
© 2017 Copyright - Haijai.com
เติมรักล้นใจเพื่อลูกน้อย วัย 0-1 ปี
แน่นอนว่าเข้าสู่ปีใหม่ต้อนรับปีมังกรอย่างนี้ ของขวัญและสิ่งใหม่ๆ จัดได้ว่าเป็นที่ต้องการของใครหลายๆ คนในที่นี้ สำหรับผู้ที่กำลังจะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นคุณพ่อคุณแม่อย่างเต็มตัว “ลูกน้อย” ที่กำลังจะเกิดมาลืมตาดูโลกในอีกไม่นาน ถือเป็นของขวัญโบว์แดงชิ้นสำคัญที่ดีที่สุดในชีวิต และการดูแลเด็กขวบปีแรกนั้น นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อวางรากฐานให้ลูกเติบโตขึ้นมาด้วยพัฒนาการด้านต่างๆ ที่ดีต่อไปในอนาคต
เด็กวัยขวบปีแรกนั้นเป็นวัยที่มีการเจริญเติบและมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว เริ่มมีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่การชันคอ คว่ำ คืบ คลาน ลุกนั่ง และการเกาะยืน จะสื่อสารด้วยการส่งเสียงร้องอ้อแอ้และใช้ภาษาท่าทางเสียส่วยใหญ่เนื่องจากยังไม่สามารถสื่อสารด้วยการพูดได้ เด็กจะสามารถจำหน้าผู้เลี้ยงดูได้เมื่อมีอายุราวๆ 6 เดือน ต่อมาก็จะเริ่มติดแม่ หากมีคนแปลกหน้าเข้ามาอุ้มหรือสัมผัสก็จะส่งเสียงเรียกร้องหาแม่ทันที การดูแลเด็กวัยนี้จึงต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร รวมถึงการตอบสนองความต้องการของเด็กอย่างเหมาะสม ถ้าเด็กได้รับการตอบสนองอย่างเหมาะสมโดยผู้เลี้ยงดูคนเดิมตลอดเวลา เด็กก็จะมีความไว้วางใจต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเด็กถูกละเลยขาดการดูแลเอาใจใส่ที่ดี หรือเปลี่ยนผู้เลี้ยงดูบ่อยครั้งจะทำให้เด็กไม่ไว้วางใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจก่อให้เกิดบุคลิกภาพที่ผิดปกติต่อไปได้
สำหรับการเลี้ยงดูสมาชิกใหม่ตัวน้อยของครอบครัว ความรักและการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่อย่างใกล้ชิด เป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อพัฒนาการด้านการเจริญเติบโตทางร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญาที่ดีสมวัยต่อไป ซึ่งได้แก่
• การดูแลทางโภชนาการ “นมแม่” เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับการพัฒนาสมองของลูกในช่วงนี้ แต่ต้องไม่ลืมสร้างพฤติกรรมการกินที่เหมาะสม เช่น 4-6 เดือน อาจเริ่มให้ข้าวบดปริมาณน้อย 6-9 เดือน รับประทานอาหารเสริมวันละ 1 มื้อ อาจเริ่มให้เนื้อปลาสุก ไข่แดงต้มสุก ผักต้มสุกบด ผลไม้สุกบด น้ำซุป และน้ำผลไม้ (ไม่เกิน 2 ออนซ์) 9-12 เดือน ให้รับประทานอาหารเสริมวันละ 2 มื้อ อาหารเช่นเดียวกันกับอายุ 6 เดือน 12 เดือนรับประทานอาหารวันละ 3 มื้อ และในขวบปีแรกห้ามให้ไข่ขาว อาหารทะเล ยกเว้นปลา
