
© 2017 Copyright - Haijai.com
รองเท้าเด็ก
เท้าเด็กเล็กมีลักษณะตรง ไม่มีส่วนโค้งเว้า มีการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตลอดจนเด็กใช้นิ้วเท้ามากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น รองเท้าสำหรับเด็กเล็ก จึงควรเป็นทรงตรงทำจากวัสดุที่ระบายอากาศได้ดี พื้นรองเท้ามีความยืดหยุ่น เวลาเลือกรองเท้าต้องให้เด็กลองทุกครั้ง และเปลี่ยนรองเท้าเมื่อที่ว่างด้านหน้าวัดจากนิ้วเท้าที่ยาวที่สุดเหลือแค่ ¼ นิ้ว
การใส่รองเท้านับเป็นการดูแลรักษาร่างกายประการหนึ่ง หนังเท้านั้นแม้จะหนาสักเพียงใดก็คงไม่อาจต้านทานพื้นดินพื้นปูน หรือพื้นยางมะตอยอันร้อนระอุได้ การใส่รองเท้ายังเป็นการป้องกันการเกิดบาดแผลและการติดเชื้อปรสิตจากภายนอกอย่างไรก็ตามเด็กเล็กๆ ก็มีลักษณะบางประการของเท้าที่ไม่เหมือนผู้ใหญ่ การเลือกรองเท้าของเด็กเล็ก จึงต้องพิจารณาด้วยความพิถีพิถัน มิฉะนั้นรองเท้าที่เลือกผิดอาจส่งผลเสียต่อเท้าเด็กได้
ข้อแตกต่างระหว่างเท้าเด็กกับเท้าผู้ใหญ่
ลักษณะโดยรวมของเท้าเด็กกับเท้าผู้ใหญ่มีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็มีข้อแตกต่างที่สำคัญต่อการพิจารณาเลือกรองเท้าดังนี้
• โครงสร้างของเท้าเด็กกับเท้าผู้ใหญ่แตกต่างกัน เท้าผู้ใหญ่จะมีโครงสร้างเป็นกระดูกแข็งและเห็นลักษณะโค้งเว้าของอุ้งเท้าที่ชัดเจน ในขณะที่เท้าเด็กกระดูกบางส่วนยังเป็นกระดูกอ่อน ที่ยังไม่มีแคลเซียมมาเกาะให้แข็งแรงเหมือนเท้าผู้ใหญ่ กว่ากระดูกเท้าของเด็กจะแข็งแรงเหมือนเท้าผู้ใหญ่ ก็เมื่อเด็กอายุประมาณ 13 ปี นอกจากนั้นเท้าเด็กยังมีไขมันอยู่ตรงบริเวณฝ่าเท้ามาก ฝ่าเท้าเด็กจึงดูกลมๆ อ้วนๆ ไม่เห็นอุ้งเท้าชัดเจนเหมือนกับเท้าผู้ใหญ่ จุดแตกต่างที่สำคัญอีกจุดหนึ่งคือนิ้วเท้าเด็ก จะมีสัดส่วนในพื้นที่ของเท้ามากกว่านิ้วเท้าผู้ใหญ่ ทั้งนี้เพื่อการทรงตัวเวลาเดิน เนื่องจากขาของเด็กยังไม่ค่อยแข็งแรง จึงต้องใช้เท้าจิกพื้นเพื่อการยึดเกาะ
• เท้าเด็กมีการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เด็กแรกเกิดจนถึงสามปี เท้าจะโตประมาณปีละหนึ่งนิ้ว ส่วนเด็กอายุ 4-10 ปี อัตราการเจริญเติบโตของเท้าจะช้าลง เหลือแค่ประมาณครึ่งนิ้วต่อปี แต่ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในลักษระที่ไม่สม่ำเสมอ กล่าวคือบางช่วงจะเจริญเติบโตมาก บางช่วงจะเจริญเติบโตน้อย
• นิ้วเท้าเด็กมีการใช้งานมากกว่านิ้วเท้าผู้ใหญ่ นิ้วเท้าของเด็กเล็กจะงอเหยียดได้คล้ายนิ้วมือ เด็กใช้นิ้วเท้าจับของได้ ในขณะที่ผู้ใหญ่ทำได้ลำบากกว่า แต่พอเด็กโต ขึ้น เท้าถูกใช้งานอย่างอื่น เช่น การเดิน การกระโดด การเตะ ทำให้ทักษะของการใช้นิ้วเท้าจับของค่อยๆ หายไป
เมื่อไหร่จะเริ่มให้เด็กใส่รองเท้า
