
© 2017 Copyright - Haijai.com
12 คำถามสุขภาพที่ผู้หญิงควรถาม
ต่อไปนี้คือวิธีการตรวจเช็คไม่ว่าจะเป็นกับพ่อแม่ แพทย์ และตัวคุณเอง
ถามพ่อแม่
1.ครอบครัวมีประวัติการเป็นมะเร็งรึเปล่า?
คุณอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้น ถ้าสมาชิกครอบครัวหลายคนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะถ้าเป็ฯมะเร็งชนิดเดียวกัน และตรวจพบก่อนวัย 60 ปี ถ้าเป็นแบบนี้ละก็ คุณสามารถลดความเสี่ยงได้ เช่น รับการตรวจพันธุกรรม การหมั่นตรวจเช็คร่างกาย และในบางกรณีอาจมีการบำบัดป้องกันไว้ก่อน แต่อย่าตระหนกตกใจ ถ้าสมาชิกครอบครัวคนสองคนเป็นมะเร็งตอนอายุเกิน 60 เพราะไม่แน่นอนเสมอไปว่า คุณจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โชคร้ายที่มะเร็งนั้นจัดเป็นโรคที่พบทั่วไป ดังนั้น การมีญาติสักคนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหลังวัยหกสิบ จัดว่าไม่ผิดปกติเท่าไหร่ ถ้ากังวลเรื่องโรคภัยจากครอบครัวให้ปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ
2.ประจำเดือนครั้งสุดท้ายหมดก่อนวัย 45 ปีหรือไม่?
ให้ถามแม่ของคุณเพาะวัยหมดประจำเดือนของแม่จะเป็นแนวทางบ่งบอกถึงตัวคุณด้วยว่า มีเวลาเหลืออีกมาน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะถ้าแม่หมดประจำเดือนก่อนวัย 45 ปี แต่ก็มีบ่อยครั้งที่สตรีหมดประจำเดือนเร็ว ด้วยสาเหตุไม่ชัดเจน (เช่น อาจเกิดจากโรคภูมิคุ้มกัน) มักจะเป็นไปตามรูปแบบครอบครัว ดังนั้นให้ถามว่าแม่อายุเท่าไรตอนประจำเดือนขาดหายครบปี (ซึ่งถือเป็นการหมดประจำเดือนโดยสมบูรณ์) หรือถ้าสามารถถามน้า ป้า (พี่น้องสาวแม่) ได้ด้วยก็จะดี และถ้าพบว่าหมดประจำเดือนวัยเดียวกัน คุณก็ย่อมมีโอกาสจะเป็นด้วยเช่นกัน
แต่องค์ประกอบอื่นๆ ก็มีความสำคัญโดยเฉพาะการสูบบุหรี่ การศึกษาจากสหรัฐฯ พบว่าสตรีที่สูบบุหรี่จัดอาจเป็นประจำเดือนหมดเร็วขึ้น 9 ปี มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ ดังนั้น ถ้าแม่ของคุณสูบบุหรี่แต่คุณไม่สูบ คุณย่อมจะมีประจำเดือนนานกว่าแม่แน่นอน นี่จึงเป็นข้ออ้างที่ดีในการหยุดสูบบุหรี่
3.เคยมีใครในครอบครัวเป็นโรคหัวใจวาย หรือหัวใจพิบัติหรือไม่?
ถามพ่อ ลุง หรือน้าของคุณว่า มีใครเป็นโรคหลอดเลือดก่อนอายุ 55 ปีหรือไม่ หรือแม่น้า ป้า มีอาการนี้ก่อนวัย 65 ปีรึเปล่า ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ความเสี่ยงสูง ที่คุณจะเป็นด้วยเช่นกัน แต่ไลฟ์สไตล์เป็นตัวสำคัญที่ทำให้เปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น ถ้าคุณมีพันธุกรรมความเสี่ยงสูง ให้ลดความเสี่ยงนี้ด้วยการจัดรูปแบบไลฟ์สไตล์ที่ดี ถ้าประวัติครอบครัวไม่ดี ไลฟ์สไตล์ยิ่งสำคัญมากๆ นิสัยแย่ๆ เช่น โภชนาการอาหารไม่ดี สูบบุหรี่ ไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่ออกกำลังกาย เหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคของคุณได้มากขึ้น ถ้าคุณมีประวัติครอบครัวหรือโณคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ ให้บอกแพทย์หรือพยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำ
ถามแพทย์ของคุณ
4.ความดันโลหิตของคุณอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดีหรือไม่?
