© 2017 Copyright - Haijai.com
ความเสี่ยงทางการแพทย์
ความเสี่ยงทางการแพทย์เป็นสถานการณ์ที่ไม่ดี ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากากรบริการทางการแพทย์ อาจเกิดขึ้นได้ทั้งต่อคนไข้และบุคคลากรทางการแพทย์ ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาจมาจากคน สถานที่ หรือเครื่องมือ และกระบวนการบริหารการป้องกันความเสี่ยงทางการแพทย์ที่ดีที่สุด คือการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และเมื่อมีความจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัย คนไข้ควรรับทราบข้อมูลจากแพทย์ผู้ให้การรักษา
คนไข้ที่เข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคทั้งคนไข้ในและคนไข้นอก คือผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากากรรักษาพยาบาล เป็นผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ หรือมีสิ่งไม่คาดคิดเกิดขึ้นจากกระบวนการรักษาพยาบาลคนไข้ และไม่ใช่เกิดจากโรค สิ่งนี้เรียกว่า “ความเสี่ยงทางการแพทย์” ปัจจุบันนี้โรงพยาบาลทั่วไป ส่วนใหญ่มีระบบลดความเสี่ยงทางการแพทย์อยู่แล้ว เพื่อความปลอดภัยของคนไข้ ถ้าเราทำความเข้าใจและรู้จักกับความเสี่ยงทางการแพทย์เบื้องต้นให้มากขึ้น นอกจากจะทำให้เข้าใจความเสี่ยงดังกล่าวแล้ว ยังช่วยให้เข้าใจระบบการทำงานของโรงพยาบาลมากขึ้นด้วย
ความเสี่ยงทางการแพทย์คืออะไร
ความเสี่ยงทางการแพทย์ (Medical risk) หมายถึง สิ่งหรือสถานการณ์ที่ไม่ดีที่อาจเกิดขึ้นจากการบริการทางการแพทย์ มีความรุนแรงตั้งแต่เล็กน้อยจนเสียชีวิต ตัวอย่างที่พบเห็นบ่อยๆ ได้แก่ การแพ้ยา การติดเชื้อในโรงพยาบาล หรือความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้ออักเสบจากยาลดไขมัน เป็นต้น ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเหตุสุดวิสัยที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และส่วนใหญ่ไม่มีทางรู้ล่วงหน้า ความเสี่ยงทางการแพทย์อาจป้องกันได้ด้วย การพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ และมีระบบดูแลเสี่ยงที่เหมาะสม
ความเสี่ยงทางการแพทย์เกิดแก่ใครบ้าง
• คนไข้ที่มาพบแพทย์ จะเป็นกลุ่มที่ได้รับความเสี่ยงโดยตรง เพราะถ้าเกิดอไรไม่ดีก็จะเกิดกับคนไข้มากกว่า คนไข้นอกหรือคนไข้ในโรงพยาบาลมีโอกาสเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น ความเสี่ยงเหล่านี้อาจเกิดตั้งแต่การตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การรักษา โดยอาจมีความรุนแรงตั้งแต่ระดับน้อยมากจนถึงมากสุดคือเสียชีวิต
• แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นสองกรณี
กรณีแรก คือ มีความเสี่ยงต่อตัวแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ เช่น เกิดโรคติดต่อที่ติดตากการดูแลคนไข้ อาจติดโณคร้ายแรง เช่น อีโบล่า วัณโรค ฯลฯ บางครั้งมีความรุนแรงถึงเสียชีวิต
