลทำให้ระบบรับความรู้สึกเจ็บปวด มีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากขึ้น

 

 

ซึ่งไมเกรนเกิดจากระบบรับความรู้สึกเจ็บปวด บริเวณใบหน้ามีความไวมากกว่าปกติ เจออะไรกระตุ้นนิดกระตุ้นหน่อย ก็ทำให้ปวดหัวขึ้นมาได้ไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ เจออะไรกระตุ้นนิดกระตุ้นหน่อยก็ทำให้ปวดหัวขึ้นมาได้ เกิดการอักเสบของเส้นเลือด สมอง และเส้นประสาท ซึ่งพบได้ในผู้หญิงร้อยละ 18 และพบในผู้ชายร้อยละ 6 และจะพบมากที่สุดในช่วงอายุ 25 ปี และ 55 ปี สามารถสังเกตอาการได้ดังนี้

 

 ปวดศีรษะนาน 4-72 ชั่วโมง (ไม่ได้รับยา)

 

 

 ปวดศีรษะด้านเดียว (พบการปวด 2 ข้างได้ 40-50%)

 

 

 มีอาการปวดตุบๆ เมหือนเส้นเลือดเต้น หรอืปวดแบบหนักๆ บีบๆ ก็ได้

 

 

 ปวดรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก

 

 

 ปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวศีรษะหรือร่างกาย

 

 

 มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือไวกับแสง/เสียง

 

 

 ซึ่งบางรายอาจมีอาการนำมาก่อนการปวดศีรษะ

 

 

ผลกระทบจากโรคปวดศีรษะไมเกรน

 

80% ของผู้ป่วยไมเกรน มีอาการปวดศีรษะรุนแรงมาก

 

60% มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมกับอาการปวดศีรษะ

 

50% มีอาการไวกับแสง และไวกับเสียงร่วมด้วย

 

75% มีประสิทธิภาพการเรียนหรือทำงานลดลง

 

50% ต้องหยุดงานหรือหยุดเรียน เนื่องจากปวดศีรษะไมเกรน

 

 

หลายทางเลือกรักษาไมเกรน

 

 การรักษาแบบให้ยาป้องกัน

 

ยากลุ่มอาการชัก ยาต้านซึมเศร้า ยายับยั้งตัวจับแคลเซียม ยายับยั้งตัวรับเบต้า เป็นต้น ซึ่งต้องรับประทานยาทุกวันติดต่อกันประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี โดยยาจะเริ่มออกฤทธิ์หลังจากรับประทานประมาณ 2 สัปดาห์ ช่วยลดความรุนแรงของอาการไมเกรน ลดความถี่ ทำให้ยาแก้ปวดออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น

 

 

การป้องกันไมเกรนโดยการใช้วิตามินและเกลือแร่

 

 แมกนีเซียม (Magnesium) 400-600 มิลลิกรัมต่อวัน

 

 

 วิตามินบี 2 (Riboflavin) 400 มิลลิกรัมต่อวัน

 

 

 โคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10) 150-300 มิลลิกรัมต่อวัน

 

 

ค็อกเทลรักษาอาการปวดศีรษะ (Headache Cocktail)

 

ใช้ยาฉีดร่วมกันหลายชนิด เพื่อลดอาการปวดศีรษะและการกลับเป็นซ้ำให้ผลดีกว่าการฉีดยาแก้ปวดอย่างเดียว ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการดีขึ้นมากในไม่ถึงชั่วโมง ลดอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้

 

 

 การรักษาไมเกรนโดยไม่ใช้ยา

 

 การฝังเข็ม

 

 

 การทำกายภาพบำบัด

 

 

 หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น

 

 

 การบำบัดโดยการปรับพฤติกรรมและความคิด

 

 

 การฝึกการผ่อนคลาย

 

 

 ไบโอฟีดแบค (Biofeedback) เป็นการให้ผู้ป่วยเรียนรู้การควบคุมการทำงานของร่างกาย เช่น การหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิที่ปลายมือ และการกำหนดจิต

 

 

 การกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (transcranial magnetic stimulation) เหนี่ยวนำให้เกิดไฟฟ้ากระแสตรง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในสมอง การใช้อุปกรณ์ปล่อยกระแสไฟฟ้า (cefaly) คาดไว้บริเวณหน้าผาก เพื่อกระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 (trigeminal nerve stimulation)

 

 

ฉีด “โบท็อกซ์” รักษาไมเกรน

 