คราวหน้าถ้าไปพบแพทย์ ให้วัดความดันโลหิต ซึ่งควรอ่านได้ 120/80 หรือต่ำกว่านั้น (ถ้าต่ำกว่า 90/60 คุณมีความดันโลหิตต่ำ แต่ถ้าเป็นอาการปกติของคุณก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหา นอกเสียจากทำให้เกิดอาการ เช่น วิงเวียนหน้ามืด ความดันโลหิตที่วัดได้ในระดับ 135/85 มักทำให้เกิดอาการหัวใจวาย หรือหัวใจพิบัติได้เท่าๆ กับระดับวัดได้ 115/75 ดังนั้นควรไปตรวจเช็คให้แพทย์วินิจฉัยอย่างชัดเจน เพื่อเช็คความเสี่ยงอื่นๆ ด้วย
5.น้ำหนักตัวเหมาะสมมั้ย?
การมีน้ำหนักตัวพอเหมาะพอควร อาจปกป้องสุขภาพคุณในอนาคตได้ ลดความเสี่ยงการเจ็บไข้ได้ป่วย โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และยังมีมะเร็งหลายชนิดที่เกิดได้ง่ายๆ กับคนน้ำหนักตัวเกินพิกัด รวมถึงมะเร็งเต้านม และมะเร็งทวาร ความเชื่อมโยงเกิดจากน้ำหนักตัวมากเกินพิกัด นี่แหละที่ไปเพิ่มระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวพันกับมะเร็งบางชนิด
6.ความเปลี่ยนแปลงแบบนี้แบบนั้นปกติรึเปล่า?
ไม่ว่าจะเป็นผื่นแดงประหลาด หรือการขับถ่ายที่เปลี่ยนไป ถ้าคุณสังเกตเห็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกายตัวเอง ซึ่งเป็นนานเกิน 2 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น ควรไปพบแพทย์ มะเร็งมีมากกว่า 200 ชนิด และมีอาการกับสัญญาณบ่งบอกความเป็นไปได้มากมาย ไม่ใช่แค่ก้อนเนี้ออย่างเดียว ก็เหมาเอาว่าเป็นมะเร็ง แต่ก็มีหลากหลายที่มาจากเสียงไอโขลกแห้ง ที่เป็นนานเกิน 3 สัปดาห์ ไปจนถึงขั้นกลืนอะไรไม่ลง ให้ทำความรู้จักกับความปกติหรือผิดปกติในร่างกาย เพื่อช่วยให้จับสิ่งที่แตกต่างไป ซึ่งอาจะเป็นสัญญาณมะเร็ง อาการส่วนใหญ่อาจไม่ร้ายแรง แต่ทางที่ดีคือไปรับการตรวจจากแพทย์ให้อุ่นใจไว้ดีกว่า
7.ตรวการเต้นของหัวใจ
อาการหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ อาจเป็นสัญญาณโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (atrial fibrillation AF) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับอาการหัวใจพิบัติมากขึ้นอีก 6 เท่า AF ทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นระรัวและวิงเวียน แต่ก็มีหลายคนที่อาจไม่มีอาการใดเลย เมื่อหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ทำให้เลือดไปขังอยู่ที่ห้องหัวใจด้านบน บางครั้งอาจเกิดอาการเลือดอุดตันขึ้นมา ถ้าขึ้นไปที่สมองก็ส่งผลให้หัวใจพิบัติ แต่เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ในคนที่มีอาการ AF ดังนั้น สิ่งลดความเสี่ยงเลือดอุดตัน ถ้าอายุเกิน 45 ปี ให้แพทย์หมั่นตรวจชีพจร หรือทำได้ด้วยตัวเองก็ได้ ถ้าไม่ปกติบ่อยๆ เป็นประจำให้ไปพบแพทย์
8.ควรรับฮอร์โมนบำบัดมั้ย?
ถ้าคุณกำลังอยู่ในวัยหมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี ก็ควรรับฮอร์โมนส์บำบัด แม้ไม่มีอาการใดๆ ก็ตาม การรับฮอร์โมนบำบัดในวัยที่อายุน้อยๆ นอกจากช่วยควบคมอาการแล้ว ยังลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพในอนาคต ซึ่งเชื่อมโยงกับการหมดประจำเดือนเร็ว หรือก่อนเวลาอันวร เช่น โรคกระดูกพรุนและโรคหลอดเลือดอุดตัน หรือถ้าคุณอายุมากแต่มีองค์ประกอบความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน หรือฟาดฟันกับอาการขาดเอสโตรเจน เช่น ร้อนเนื้อตัววูบวาบ คุณอาจได้ประโยชน์เช่นกัน โดยทั่วไปสำหรับสตรีอายุต่ำกว่า 60 ปี ฮอร์โมนบำบัดให้ประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง ปรากฏหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่า ถ้าเริ่มรับตั้งแต่แรกในช่วงกำลังหมดประจำเดือน ก็จะช่วยปกป้องต่อโรคหลอดเลือดอุดตันได้ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์
9.ถามตัวเองว่า “ดื่มมากไปรึเปล่า?”
คุณไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เกินวันละ 2-3 หน่วย (เท่ากับสองแก้วในปริมาณ 125 มล.) แต่เป็นเรื่องง่ายดายนักที่จะเผลอดื่มมากเกินไปโดยไม่รู้ตัว การค้นคว้าจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลที่สหรัฐอเมริกาพบว่า ปริมาณการดื่มส่งอิทธิพลต่อการประเมินตัวเอง ทำให้รินเหล้าใส่แก้วเกือบเต็มปรี่ ยิ่งถ้าเป็นแอลกอฮอล์สีขาว ซึ่งมองเห็นยากจะรินแทบล้นแก้วทุกทีสิน่า ถ้ายืนดื่มก็จะดื่มไปเรื่อยๆ มากกว่าตอนนั่งโต๊ะอาหาร ดังนั้นให้ระวัง ตรวจดูการดื่มอย่างเหมาะสม จดบันทึกการดื่มเอาไว้ ถ้าดื่มมากไปให้ถามตัวเองว่า “ทำไม” ถ้าดื่มเพื่อเข้าสังคมให้หากิจกรรมอื่นทำกับเพื่อนๆ แทน เช่น เข้าชั้นเรียนออกกำลังกายตามด้วยการดื่มน้ำผลไม้ ถ้าดื่มคลายเครียดที่บ้าน ให้ใช้วิธีนอนแช่น้ำอุ่น เหยาะน้ำหอมกลิ่นกุหลาบคลายเครียดแทนจะดีกว่านะ
10.เอวของฉันวัดได้ขนาดเท่าไร?
วัดรอบเอวตัวเองดูว่ามีขนาดเกิน 31.5 นิ้วหรือไม่ ถ้าใช่คุณมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานชนิด 2 ต่อให้มีน้ำหนักตัวเหมาะสมกับความสูงก็ตาม สตรีหนึ่งในสามมีอาการเริ่มเป็นเบาหวาน เมื่อระดับกลูโคสในเลือดสูงขึ้น แต่ไม่สูงพอจะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิด 2 ดังนั้นถ้าคุณเอวใหญ่กว่าควร ให้ไปทดสอบระดับน้ำตาลกลูโคส เพราะถ้าทิ้งไว้ไม่ใส่ใจ อาการเริ่มจะเป็นเบาหวานนั้น อาจจะกำเริบขึ้นมาพรวดพลาดจนเป้นโรคเบาหวานเต็มตัวไปเลยได้ แถมจะไปเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจและหัวใจพิบัติ แต่คุณลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้ด้วยการลดน้ำหนักและทำตัวกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น
11.ออกกำลังกายพอรึยังเนี่ย?
คุณอาจรู้สึกว่าพยายามอยู่แล้ว แต่พวกเรากว่า 80% ยังฟิตไม่พอในการทำกิจกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้
• ทำกิจกรรมปานกลางผสมกัน 2 ชั่วโมงครึ่ง เช่น ขี่จักรยาน เดินเร็ว เพิ่มกิจกรรมสร้างกล้ามเนื้อ (พิลาทิส หรือ ยกน้ำหนัก) อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
• ทำกิจกรรมแอโรบิกครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที (หนักมากพอที่จะทำให้เหงื่อออกและหายใจหอบ) รวมทั้งกิจกรรมสร้างกล้ามเนื้อสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
• ออกกำลังแบบโหมหนักครั้งละ 30 นาทีสองครั้ง ร่วมกับกิจกรรมเสริมสร้างกล้ามเนื้อสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
12.มีความสุขมั้ย?
การได้ทำสิ่งที่คุณชอบและใช้เวลาร่วมกับคนที่รัก นอกจากน่าอภิรมย์แล้วยังกระตุ้นสุขภาพด้วย การศึกษากับคน 160 คน พบว่าความสุขเชื่อมโยงอย่างมากกับสุขภาพดีและมีอายุยืนยาว อาจเป็นเพราะอารมณ์เชิงบวกลดฮอร์โมนส์เครียด และกระตุ้นภูมิคุ้มกันและบรรเทาเยียวยา ดังนั้น หมั่นทบทวนชีวิตเป็นประจำ เสริมความรื่นรมย์สม่ำเสมอ เข้าสังคมกับเพื่อน ไปฮอลิเดย์ และสร้างสัมพันธ์ที่แฮปปี้กับทุกคน จะช่วยให้คุณลืมความเครียดไปได้
รายการตรวจสอบร่างกายคุณ การทดสอบสำคัญที่ควรกระทำ
• ตรวจสอบหัวใจ ถ้าอายุเกิน 40 ปี ควรตรวจทุก 5 ปี แพทย์จะตรวจเลือดดูไขมันในเส้นเลือดและกลูโคสในเลือด
• ตรวจภายใน การตรวจภายในช่วยชีวิตสตรีมากมายหลายคน แต่เป็นสิ่งที่มักถูกละเลย
• แมมโมแกรม เป็นการตรวจดูสัญญาณอาการมะเร็งเต้านม ความเสี่ยงจะมีเพิ่มขึ้นตามอายุ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)