กรณีที่สอง คือ เจ้าหน้าที่ทำงานพลาด ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อคนไข้ สาเหตุของการเกิดความเสี่ยงต่อคนไข้อาจเกิดจากการขาดทักษะในการทำงาน ขาดการพักผ่อนเพราะต้องทำงานต่อเนื่องอย่างหนัก หรือขาดการพัฒนาความรู้ความสามารถ ถ้าหากเกิดขึ้นแล้วเจ้าหน้าที่คนนั้น หรือโรงพยาบาลก็อาจถูกฟ้องร้อง ถูกไล่ออกจากโรงพยาบาลหรือหน่วยงานต้องจ่ายเงินชดเชย
ตัวอย่างความเสี่ยงทางการแพทย์ที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอน
• การซักประวัติและตรวจร่างกาย คนไข้ให้ประวัติไม่ตรงกับความเป็นจริง คนไข้ไม่เข้าใจโรคของตน หมอไม่มีเวลาตรวจละเอียด เพราะจำนวนคนไข้ทที่ต้องรับผิดชอบมีมาก
• การตรวจทางห้องปฏิบัติการ คนไข้กลัว ไม่ตรวโรคตามที่หมอสั่ง กลัวเจ็บ เครื่องมือที่มีข้อผิดพลาด การเก็บเลือดไม่ถูกวิธี ติดชื่อคนไข้ผิด
• การตรวจพิเศษ คนไข้กลัวเครื่องมือ กลัวเสียงดัง แพ้สีที่ฉีดในการตรวจ เครื่องมือเสื่อม แผลหรือโรคแทรกจากการตรวจพิเศษ
• การรักษา ไม่กินยาอย่างถูกวิธี หมอสั่งยาที่แพ้โดยไม่ทราบ มีโรคแทรกจากการรักษา โรคแทรกจากโรคประจำตัว โรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ให้การรักษาผิดคน
• การดูแลตนเองที่บ้าน พยาบาลไม่ได้แนะนำวิธีดูแลและกินยา คนไข้ไม่กินยา กินยาผิดวิธี ไม่ควบคุมอาหาร ไม่ทำกายภาพบำบัดตามที่แนะนำ ไม่ไปหาหมอตามนัด ขาดยา
การลดความเสี่ยงทางการแพทย์
สิ่งเดียวที่สามารถลดความเสี่ยงทางการแพทย์ได้ดีคือการไม่ป่วย แต่ถ้าป่วยแล้วจำเป็นต้องพบแพทย์ก็ควรเข้าใจเรื่องของความเสี่ยง คนไข้ควรรับทราบความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากขั้นตอนการดูแลรักษาโรค ความเข้าใจเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อตนเองได้ดีที่สุด นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงทางการแพทย์ ดังนี้
• รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการรักษาอารมณ์ให้ดี รับอากาศบริสุทธิ์ให้เพียงพอ กินอาหารที่สะอาดถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอและป้องกันอุบัติเหตุในชีวิตประจำวัน
• เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ถ้ามีอาการไม่มาก สามารถทำงานได้ เดินได้ กินอาหารได้ อาจลองสังเกตตัวเองสักสองสามวันว่า อาการจะหายได้เองหรือไม่ หรืออาจซื้อยาจากเภสัชกร เพื่อบรรเทาอาการ เช่น ปวดหัวเล็กน้อย แน่นท้องเล็กน้อย ท้องผูก 1-2 วัน หรือมีไข้มีน้ำมูก เป็นต้น แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ หรือมีอาการมากขึ้น ก็สมควรไปพบแพทย์ แต่ถ้าอาการรุนแรงมาก เป็นมากจนต้องนอนพัก เดินไม่ได้ ทำงานไม่ได้ กินอาหารไม่ได้ ขยับตัวไม่ได้ หายใจติดขัด ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
• ให้เลือกปรึกษาแพทย์ที่คุ้นเคยหรือที่เชื่อถือ ทั้งนี้ขึ้นกับความสะดวกของคนไข้ ในกรณีที่ต้องการเลือกโรงพยาบาล ควรเลือกที่มีมาตรฐานหรือที่ผ่านการรับรองคุณภาพจากสถาบันรับรอง เช่น สถาบันคุณภาพสถานพยาบาล (HA) ของไทยในกรณีที่มีอาการรุนแรงเร่งด่วน คนไข้ควรได้รับการรักษาเบื้องต้น ณ สถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก่อน และค่อยย้ายไปโรงพยาบาลตามความต้องการต่อไป