• เมื่อลูกน้อยมีอายุ 1 ดือน แม่จะต้องหมั่นยิ้มแย้ม สบตา เล่นพูดคุยกับลูกอย่างสม่ำเสมอ เห่กล่อมด้วยน้ำเสียงที่เป็นจังหวะ อ่านหนังสือหรือร้องเพลงให้ลูกฟัง เอียงหน้าไปมาช้าๆ ให้ลูกมองตาม อุ้มบ่อยๆ อุ้มพาดบ่าบ้าง
• เมื่อลูกน้อยมีอายุ 2 เดือน เล่นกับลูกโดยแขวนของสีสด ห่างจากหน้าลูกประมาณ 1 ศอกให้ลูกมองตาม พูดคุยทำเสียงต่างๆ และร้องเพลงให้ฟัง ให้ลูกนอนคว่ำในที่นอนที่ไม่นุ่มเกินไป
• เมื่อลูกน้อยมีอายุ 3 เดือน ฝึกอุ้มลูกท่านั่ง พูดคุยทำเสียงโต้ตอบกับลูก ให้ลูกนอนเปล หรืออู่ ที่ไม่มืดทึบ
• เมื่อลูกน้อยมีอายุ 4 เดือน จัดที่ที่ปลอดภัยให้ลูกหัดคว่ำ และคืบคลาน เล่นกับลูกโดยชูของเล่นให้ลูกไขว่คว้า พูดชมเชย ให้กำลังใจลูก เมื่อลูกสามารถทำได้
• เมื่อลูกมีอายุ 5 เดือน หาของเล่นสีสันสดใสชิ้นใหญ่ที่ปลอดภัยให้ลูกหยิบ จับ และฝึกให้คลานไปหาพ่อแม่พ่อแม่ควรช่วยกันพูดคุย โต้ตอบ ยิ้ม และเส่นกับลูก
• เมื่อลูกน้อยมีอายุ 6 เดือน เวลาพูดให้เรียกชื่อของลูกบ่อยๆ เพื่อให้เขาสามารถจดจำชื่อของตัวเองได้ เล่นโยกเยกและหาของนุ่มๆ หรือของเล่นให้จับ
• เมื่อลูกน้อยมีอายุ 7 เดือน ฝึกให้ลูกได้คลานและนั่งเล่นเอง โดยที่คุณแม่คอยระวังอยู่อย่างใกล้ชิด ให้เล่นสิ่งที่มีสี และขนาดต่างกัน เช่น ลักษณะผิวเรียบ - หยาบ อ่อน – แข็ง ให้หยิบจับสิ่งของ เข้า - ออก จากถ้วย หรือกล่อง
• เมื่อลูกน้อยมีอายุ 8 เดือน กลิ้งของเล่นให้ลูกมองตาม เป็นการฝึกใช้สายตา พูดและทำท่าทางกับเขา อย่างเช่น จ๊ะเอ๋ จับปูดำ แมงมุม จ้ำจี้ ตบมือ เป็นต้น
• เมื่อลูกน้อยมีอายุ 9 เดือน หัดให้ลูกเกาะยืน เกาะเดิน หัดให้ช้นิ้วหยิบ จับของกินชิ้นเล็กเข้าปาก เช่น ข้าวสุก มะละกอหั่น มันต้มหั่น ฟักทอง ต้ม ห้ามใช้ถั่ว หรือของที่อาจทำให้เขาสำลักได้ฃ
• เมื่อลูกน้อยมีอายุ 10 เดือน จัดที่ให้ลูกคลาน และเกาะเดินอย่างปลอดภัย เรียกชื่อลูกและชูของเล่นให้กับเขา เพื่อสร้างความสนใจและลุกขึ้นมาจับ
• เมื่อลูกน้อยมีอายุ 1 ปี ให้ลูกมีโอกาสเล่นสิ่งของโดยอยู่ในสายตาพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูอย่างใหล้ชิด พูดชมเชย เมื่อลูกทำสิ่งต่างๆ ได้ พูดคุย ชี้ และบอกส่วนต่างๆ ของร่างกายเพื่อให้เขาเรียนรู้ และรู้จักอวัยวะร่างกายของตนเอง
นอกจากนี้แล้วคุณแม่ควรส่งเสริมพัฒนาการของลูกอย่างสมดุลรอบด้านและสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้ลูกได้มีโอกาสเรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ และควรทำการตรวจคัดกรองพัฒนาการของลูกเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักหรือส่วนสูง ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในพัฒนาการทางด้านร่างกาย เพื่อทราบว่า ลูกมีระดับพัฒนาการสมวัยหรือไม่ ถ้าลูกมีพัฒนาการสมวัย พ่อแม่จะได้รู้แนวทางในการส่งเสริมพัฒนาการขั้นต่อไป
(Some images used under license from Shutterstock.com.)