© 2017 Copyright - Haijai.com
การให้วัคซีนในเด็ก
การติดเชื้อเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยในเด็กทุกยุคทุกสมัย วัคซีนเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรค ที่เกิดจากการติดเชื้อ ปัจจุบันนี้มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคจากการติดเชื้อพัฒนาขึ้นใหม่ๆจำนวนมาก และป้องกันโรคได้ดีขึ้นกว่าเดิม เด็กในยุคนี้จึงโชคดีที่จะปลอดภัยจากโรคร้ายจำนวนมากด้วยวัคซีน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ สำคัญของคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องพาบุตรหลานไปรับวัคซีนให้ครบถ้วน เด็กไทยทุกคนจะได้รับวัคซีนที่จำเป็น ที่ต้องให้กับเด็กทุกคนฟรีจากสถานพยาบาลของรัฐบาล
นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนใหม่ๆที่อาจให้เสริมหรือทดแทน ซึ่งวัคซีนเหล่านี้ไม่ได้เป็นวัคซีนภาคบังคับและไม่ได้จัดสรรให้ฟรี โดยกระทรวงสาธารณสุข
รายละเอียดเกี่ยวกับวัคซีนชนิดใหม่ๆที่ อาจให้เสริมหรือทดแทน
1.วัคซีนป้องกันคอตีบ บาดทะยัก ไอกรนชนิดไร้เซลล์ พัฒนาขึ้นมา เนื่องจากวัคซีนไอกรนชนิดมีเซลล์ แม้ว่าเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค แต่มีข้อจำกัดในด้านผลข้างเคียงของวัคซีน ที่อาจเกิดอาการรุนแรงในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะทำให้เกิดปัญหาปวดบวมบริเวณที่ฉีด และในบางรายเกิดไข้สูง ร้องกวน งอแงมาก จนถึงอาจเกิดอาการชักจากไข้ได้ วัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์มีประสิทธิภาพดีในการป้องกันโรคและมีผลข้างเคียงดังกล่าวลดลง เช่น ไม่ค่อยมีไข้หรือปวดบวมตรงบริเวณที่ฉีด และลดปัญหาร้องกวนงอแง
2.วัคซีนฮิบ เป็นวัคซีนป้องกัน การติดเชื้อฮิบ (Hib – Haemophilus influenza type B) ที่ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี เชื้อฮิบติดต่อทางระบบหายใจโดยการ ไอจามรดกัน เด็กที่ต้องอยู่ในที่แออัดหรือเด็กอยู่ร่วมกับเด็กอื่นๆ เป็นจำนวนมาก มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าเด็กทั่วไป วัคซีนฮิบลดอัตราการเกิดโรคฮิบได้มากกว่าร้อยละ 90 ปัจจุบันนี้วัคซีนฮิบจะรวมอยู่ในเข็มเดียวกันกับวัคซีน คอตีบ บาดทะยัก ไอกรนชนิดไร้เซลล์ เพื่อสะดวกในการฉีด ไม่ต้องเจ็บตัวหลายครั้งและมีประสิทธิภาพดี
3.วัคซีนไวรัสโรต้า เป็นวัคซีนชนิดกิน ป้องกันการติดเชื้อโรต้าไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงในเด็กที่พบบ่อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 30 – 60 ของไวรัสทั้งหมดที่เป็นสาเหตุของอุจจาระร่วงที่ทำให้ต้องนอนโรงพยาบาล อายุที่พบบ่อยคือ 6 เดือนถึง 2 ปีผู้ที่ได้รับวัคซีนโรต้าแล้วยังอาจเป็นโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าได้ แต่อาการมักจะไม่รุนแรง ส่วนใหญ่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล วัคซีนโรต้ามี 2 ชนิด ชนิดที่ให้ 2 ครั้ง และ 3 ครั้ง ประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของโรคที่ต้องนอนในโรงพยาบาล ร้อยละ 85 – 95
4.วัคซีนนิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกต (PCV) ป้องกันการติดเชื้อ Streptococcus pneumoniae ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโรค ที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนในเด็กโดยเฉพาะในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เชื้อนิวโมคอคคัสทำให้เกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ และก่อให้เกิด IPD (Invasive Pneumococcal Disease) ได้แก่ การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น ประเทศไทยพบอุบัติการณ์ของ IPD ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีเป็นร้อยละ 5.16 – 28.90 ต่อแสนคน และพบเป็นสาเหตุอันดับ 2 ของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย รองจากเชื้อ Hib
วัคซีนมี 2 ชนิด
4.1 ชนิด PCV 13 ครอบคลุมเชื้อนิวโมคอคคัสที่ก่อให้เกิดโรคในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ได้ร้อยละ 81 – 95
