Haijai.com


พัฒนาการของลูกเมื่ออยู่กับพ่อ


 
เปิดอ่าน 2561

จะดีไหม ถ้าให้หนูอยู่กับพ่อ

 

 

ในสังคมทุกวันนี้รูปแบบชีวิตครอบครัวหลากหลายขึ้น จากที่บางบ้านคุณพ่อทำงานนอกบ้าน และมีคุณแม่คอยเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้าน แต่ถ้าชีวิตอีกแบบหนึ่งที่สลับกันให้คุณผู้ชายอยู่บ้านเลี้ยงลูก นอกจากคำถามที่ว่า เขาจะดูแลลูกได้ดีหรือเปล่าแล้วนั้น อีกอย่างที่คุณแม่ต้องสงสัยก็คือ แล้วพัฒนาการของลูกวัยเบบี๋ จะดีเหมือนที่คุณแม่เลี้ยงหรือเปล่า?

 

 

คุณพ่อขอเลี้ยงเอง

 

การทำหน้าที่พ่อยิ่งใหญ่ไม่แพ้การทำงานนอกบ้าน คุณพ่อบางคนอาจจะตื่นเต้นและตั้งใจในการเลี้ยงลูกวัยแบเบาะในครั้งนี้ ถ้ายังไม่นับเรื่องการดูแลและพัฒนาการที่ลูกๆ จะได้รับ ข้อดีอย่างแรกของการที่คุณพ่อเลี้ยงลูกเองคือ “ความรัก” ความผูกพันฉันพ่อลูกจะเกิดขึ้น พัฒนาและแนบแน่น ในต่างประเทศบางประเทศจริงจังกับเรื่องนี้ ถึงขั้นมีการอบรมคุณพ่อที่จะดูแลลูกหลังคลอด เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ชายก็สามารถดูแลลูกได้ อาจจะยังไม่สู้คุณผู้หญิง แต่ก็พอจะเข้าใจในหลักการ

 

 

พัฒนาการของหนูเมื่ออยู่กับพ่อ

 

แม้ว่าหน้าที่การเลี้ยงลูกหลักๆ แล้วจะไม่ใช่ของคุณพ่อ แต่ใช่ว่าการที่จะปล่อยให้คุณพ่อเป็นคนเลี้ยงลูกบ้างนั้นจะไม่ดีเสมอไป ถ้าลองเปิดโอกาสให้คุณผู้ชายที่มีความตั้งใจจริงได้ลองเลี้ยงลูกดูก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร นอกจากนี้ข้อมูลวิจัยจากหลายแหล่งยังบ่งชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการให้คุณพ่อเลี้ยงลูกตั้งแต่เล็ก โดยผลวิจัยในอังกฤษชิ้นหนึ่งระบุว่าเด็กที่อยู่กับพ่อตั้งแต่ยังเล็กนั้นโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตมีสูงกว่าเด็กที่อยู่กับแม่เพียงลำพัง และเด็กกลุ่มนี้ยังมีแนวโน้มที่จะฉลาดกว่าในกลุ่มที่แม่ดูแล ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวยังตามศึกษาถึงพฤติกรรมตอนโตของเด็กที่มีพ่อช่วยเลี้ยง ซึ่งพบข้อมูลว่าเด็กกลุ่มนี้มีสถานะทางสังคมที่ดีและมีไอคิวที่สูงกว่าด้วย ซึ่งงานวิจัยนี้พอที่จะชี้ให้เห็นได้ว่าเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่อบอุ่นสมบูรณ์นั้นย่อมมีโอกาสจะพัฒนาความเป็นอยู่ได้ดีกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์

 

 

ลูกชายกับคุณพ่อ

 

คุณพ่อส่วนใหญ่มักให้ความสนใจและใช้เวลาส่วนใหญ่กับลูกชายมากกว่าลูกสาว ซึ่งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายต่างได้รับประโยชน์จากการที่ใกล้ชิดกับพ่อในระดับที่เท่าเทียมกัน สำหรับในมุมมองของคุณพ่อมักจะคิดว่า ลูกชายควรต้องใกล้ชิดพ่อมากกว่าเพื่อที่จะเรียนรู้วิถีชีวิตแบบลูกผู้ชาย แต่การให้ความรักความอบอุ่นกับลูกทุกๆ คนอย่างเท่าเทียมกันน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า และแม้วิถีชีวิตของคนเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร สิ่งที่จะต้องคงไว้คือสถาบันครอบครัวที่แข็งแกร่ง แม้การเลี้ยงลูกส่วนใหญ่จะเป็นของฝ่ายหญิงโดยธรรมชาติและรูปแบบของวัฒนธรรม แต่หากทั้งพ่อและแม่หันมาร่วมกันดูแลเอาใจใส่ลูกๆ เพื่อพัฒนาการที่ดีกว่าก็ย่อมจะนำมาซึ่งการสร้างรากฐานบุคลากรที่สำคัญแห่งอนาคต

(Some images used under license from Shutterstock.com.)