© 2017 Copyright - Haijai.com
โรคจิตกับโรคประสาท ต่างกันอย่างไร
โรคจิตและโรคประสาทนั้นเป็นคนละโรคกัน มีสาเหตุการเกิดและวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน โรคจิต ในทางการแพทย์จะเรียกว่า “โรคจิตเภท” ส่วน โรคประสาท จะเรียกว่า “กลุ่มโรควิตกกังวล”
ในทางจิตเวช เราอาจจะแบ่งกลุ่มโรคคร่าวๆ ได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ ดังนี้
1.โรคที่มีความผิดปกติ ในด้านของความคิด
กลุ่มนี้เรียกอีกอย่างว่า “โรคจิตเภท” พบได้ร้อยละ 0.5-1 เท่านั้น เช่น มีความหลงผิด คิดว่าจะมีคนมาทำร้าย ระแวง หากเป็นมาก อาจะมีภาวะหูแว่ว ประสาทหลอนได้ เกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมองที่ชื่อว่า “โดปามีน” มีมากเกินไป ส่วนใหญ่มีส่วนจากกรรมพันธุ์ โดยอาการจะแสดงเมื่ออายุ 15-35 ปี อาการจะเกิดช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับตัวกระตุ้น เช่น มีกรรมพันธุ์อยู่แล้ว มีความเครียดมาก และใช้สารเสพติดร่วมด้วย ก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้แสดงอาการของโรคออกมาได้ มากกว่าคนที่ไม่มีความเสี่ยง เป็นต้น
วิธีการรักษา จะรักษาด้วยยาเป็นหลัก เนื่องจากสาเหตุของโรคเกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีที่ชื่อว่า “โดปามีน” ยาปัจจุบันมีพัฒนาการเรื่องยารักษาที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก มีประสิทธิภาพดีและผลข้างเคียงน้อย ช่วยลดอาการได้มาก
2.โรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์
เช่น ในกลุ่มนี้จะมีอยู่ 2 โรคที่พบได้บ่อย คือ
1.โรคซึมเศร้า คือ คนที่เป็นจะมีอารมณ์เศร้าที่มากและรุนแรงกว่าคนทั่วไป เป็นยาวนานตลอดทั้งวันติดต่อกัน อย่างน้อย 2 สัปดาห์ มีท้อแท้ เบื่อหน่าย เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ รู้สึกอ่อนเพลีย เชื่องช้า สมาธิ/ความจำไม่ดี มีความคิดเชิงตำหนิตัวเอง และคิดซ้ำๆ เกี่ยวกับเรื่องการตาย
2.โรคไบโพล่าร์ (Bipolar Disorder) หรือที่เรียกกันว่า โรคอารมณ์สองขั้ว ผู้ป่วยจะมีอาการทั้ง 2 แบบ ทั้ง ซึมเศร้า และ “แมเนีย” อาการแมเนีย คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีความร้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไปจากเดิมมากๆ เช่น จะมีอารมณ์ดี สนุกสนาน คึกคักเกินเหตุ เชื่อมั่นในตัวเองสูง ขยันสุดๆ ชอบพูด ชอบคุย พูดเสียงดัง บ้าพลัง แต่งตัวสีสันฉูดฉาด ช้อปปิ้งกระจาย คิดเร็ว ทำเร็ว หรือ ฉุนเฉียว ก้าวร้าว
วิธีการรักษา ในกลุ่มนี้จะเป็นการรักษาควบคู่ คือ มีการใช้ยารักษาร่วมกับจิตบำบัดด้วย เนื่องจากหากทานยาอย่างเดียว แต่ถ้าไม่ปรับวิธีคิดหรือปรับพฤติกรรม อารมณ์อาจจะกลับมาเหมือนเดิม
3.โรคกลุ่มวิตกกังวล
สมัยก่อนจะใช้คำว่า “โรคประสาท” ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “กลุ่มโรควิตกกังวล” จะมีโรคบ่อยๆ ดังนี้ โรคแพนิก (Panic) โรคย้ำคิดย้ำทำ โรควิตกกังวลไปทั่ว โรคกลัว ส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นโรคในกลุ่มนี้จะเป็นเหมือนบุคคลทั่วๆ ไป มีการคิด การพูด การทำงาน ได้เหมือนคนปกติ แต่หากมีเรื่องที่กังวลแล้ว จะมีความกังวลมาก และไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ในบางครั้ง ผู้ป่วยเองจะรู้ตัวและรู้สึกไม่สบายใจ จนต้องพยายามหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้ตนเองกังวล จนบางครั้งทำให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิต
วิธีการรักษา ในกลุ่มนี้เมื่อมีอาการจะมีเยอะมาก เช่น แพนิก ตื่นตระหนกตกใจ หายใจไม่ออก ใจสั่น ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน หวิวๆ เหมือนจะเป็นลม เกิดภาวะเหล่านี้เกิดจากความเครียด ความกังวลที่อยู่ในระดับสูง การใช้ยาจะช่วยในเบื้องต้น แต่ในระยะยาวต้องทำจิตบำบัดร่วมด้วย
4.โรคที่เกิดจากสารเสพติด
ยาเสพติดทุกชนิดรวมถึงแอลกอฮอล์ เมื่อดื่มหรือใช้นานๆ จะมีผลต่อสมอง ทำให้การคิดการตัดสินใจเปลี่ยนไป หรือการใช้สารกระตุ้น เช่น ยาบ้า ยาเค ยาอี จะทำให้เกิดอาการหูแว่ว ประสาทหลอนแบบฉับพลันขึ้นมาได้ หรือหากใช้ไปนานๆ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรคไบโพล่าร์ โรคซึมเสร้า หรือโรคจิตเภท
วิธีการรักษา จะมีการบำบัดตามแต่ละชนิดของยา เช่น บำบัดเรื่องการเลิกเหล้า เฮโรอีน ยาบ้า ยาแต่ละชนิดจะใช้วิธีการบำบัดและยารักษาแตกต่างกัน มีการกำจัดสารพิษหรือดีท็อกซ์ การให้ยา รวมถึงการทำจิตบำบัด ทำพฤติกรรมบำบัดเพื่อที่ไม่ทำใหกลับไปเสพซ้ำ
5.กลุ่มที่ไม่ได้เป็นโรค
ส่วนใหญ่มักจะมีอาการเครียด วิตกกังวลไม่มาก มีปัญหากับเพื่อนร่วมงานหรือครอบครัว กลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยา การทำจิตบำบัด พูดคุยกับจิตแพทย์ ฝึกวิธีคิดในเชิงบวกให้เข้าใจปัญหามากขึ้น สุดท้ายหากปัญหาแก้ไม่ได้จริงๆ ก็ฝึกที่จะยอมรับและอยู่กับปัญหาให้ได้ด้วยใจที่เป็นสุขได้
เรื่องของระยะเวลาในการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับโรค และความรุนแรงของโรค ซึ่งแพทย์จะทำการประเมินเป็นระยะรวมถึงการพูดคุยเป็นรายบุคคล ส่วนใหญ่ปัจจัยที่ทำให้คนไข้ดีขึ้น นอกจากการทานยาและพูดคุยกับแพทย์แล้ว จะเป็นเรื่องทัศนคติของคนในสังคม หากผู้ป่วยได้ครอบครัวหรือสังคมที่เข้าใจ ไม่ตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ซ้ำสอง ส่วนใหญ่จะมีกำลังใจและสามารถฟื้นฟูได้เร็ว
นายแพทย์จิตริน ใจดี
จิตแพทย์ประจำศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ
โรงพยาบาลกรุงเทพ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)