© 2017 Copyright - Haijai.com
เป็นเบาหวาน ต้องทานยาตลอดชีวิตจริงหรือ?
เมื่อพูดถึงโรคเรื้อรังอย่าง “โรคเบาหวาน” หลายคนคงรู้จักกันดีอย่างแน่นอนจากสถิติปี 2556 มีประชากรโลกถึง 382 ล้านคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ในจำนวนนี้มี 46% ที่ยังไม่ร็ตัวว่าเป็นโรค และเชื่อว่ามีอีกหลายคน โดยเฉพาะกับตัวผู้ที่เป็นโรคเบาหวานเอง หรือผู้ที่มีญาติพี่น้องเป็นโรคเบาหวาน ได้ตั้งคำถามในใจว่า ทำไมยาเบาหวานต้องรับประทานตลอดชีวิต และหากต้องรับประทานเป็นระยะเวลานานขนาดนั้น จะมีผลเสียต่อตับหรือไตหรือไม่
การรักษาโรคเบาหวานแบ่งได้ 2 วิธี คือ
1.การรักษาโดยไม่ใช้ยา
ด้วยวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอยู่ ได้แก่ การรับประทานอาหารให้ถูกต้อง ลดอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลจำกัดปริมาณอาหาร ปริมาณไขมันในคนที่มีโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วยต้องงดเค็ม ในคนที่มีไตทำงานผิดปกติต้องลดอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ โปรตีน เป็นต้น ร่วมกับการออกกำลังกายให้สม่ำเสมออย่างน้อย 4 ครั้งต่อสัปดาห์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ในกรณีมีความผิดปกติของเท้า เช่น เท้าชา ไม่รู้สึกนิ้วเท้าผิดรูป ต้องดูแลเรื่องรองเท้าให้เหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดแผล เป็นต้น
2.การรักษาโดยใช้ยา
เช่น ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย, ยาไพโอกลิตาโซน, ยาเมทฟอร์มิน, หรือการใช้อินซูลินชนิดฉีด ซึ่งยาแต่ละชนิดจะออกฤทธิ์แตกต่างกันไป โดยทั่วไปจะเริ่มใช้ยาเมื่อมีอาการ เช่น หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักเพิ่ม-ลด อ่อนเพลียหรือเมื่อใช้วิธีการแรกหือควบคุมอาหาร และออกกำลังกายแล้วไม่ได้ผล โดยแพทย์จะเลือกใช้ยาและวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยแต่ละราย
ทำไมคนเป็นเบาหวานต้องทานยาตลอดชีวิต
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นแล้วไม่หายขาด อยู่ติดตัวไปตลอดชีวิต เมื่อต้องเริ่มต้นรักษาด้วยยาเบาหวาน นั่นหมายถึงเซลล์ของตับอ่อนและเซลล์ต่างๆ นั้น สูญเสียการทำงานไปมากจน ทำให้โอกาสที่จะกลับมาเป็นปกตินั้นเป็นไปได้น้อยมาก จึงจำเป็นต้องใช้ยาไปตลอดชีวิตนั่นเอง แต่เราสามารถลดการใช้ยาให้น้อยลง หรือหยุดยาได้ชั่วคราว ถ้าหากว่าสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานนั้นได้รับการแก้ไขเช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอยู่ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ถ้าเมื่อไรไม่ดูแลตัวเอง หรือดูแลตัวเองได้ไม่ดี แน่นอนว่าโรคเบาหวานก็จะกลับมาหาเราเช่นเดิม
รับประทานยาเบาหวานต่อเนื่องมีอันตรายต่อตับหรือไตไหม
ยาแทบทุกชนิดเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับหรือไต หรือทั้งสองอวัยวะ และขับถ่ายทิ้งออกจากร่างกายทางปัสสาวะหรืออุจจาระ คนที่เป็นเบาหวานโดยส่วนใหญ่ ถ้าหากรับประทานยาอย่างถูกต้องตามแพทย์สั่ง จะไม่เป็นอันตรายต่อตับหรือไต แต่ก็พบความผิดปกติของผู้ที่เป็นโรคเบาหวานได้บ่อย ดังนั้น
• ความผิดปกติของตับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะไขมันเกาะตับ หรือไขมันพอกพูนในเนื้อตับ โดยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการใดๆ และไม่ทราบมาก่อน นอกจากตรวจเลือดหรือตรวจอัลตร้าซาวนด์ของตับจึงจะพบ บ่อยครั้งที่พบว่ามีความผิดปกติของการทำงานของตับจากยาที่รับประทานร่วมไปด้วยกันหลายๆ ขนาน เช่น ยาลดไขมันในเลือด
• ความผิดปกติของไต พบได้บ่อยมากในระยะแรกๆ จะมีโปรตีนที่เรียกว่าอัลบูมิน ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดเดียวกับในไข่ขาว ปนออกมาในปัสสาวะ เมื่อออกมามากขึ้น จะทำให้ปัสสาวะเป็นฟองในระยะต่อมาระดับอัลบูมินในเลือดจะลดลง เกิดอาการบวมได้ ในระยะท้ายของโรคเมื่อไตวายมากขึ้น ปัสสาวะจะน้อยลง จนต้องทำการล้างไตในที่สุด
อย่างไรก็ตามยาเบาหวานส่วนใหญ่ไม่เป็นสาเหตุให้ไตวาย ยาที่ทำให้ไตวายได้มากที่สุดคือกลุ่มยาแก้ปวด โดยเฉพาะยาแก้ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ไม่ควรซื้อทานเอง และไม่ควรทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน เมื่อไตและตับผิดปกติ จะต้องปรับเปลี่ยนยาเบาหวาน โดยยาบางชนิดต้องลดขนาดยาหรือต้องหยุดรับประทาน เพราะยาจะคั่งในกระแสเลือดเกิดภาวะแทรกซ้อนจากยาได้
ศ.นพ.สมพงษ์ สุวรรณวลัยกร
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ
โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี
(Some images used under license from Shutterstock.com.)