4.2 ชนิด PCV 10 คลอบคลุมได้ร้อยละ 71 – 84 และป้องกันการเกิดหูชั้นกลางอักเสบจากเชื้ออื่นๆได้ร้อยละ 35 วัคซีนนิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกต (PCV) ใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็กที่แข็งแรงดี ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ถึง 5 ปี และเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปีที่มีภาวะเสี่ยงกับการเกิดโรค เช่น ผู้ที่ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่มีม้ามหรือการทำงานของม้ามผิดปกติ หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น หัวใจพิการแต่กำเนิด ปอดเรื้อรัง ฯลฯ เด็กที่ได้รับวัคซีน PCV ครบถ้วน แม้ว่าความเสี่ยงในการเกิดโรค IPD จะลดลงชัดเจน แต่ก็ยังอาจมีโอกาสเป็นโรค IPD ได้ เนื่องจากวัคซีนมิได้ครอบคลุมเชื้อที่อาจก่อโรคได้ทุกสายพันธุ์
5.วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยและนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วย เด็กผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เมื่อติดเชื้อจะมีอาการไข้สูงน้ำมูกไหล ไอ จาม และมีโอกาสเป็นโรคแทรกซ้อน เช่น หูชั้นกลางอักเสบ และปอดอักเสบ แม้ว่า จะมียาต้านไวรัสใช้ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ได้ผลดี แต่การป้องกันด้วยวัคซีนมีความคุ้มทุนมากกว่ารอให้ป่วยแล้วค่อยรักษา แนะนำให้ฉีดในเด็กที่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะในเด็ก อายุ 6 – 23 เดือนและเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด หอบหืด หัวใจ ไตวาย มะเร็ง เบาหวาน ธาลัสซีเมีย ผู้ป่วยที่ต้องกินแอสไพรินนานๆ การให้วัคซีนในเด็กที่อายุต่ำกว่า 9 ปี ครั้งแรกในชีวิต ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 1 เดือน ในปีต่อไปฉีดปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากสายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่ มีการระบาดเปลี่ยนแปลงทุกปี วัคซีนที่ฉีดจะป้องกันได้เฉพาะสายพันธุ์ที่ฉีดในปีนั้นๆ วัคซีนมีประสิทธิภาพ ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เดียวกัน หรือใกล้เคียงกับวัคซีนได้ ร้อยละ 70 – 90 ผู้ได้รับวัคซีนแล้วยังอาจเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ได้ แต่อาการจะน้อยลง หรือเป็นเพียงการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ภูมิคุ้มกันอยู่ได้ 1 ปี เท่านั้น
6.วัคซีนตับอักเสบเอ โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ ติดต่อโดยการรับประทานอาหาร และน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส การติดเชื้อในเด็กเล็กมักไม่มีอาการ มีเพียงส่วนน้อยร้อยละ 20 ในเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี จะมีอาการหลังติดเชื้อ ในขณะที่เด็กอายุ 6 – 10 ปี จะมีอาการหลังติดเชื้อประมาณครั้งหนึ่งที่มีอาการแสดงของตับอักเสบ เช่น มีอาการไข้ อาเจียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ตาเหลือง ตัวเหลือง ทำให้ต้องขาดเรียน บางรายอาจนานเป็นเดือน
วัคซีนตับอักเสบเอ เป็นวัคซีนที่ดีมีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้ร้อยละ 94 – 100 และระดับ ภูมิคุ้มกัน หลังได้รับวัคซีนครบ 2 โด้ส ห่างกัน 6 เดือนถึง 1 ปีอยู่ได้นาน อย่างน้อย 20 ปีหรือตลอดชีวิต แนะนำฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป
7.วัคซีนอีสุกอีใส อีสุกอีใส เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอีสุกอีใส พบบ่อยในเด็กแม้ว่าส่วนใหญ่ของการติดเชื้อนี้ในเด็กเล็กจะมีอาการไม่รุนแรง แต่ก็มีบางราย อาจมีโรคแทรกซ้อน เช่น ผิวหนังอักเสบ , ปอดอักเสบ หรือ สมองอักเสบได้
ในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ มักมีอาการรุนแรงกว่าเด็กเล็กทั้งในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ กินยากดภูมิคุ้มกันอยู่ อาการจะรุนแรงมากขึ้น และอาจเสียชีวิตได้จากการติดเชื้อนี้ โรคนี้มียาต้านไวรัสที่ใช้ในการรักษา แต่จะได้ผลต้องให้ตั้งแต่ระยะแรกๆของการติดเชื้อ ถ้าให้ช้าการรักษาก็มักจะไม่ได้ประโยชน์ชัดเจน ดังนั้น การป้องกันด้วยวัคซีนจึงมีความคุ้มค่ามากกว่ารอให้ป่วย แล้วค่อยรักษา เด็กอายุ 1 – 12 ปีแนะนำฉีดครั้งแรกที่อายุ 12 – 18 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งที่อายุ 4 – 6 ปี แม้ว่าเด็กที่ฉีดวัคซีนอีสุกอีใส ยังมีโอกาสเป็นอีสุกอีใสได้ร้อยละ 7.3 และร้อยละ 2.2 ในเด็กที่ได้ วัคซีน 1 โด้ส และ 2 โด้ส ก็ตาม แต่เด็กที่ฉีดวัคซีนแล้วมักมีอาการน้อย และมีจำนวนตุ่มน้อยกว่า 50 ตุ่ม
(Some images used under license from Shutterstock.com.)