โดยทั่วไปเด็กจะเริ่มใส่รองเท้าเมื่อเริ่มหัดคลาน คือ ตอนอายุ 7-8 เดือน ส่วนเด็กแรกเกิดหรืออยู่ในช่วงที่ยังไม่เดินหรือคลานนั้น พ่อแม่อาจพิจารณาให้ใส่รองเท้า เพื่อปกป้องเท้าจากอันตรายภายนอก หรือเพื่อความอบอุ่นอย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ที่ไม่หนาวมากเหมือนประเทศทางตะวันตก จึงไม่ค่อยเห็นการใส่รองเท้าเด็กแรกเกิด ด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าว แต่จะใช้ถุงเท้าแทนเป็นส่วนใหญ่
รองเท้าที่ดีสำหรับเด็กควรเป็นอย่างไร
• รูปทรงของรองเท้าควรจะเป็นทรงตรง (straight last shoes) เนื่องจากเท้าเด็กมักอ้วนๆ กลมๆ เมื่อดูฝ่าเท้าจะมีลักษณะเป็นเท้าแบนๆ ยังไม่มีความโค้งเว้าของอุ้งเท้าเหมือนกับเท้าผู้ใหญ่ ซึ่งพ่อแม่ไม่ต้องกังวล อุ้งเท้าจะพัฒนาเต็มที่ตอนเด็กอายุประมาณ 4-6 ขวบ
• เลือกรองเท้าที่เปิดได้กว้างๆ (blucher opening) เพื่อที่ว่าเวลาใส่เท้าเด็กเข้าไป จะได้เห็นแนวของเท้าได้ง่าย
• วัสดุที่ใช้ทำรองเท้าควรระบายอากาศได้ดี มีความยืดหยุ่น ตามทฤษฎี วัสดุดังกล่าวเป็นหนัง อย่างไรก็ตามเราไม่ค่อยพบรองเท้าเด็กที่ทำจากหนัง จึงให้พิจารณาเลือกวัสดุอื่นที่มีคุณสมบัติดังที่กล่าวมาแล้ว ไม่แนะนำให้เลือกรองเท้าที่ทำจากพลาสติกหรือไวนิล เพราะวัสดุพวกนี้มีความแข็ง ไม่ยืดตามเท้าเวลาที่เท้ามีการใช้งาน
• พื้นรองเท้าควรมีความยืดหยุ่นที่เหมาะสม (semiflex) กล่าวคือไม่แข็งมากจนขยับไม่ได้ แต่ไม่ได้นุ่มยวบจนวางเท้าแล้ว พื้นรองเท้ายุบ
พาลูกน้อยลองรองเท้า
การทองรองเท้า นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการเลือกรองเท้าให้ลูกน้อย พ่อแม่ต้องทำด้วยความละเอียดอ่อน โดยเฉพาะในกรณีที่เด็กยังไม่สามารถพูดจาสื่อสารได้ การใส่รองเท้าที่คับเกินไป อาจจะทำให้นิ้วเท้ามีรูปร่างที่ผิดปกติ เช่น งอหรือเกได้ ในกรณีที่เด็กยังยืนไม่ได้ ให้นั่งแล้วสวมรองเท้า ส่วนในกรณีที่เด็กยืนได้ หลังจากลองตอนนั่งเสร็จ ให้ลองตอนยืน แล้วใส่รองเท้าคู่นั้นเดินดู ข้อควรพิจารณาในการลองรองเท้าเด็กมีดังต่อไปนี้
• ต้องลองรองเท้าก่อนซื้อทุกครั้ง อย่าจำจากเบอร์เป็นอันขาด เพราะรองเท้าต่างยี่ห้อกัน แม้จะมีเบอร์เดียวกัน ก็จะมีขนาดต่างกัน หรือแม้แต่ในยี่ห้อเดียวกัน แต่ต่างรูปทรงกัน รองเท้าเบอร์เดียวกันก็อาจมีขนาดต่างกันได้
• ความยาวของรองเท้าที่เหมาะสม ให้เด็กใส่รองเท้า เมื่อถอยเท้าเด็กให้ส้นเท้าเด็กชิดกับส้นรองเท้า แล้วด้านปลายเท้าให้เหลือเป็นความยาวนับจากนิ้วเท้าที่ยาวที่สุด (ไม่จำเป็นต้องเป็นนิ้วหัวแม่เท้า) ถึงปลายรองเท้าประมาณ ½ นิ้ว หรือความกว้างของ 1 นิ้วหัวแม่มือคุณแม่ ในกรณีที่เป็นิ้วหัวแม่มือคุณพ่อ (ซึ่งอาจกว้างมาก) อาจใช้นิ้วชี้แทนในการประมาณ
• พิจารณาว่าส่วนที่กว้างที่สุดของรองเท้าตรงกับส่วนที่กว้างที่สุดของเท้าหรือไม่ เพราะจะมีผลต่อการให้เท้าอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมเวลาขยับเท้าก้าวเดิน
