© 2017 Copyright - Haijai.com
จบปัญหาออฟฟิศซินโดรมด้วย การออกกำลังกาย
ภาวะของออฟฟิศซินโดรมอาการปวดกล้ามเนื้อคอและกล้ามเนื้อหลังที่เป็นเรื้อรัง ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงอายุ 20-60 ปี เนื่องจากผู้หญิงไม่ค่อยชอบออกกำลังกาย โดยปกติพยาธิสภาพของกล้ามเนื้อจะมีการทำงานที่สานกันอยู่ มีการคลายและหดตัวอาการที่ปวดเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อแล้วเกิดการค้าง ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงได้ หรือการใช้งานของกล้ามเนื้อมัดเดิมๆ เป็นเวลานานก็ยิ่งทำให้กล้ามเนื้อหดตัวและปวดมากกว่าเดิมด้วย
เริ่มรู้ตัวว่าเป็นแล้วจะทำอย่างไรดี
• อาการเฉียบพลัน
อันดับแรกควรทานยาลดอาการอักเสบก่อน พักหรือลดการใช้กล้ามเนื้อ ทำกายภาพบำบัด เช่น การทำอัลตราซาวด์ การใช้ความร้อนเพื่อลดอาการปวด การวางแผ่นร้อน แต่การนวดและการฝังเข็ม มักทำในช่วงเรื้อรังไปแล้ว (เกิน 1 เดือน) เนื่องจากในระยะเฉียบพลันจะส่งผลเสียให้ปวดและอักเสบมากกว่าเดิม ปัจจุบันเรามีการยิงกระแสไฟฟ้า เข้าไปที่กล้ามเนื้อมัดนั้นๆ มีการยิงแบบกระจายและแบบเฉพาะจุด หรือการฉีดสเตียรอยด์หรือยาชาเข้าไปในกล้ามเนื้อ ได้ผลดีแต่อาจมีผลทำให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดการฝังอยู่ในกล้ามเนื้อเนื่องจากเป็นสเตียรอยด์ ส่วนใหญ่แพทย์จะเลี่ยงวิธีนี้ นอกจากจะมีอาการปวดมาก จนไม่สามารถขยับได้ หรือมีปัญหาการใช้ชีวิตประจำวันมากๆ
• อาการเรื้อรัง
กลุ่มนี้มักพ้นจากอาการเฉียบพลันมาแล้ว จนกระทั่งหายแล้ว และมีอาการกลับมาเป็นใหม่อีกครั้ง การรักษาจะคล้ายๆ กัน คือ พักหรือลดการใช้งานกล้ามเนื้อนั้นๆ เปลี่ยนพฤตกรรม เช่น การนั่ง ท่านั่ง ระดับคอมพิวเตอร์ ช่วงนี้สามารถนวด ฝังเข็มได้ แต่เพียงจะทำให้กล้ามเนื้อที่หดคลายออกเท่านั้น สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ หรือการยิงกระแสไฟฟ้า การวางแผ่นร้อน การทำอัลตราซาวด์ แต่ที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้อาการเรื้อรังหายไป คือ การออกกำลังกายกล้ามเนื้อหลังและลำคอ เพื่อให้กล้ามเนื้อเกิดการสมดุล เช่น การออกกำลังกายในท่า Back Extension Exercise หรือ Lower Back Exercise ควรทำเป็นเซ็ท เซ็ทละ 20 ครั้ง จำนวน 3 เซ็ท ทำทุกวัน จะช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อหลัง และคอให้หายไป
การป้องกันปัญหาออฟฟิศซินโดรม
1.ออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อได้สมดุล
2.ท่านั่งต้องเหมาะสม และไม่ควรนั่งท่าเดิมๆ เป็นเวลานาน
3.สภาพจิตใจและความเครียด จะทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวง่ายกว่าปกติ ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
4.สิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น เตียง ท่านอน เป็นต้น
นายแพทย์จตุพล คงภาวรสกุล
ศัลยกรรมกระดูกและข้อ
โรงพยาบาลพญาไท 3
(Some images used under license from Shutterstock.com.)