© 2017 Copyright - Haijai.com
Q : ลูกอายุได้ 3 เดือนแล้วค่ะ นับตั้งแต่คลอดมาดิฉันยังไม่เคยให้ลูกดูดน้ำเลยสักครั้งเดียว แบบนี้จะเป็นอันตรายไหมคะ เพราะดิฉันเคยได้ยินว่า เด็กต่ำกว่า 6 เดือน ทานนมแม่อย่างเดียวไม่ต้องกินน้ำก็ได้ แต่เพื่อนดิฉันบอกว่า ระวังลูกจะขาดน้ำ
A : การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ถูกต้องนั้นให้กินนมแม่อย่างเดียวจริงๆ ไม่ต้องให้กินน้ำเพราะลูกจะได้ดูดนมแม่ได้เต็มที่ ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวจะดูดนมเต็มที่จะได้รับน้ำนมประมาณ 600-9,000 มิลลิลิตร แม่บางคนอาจผลิตนมได้ถึง 1 ลิตร อัตราส่วนกำลังงานต่อน้ำเท่ากับ 1:1.5 ทารกที่กินนมแม่ได้เต็มที่จะได้รับน้ำจากนมพอเพียง ร่างกายมีน้ำพอเพียงกับที่เสียไปทางผิวหนัง ทาง ปอด และทางไต น้ำเสียไปทางผิวหนังเพื่อระบายความร้อนโดยการระเหยและทางเหงื่อ เสียไปทางปอดจากการทำให้ลมหายใจชื้น เมื่อหายใจเข้าแล้วระบายน้ำติดไปด้วยเมื่อหายใจออก ดังที่เห็นฝ้าน้ำติดบนผิวกระจกเมื่อเราหายใจรดบนผิวกระจก และเสียน้ำทางไตเพื่อขับถ่ายของเสียออกไปทางปัสสาวะ ของเสียส่วนใหญ่เกิดขึ้นเมื่อเผาผลาญโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตพอ ธรรมชาตินั้นสร้างให้แม่มีน้ำนมสำหรับเลี้ยงทารก โดยน้ำนมแม่มีโปรตีนต่ำกว่านมวัวผสม มีน้ำตาลแลคโตส และโอลิโกแซคคาไรด์ ปริมาณสูงกว่านมวัวผสมมาก ปริมาณสารอาหารเหล่านี้แน่นอนได้กำหนดให้มนุษย์ผู้เป็นแม่สร้างขึ้นได้เหมาะสมอย่างมหัศจรรย์ ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวได้รับสารอาหารพอเพียงสำหรับการเติบโต ถ้าลูกกินนมได้อิ่ม กินแล้วนอนหลับได้ ตื่นมาเล่นได้ น้ำหนักตัวขึ้นตามเกณฑ์ แสดงว่าลูกสบายดี ทารกกินนมแม่อย่างเดียว (Exclusively Breastfed) ไม่ต้องกินน้ำเพิ่มจนถึงอายุ 6 เดือน ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะขาดน้ำ เมื่อถึงอายุเกิน 6 เดือน จึงให้อาหารเด็กที่เหลว ป้อนให้ได้กำลังงานเพิ่ม ซึ่งเมื่อได้อาหารเพิ่มเข้าไปในร่างกาย ย่อมมีของเสียที่จะต้องขับออกทางไตเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงต้องกินน้ำเพิ่มให้เพียงพอ
คุณหมอวันดี
(Some images used under license from Shutterstock.com.)