ใครจะรู้จริงๆ ว่าโบท็อกซ์หรือโบทูลินัมท็อกซิน ชนิด เอ (Botulinum toxin Type A) ที่เอาไว้ทำสวยกันนั้นคือ สารพิษชนิดหนึ่งที่มีความแรงมากที่สุดในโลก ออกฤทธิ์โดยทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต เมื่อให้ยากล้ามเนื้อจึงจะคลายตัว นอกจากความสวยความงามที่สาวๆ หนุ่มๆ มักฉีดเพื่อลดริ้วรอยแล้ว โบท็อกซ์ยังมีประโยชน์ทางการแพทย์ด้วย แต่ในเมื่อมีฤทธิ์แรงขนาดนี้แล้ว จะเป็นอันตรายหรือไม่

 

 

การนำโบท็อกซ์มารักษาไมเกรนเริ่มขึ้นจาก คนไข้มาฉีดโบท็อกซ์เพื่อลดริ้วรอยกับแพทย์ พบว่าอาการปวดไมเกรนดีขึ้น จึงได้นำมาศึกษาและวิจัยเกิดขึ้นมาหลังจากนั้น ต่อมาองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา จึงอนุญาตให้นำโบท็อกซ์มารักษาโรคปวดไมเกรนเรื้อรังได้

 

 

การฉีดโบท็อกซ์รักษาไมเกรนนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นไมเกรนเรื้อรัง (ปวดอย่างน้อย 15 วันต่อเดือน) ซึ่งต้องเข้ามารับการฉีดโบท็อกซ์ ทุก 3 เดือน เนื่องจากเป็นสารพิษชนิดหนึ่ง ร่างกายจึงมีกลไกในการจำกัดสารพิษออกไป สามารถช่วยลดความรุนแรงและความถี่ของอาการปวดศีรษะได้ประมาณ 70% นอกจากนี้ยังมีผลข้งเคียงน้อย หรือผลข้างเคียงลักษณะแบบชั่วคราว เช่น หนังตาตก รูปหน้าเบี้ยว เป็นต้น

 

 

โบท็อกซ์ช่วยลดไมเกรนได้อย่างไร

 

เส้นประสาทจะมีการติดต่อสื่อสารกับเซลล์กล้ามเนื้อ เมื่อมีการติดต่อกัน สารอะเซทธิลโคลีน (Acethyl Choline) จะถูกปล่อยออกมาจับกับตัวรับที่อยู่ในกล้ามเนื้อเส้นประสาท จึงมีการสั่งการให้กล้ามเนื้อหดตัว ซึ่งโบท็อกซ์จะยับยั้งสารอะเซทธิลโคลีน ที่จะไปจับกับผนังเซลล์ ไม่ให้เกิดการส่งสารสื่อประสาท กล้ามเนื้อจึงไม่หดตัวนั่นเอง และนอกจากจะยับยั้งตัว สารอะเซทธิลโคลีน แล้วยังยับยั้งสารสื่อประสาทที่ทำให้เกิดการอักเสบได้ ทำให้รู้สึกเจ็บปวดลดลงได้

 

 

หลายคนอาจคิดว่า หากโบท็อกซ์เป็นสารพิษที่ทำให้กล้ามเนื้อถึงขั้นเป็นอัมพาตได้ แล้วจะสามารถรรักษาโรคหรือทำสวยได้อย่างไร ขอบอกว่าแพทย์ใช้ในปริมาณที่น้อยมาก น้อยจนไม่ถึงกับทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตได้ขนาดนั้น ผู้ที่เป็นไมเกรนส่วนหนึ่งจะมีการหดเกร็งหรือมีการหดตัวของกล้ามเนื้อมากเกินไป เนื่องจากมีความวิตกกังวล และความเครียดร่วมด้วย ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้ามีการหดเกร็งเยอะ ซึ่งโบท็อกซ์จึงช่วยยับยั้งการหดตัวได้ดี ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา และได้รับการจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่างถูกต้อง จึงรับรองได้ว่า

 

 

ตำแหน่งการฉีดโบท็อกซ์ในผู้ป่วยไมเกรน

 

ตำแหน่งในการฉีดรักษาไมเกรนจะฉีดบริเวณรอบๆศีรษะของผู้ป่วย ต้นคอ และบ่า รวมทั้งหมด 31 จุด จุดละ 5 ยูนิต รวมเป็น 155 ยูนิต ซึ่งมีผลงานวิจัยว่าหากฉีดครบทั้งหมด 31 จุด แล้วจะสามารถป้องกันโรคไมเกรนได้

 

 

นายแพทย์ชาคร จันทร์สกุล

อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท

โรงพยาบาลกรุงเทพ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)