• ให้ความร่วมมือกับแพทย์ ให้รายละเอียดของอาการ แจ้งประวัติแพ้ยา โรคประจำตัวที่มี ยาที่กินประจำ ฯลฯ เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาโรคที่ดีที่สุด เมื่อได้รับา ควรถามอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยจากการกินยาดังกล่าว ว่ามีอะไรบ้างและอาการอะไรที่ต้องมาพบแพทย์ทันที เช่น แพทย์สั่งยาให้คนไข้เพื่อช่วยทำให้โรคหาย ยาบางตัวอาจทำให้มีอาการที่ไม่ต้องการได้ เช่น ท้องผูก อาจทำให้ปวดหัว ปวดท้อง หรือยาบางตัวอาจทำใหมีอาการแพ้ผื่นบ่อย อนึ่ง คนไข้ที่กินยาไม่ถูกวิธีตามฉลากยา อาจมีผลต่อการรักษาและมีความเสี่ยงทางการแพทย์เพิ่มขึ้น
• คนไข้ควรขอข้อมูลจากแพทย์ที่รักษา เพื่อประเมินความเสี่ยงางการแพทย์ที่อาจเกิดขึ้นก่อนทำการตรวจวินิจฉัย ตัวอย่างเช่น การตรวจมะเร็งลำไส้ระยะแรกด้วยการส่องกล้อง คนไข้จะได้ยาฉีดให้หลับขณะที่ทำการตรวจ ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาเรื่องความดันเลือดหรือการหายใจ รวมทั้งตัวเครื่องมือ อาจทำให้ลำไส้ทะลุ ต้องผ่าตัดด่วน แต่อัตราการเกิดมีเพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้น แต่การตรวจสามารถป้องกันโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ในอนาคตได้มากถึงร้อยละ 15 ดังนั้น แพทย์จึงแนะนำให้ส่องลำไส้ เป็นต้น ข้อมูลความเสี่ยงเหล่านี้คนไข้ควรหาคำตอบจากแพทย์ก่อนตัดสินใจ
• การรักษาโรคมีหลายวิธีที่มีข้อดีข้อเสียต่างกัน แพทย์จะแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้และให้ตัดสินใจร่วมกัน คนไข้มีสิทธิ์เต็มที่ในตัดสินใจ เลือกวิธีการรักษา แพทย์มักเป็นผู้ให้ข้อมูลข้อดีข้อเสีของแต่ละวิธีก่อน และจะแนะนำทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด คนไข้ควรรู้ว่าผลการรักษาและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง
• คนไข้สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่แพทย์เล่าให้ทราบด้วยตนเอง ควรขอชื่อโรค ชื่อวิธีการตรวจ ฯลฯ เพื่อนำไปค้นหาผ่านช่องทางต่างๆ เมื่อได้ทราบข้อมูลนอกเหนือหรือแตกต่างจากที่แพทย์แจ้งให้ทราบ ก็ควรไปปรึกษากับแพทย์เพื่อขอคำอธิบายเพิ่มเติม แต่ต้องทราบว่า ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตเป็นข้อมูลทั่วๆ ไป อาจไม่สามารถนำมาใช้ได้กับคนไข้ทุกคน และข้อมูลจากคนอื่นอาจขาดความถูกต้อง
ความเสี่ยงทางการแพทย์มีรายละเอียดมากมาย เป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น มีลักษณะคล้ายอุบัติเหตุ แพทย์ พยาบาล รวมถึงสถานพยาบาลจะเป็นผู้ที่เข้าใจและแก้ไขจุดเสี่ยงต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของคนไข้ อย่างไรก็ตามคนไข้ก็จำเป็นต้องรู้จัก เข้าใจและช่วยกันลดความเสี่ยงดังกล่าว
นพ.จรินทร์ โรจน์บวรวิทยา
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินอาหารและตับ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)