© 2017 Copyright - Haijai.com
ไขข้อสงสัย เรื่องขาโก่ง
Q : ลูกดิฉันอายุ 2 ขวบ แต่ขามีลักษณะโก่งค่ะ อยากทราบว่าถ้าตัดแล้วจะสามารถทำให้ตรงได้ไหม หรือมิวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง
A : ภาวะขาโก่ง เป็นหนึ่งในภาวะที่ผู้ปกครองนำบุตรหลานมาพบแพทย์มากที่สุด ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ว่าขาของเด็ก มีลักษณะโก่งหรือโค้งงอเล็กน้อย ต้องขอบอกว่าจริงๆ แล้วเด็กเกือบทุกคนเกิดมาขาโก่งในระยะแรก ซึ่งเชื่อกันว่าทารกที่อยู่ในครรภ์ในระยะ 1-2 เดือน สุดท้ายก่อนคลอด ต้องเบียดตัวเองอยู่ในมดลูกที่มีเนื้อที่ที่จำกัด และมักจะอยู่ในท่างอศอก สะโพก ขา และงอเท้า เมื่อคลอดจึงทำให้พ่อแม่ส่วนใหญ่เป็นกังวลกันมาก แต่ลักษณะนี้จะเป็นขาโก่งจากธรรมชาติ เรียกว่า (Physiologic Bow Legs) ซึ่งสามารถพัฒนาดีขึ้นได้เองเมื่อโตขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 2-3 ปี ขาจะเริ่มตรงเอง และเมื่อเวลาผ่านไปอีก 1-2 ปีเด็กจะเริ่มยืนหรือเดินแบบเข่าชิด หรือที่เรียกว่าขาเป็ด หรือขาฉิ่ง (Physiologic Knock Knee) โดยจะสังเกตเห็นชัดเมื่ออายุ 3-4 ปี หลังจากนั้นขาและเข่าของเด็กจะกลับมตรงเหมือนเดิม
แต่อย่างไรก็ตามจะมีภาวะขาโก่งที่เป็นโรคและต้องได้รับการรักษาจริงๆ เรียกว่า โรคบราวซ์ (Blount’s Disease) ปัจจัยที่มีส่วนทำให้เกิดโรคได้แก่ เด็กยืนหรือเดินเร็วก่อนวัย หรือพบในเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากเชื้อชาติ หรือขาโก่งที่เกิดจากโรคที่เรียกว่า Ricket คือ โรคที่เกิดจากกระดูกขาดแคลเซียม เป็นต้น ซึ่งบางครั้งอาจจำเป็นต้องใส่อุปกรณ์กั้นขาโก่ง หรือทำการผ่าตัดรักษาได้ เมื่ออายุ 3-4 ปี และหลังจากผ่าตัดจะต้องใส่เฝือกนาน 6-8 สัปดาห์
ใช่หรือมั่ว? ความเชื่อเรื่องขาหายโก่ง
ความเชื่อ ขาโก่งเพราะใส่ผ้าอ้อม
ใช่หรือมั่ว ตอบเลยว่าไม่จริงครับ เพราะจริงๆ แล้ว การใช้ผ้าอ้อมอาจจะช่วยป้องกันสะโพกหลุดในเด็กได้ดีทีเดียว
ความเชื่อ ขาโก่งเพราะอุ้มลูกเข้าเอว
ใช่หรือมั่ว ไม่จริงอีกเช่นกัน ซึ่งการอุ้มลูกเข้าเอว อาจจะช่วยกันสะโพกหลุดได้ด้วย
ความเชื่อ ดัดขาแก้ขาโก่งได้
ใช่หรือมั่ว ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนในเรื่องนี้ แต่มีงานวิจัยส่วนใหญ่ว่า ถึงจะไม่ดัดก็ทำให้ขาเด็กสามารถพัฒนาการตรงได้เอง
ความเชื่อ ส้นสูงทำให้ขาโก่ง
ใช่หรือมั่ว ไม่เกี่ยวครับ น่าจะเป็นเรื่องปวดเมื่อยมากกว่า
ความเชื่อ นั่งไขว่ห้างทำให้ขาโก่ง
ใช่หรือมั่ว ความเชื่อนี้ไม่จริงเลย นั่งไขว่ห้างจะทำให้ปวดเมื่อย และอาจเกิดเหน็บชามากกว่าครับ
รศ.นพ.จตุพร โชติกวณิชย์
ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ
โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)