• สอดนิ้วมือเข้าไประหว่างเท้ากับรองเท้าด้านหน้า แล้วลองขยับนิ้วดู ถ้ารองเท้าพอดี หนังรองเท้าต้องขยับตามนิ้วได้บ้าง ถ้าเป็นรองเท้าแตะ สายรัดเท้าควรสอดนิ้วมือเข้าไปได้บ้าง ถ้าสอดนิ้วมือเข้าไปไม่ได้เลยแปลว่ารองเท้าคับเกินไป
• บริเวณขอบ (topline) ของรองเท้าต้องกระชับกับข้อเท้า แต่ไม่คับจนเสียดสีหรือกดจนเป็นรอย อาจพิจารณาความกระชับ โดยการลองสอดนิ้วมือเข้าไประหว่างขอบของรองเท้ากับข้อเท้า ดูว่ามีพื้นที่พอให้ข้อเท้าขยับไปมาหรือไม่ เพราะเท้าต้องเคลื่อนที่ไปมาเวลาเดิน แต่ว่าเมื่อดึงนิ้วมือออกมา รองเท้าต้องไม่หลุดจากข้อเท้า
• อุณหภูมิและกิจกรรมมีผลต่อขนาดของเท้าได้ โดยอุณหภูมิต่ำจะทำให้เท้าหดตัว ขณะที่อุณหภูมิสูงหรือเวลาใช้งานเท้ามากๆ เท้าจะขยายตัว ดังนั้น จึงควรพิจารณาว่าเลือกรองเท้าสำหรับให้เด็กใส่ทำกิจกรรมอะไร เช่น ถ้าเลือกรองเท้ากีฬา ก็ควรเลือกหลังจากตอนที่เด็กเดินมากๆ แล้ว จึงพามาลองรองเท้า
• กรณีที่เลือกซื้อรองเท้าที่จะใส่กับถุงเท้า ให้เด็กลองรองเท้าหลังจากที่สวมถุงเท้าแล้ว โดยระวังไม่ให้เด็กดึงถุงเท้าตึงมากเกินไป เพราะอาจทำให้นิ้วเท้างอ จนความยาวเท้าผิดจากความเป็นจริง นอกจากนี้เด็กมักจะงอนิ้วเท้าหลบเวลามีอะไรมายุ่งกับเท้า ถ้ามีปัญหาดังกล่าว ให้พ่อแม่กดนิ้วเท้าเด็กลงมาเบาๆ ก่อนลองรองเท้าด้วย
• ไม่ควรเลือกรองเท้าเผื่อโต เพราะจะทำให้มปัญหาเวลาเดิน รองเท้าจะเหลือพื้นที่ด้านหน้ามาก จนเด็กสามารถสะดุดได้ ควรจะเลือกรองเท้าให้มีขนาดพอดีกับเท้า และเปลี่ยนเมื่อถึงช่วงที่ควรเปลี่ยนจะดีกว่า
• ในกรณีที่เท้าเด็กมีความผิดปกติ เช่น เท้าแบน นิ้วเท้าเบี้ยวหรือเก ควรพาเด็กไปพบผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพิจารณาออกแบบและตัดรองเท้าที่เหมาะสมกับเด็กคนนั้น
เปลี่ยนรองเท้าให้ลูกเมื่อไหร่ดี
พ่อแม่ควรเปลี่ยนรองเท้าให้ลูก เมื่อที่ว่างด้านหน้าของรองเท้าเหลืออยู่แค่ครึ่งเบอร์ หรือ ¼ นิ้ว โดยวัดจากนิ้วที่ยาวที่สุดของเท้าไปยังปลายรองเท้า ไม่ควรรอให้คับแล้วจึงค่อยเปลี่ยน เพราะนอกจากเด็กจะเจ็บ ยังส่งผล่ทำให้นิ้วเท้างอผิดรูปได้ อนึ่ง การนำรองเท้าของพี่เป็นมรดกสืบทอดให้น้อง ควรพิจารณาสภาพรองเท้าก่อนทุกครั้ง ถ้าส้นรองเท้าสึก หรือพื้น้างในรองเท้ายุบ ก็ไม่ควรส่งต่อเป็นมรดก เพราะรองเท้าจะทำหน้าที่ได้ไม่ดีเหมือนเดิม
การเลือกรองเท้าให้ลูกน้อยนับเป็นงานหนึ่งที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อน แต่เชื่อว่าด้วยความรักลูกที่มีอย่างท่วมท้นของพ่อแม่ คงจะสามารถเลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับลูกได้ในที่สุด เพื่อให้ลูกสามารถมีกิจกรรมต่างๆ อันจะเอื้อต่อพัฒนาการของเด็กให้เติบใหญ่เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพสืบไป
ผศ.พญ.นวพร ชัชวาลพาณิชย์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู
(Some images used under license from Shutterstock.com.)