© 2017 Copyright - Haijai.com
จากเบาหวานสู่ซึมเศร้า
กายและใจมีความสัมพันธ์กันเสมอ เช่นเดียวกับโรคเบาหวานและโรคซึมเศร้า เมื่อเป็นโรคเบาหวาน โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าก็มากขึ้น ในทางกลับกันเมื่อเป็นโรคซึมเศร้า ความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน หากเป็นสองอย่างพร้อมกัน อาการก็จะหนักขึ้น เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิต ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคซึมเศร้าเป็นระยะๆ
หากพูดถึงโรคประจำตัว โดยเฉพาะกับคนวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โรคยอดนิยมที่พบอันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้นโรคเบาหวาน ซึ่งพบได้ราวๆ 2-4% ในประชากรทั่วไป ในขณะที่โรคซึมเศร้าก็เป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยเช่นกัน ในความเข้าใจของคนทั่วไป หรือแม้กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์เอง ส่วนใหญ่มักคิดว่าสองโรคนี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน ต่างคนต่างเกิด ไม่มีผลอะไร แต่ในความจริงแล้ว ทั้งสองภาวะนี้กลับมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก จนไม่น่าเชื่อ ซึ่งในบทความนี้ผมจะมาเล่าครับว่าทั้งสองโรคนี้สัมพันธ์กันอย่างไร
ก่อนอื่นคงต้องอธิบายถึงโรคเบาหวานคร่าวๆ สักหน่อย โดยโรคเบาหวานแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
• โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากการที่ผู้ป่วยไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เลย หรือสร้างได้น้อยมาก ซึ่งอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการนำน้ำตาล เข้าสู่เซลล์ การที่ผู้ป่วยสร้างสารชนิดนี้ไม่ได้ จึงมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ โดยเบาหวานชนิดนี้ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการตั้งแต่วัยเด็ก หรือวัยรุ่น แต่อย่างไรก็ตาม เบาหวานชนิดนี้พบไม่บ่อย เจอเพียง 5-10% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมดเท่านั้น
• โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคเบาหวานที่คนส่วนใหญ่รู้จักกัน คือ อาการเริ่มเกิดในวัยผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ เกิดจากการที่เซลล์ตอบสนองต่ออินซูลินได้น้อยลง และอาจร่วมกับมีการสร้างอินซูลินน้อยลง ซึ่งเบาหวานชนิดนี้พบได้ประมาณ 90% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด
อาการของโรคเบาหวาน ได้แก่ อ่อนเพลีย หิวบ่อย กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย ง่วงนอนตอนกลางวัน หากเป็นมานานๆ อาจมีอาการชาหรือปวดที่ปลายมือปลายเท้าได้ และกรณีที่ระดับน้ำตาลสูงมาก อาจเกิดอาการสับสนหรือหมดสติได้ นอกจากอาการของตัวโรคเบาหวานเองแล้ว สิ่งที่สำคัญและต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นคือ ภาวะแทรกซ้อน ซึ่งเกิดจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานๆ จนมีผลทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือด ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวาย แผลเรื้อรัง และตาบอด เป็นต้น
โรคซึมเศร้าทำให้เกิดโรคเบาหวาน
ย้อนกลับไปเมื่อราวๆ สองร้อยปีก่อน แพทย์ชาวอังกฤษชื่อ Thomas Willis เคยกล่าวว่า “โรคเบาหวานนั้นเกิดจากความเครียดเรื้อรังหรือโรคซึมเศร้า” แม้ว่าในปัจจุบันเราจะรู้แล้วว่าประโยคนี้ไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด (เพราะมีปัจจัยอย่างอื่นอีก เช่น กรรมพันธุ์ ซึ่งมีผลมากกว่า อีกทั้งคนจำนวนมากที่เป็นโรคเบาหวาน ก็ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน) แต่ที่จริงก็มีส่วนถูกอยู่บ้าง จากการศึกษาจำนวนมากพบว่า ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า (major depressive disorder) มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานมากกว่าคนทั่วไปประมาณสองเท่า
สาเหตุเพราะอะไร จากการศึกษาพบว่าความเครียดเรื้อรังหรือการเป็นโรคซึมเศร้านานๆ จะมีผลทำให้ระบบควบคุมฮอร์โมนในร่างกายทำงานผิดปกติ เช่น ทำให้มีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) สูงขึ้น ซึ่งมีผลทำให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินน้อยลง นอกจากนี้โรคซึมเศร้าก็มักทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่ออกกำลังกาย ไม่ค่อยทำกิจกรรมอะไร หรือบางคนแก้เครียดด้วยการกิน ซึงพฤติกรรมเหล่านี้ ทำให้เกิดโรคอ้วน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้
โรคเบาหวานทำให้เกิดโรคซึมเศร้า
นอกจากโรคซึมเศร้าจะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวานแล้ว ในทางกลับกันโรคเบาหวานเอง ก็เป็นความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้าด้วยเช่นกัน เพราะการเป็นโรคเบาหวานนั้น สร้างความทุกข์ยากแก่ผู้ที่เป็นหลายอย่าง ตั้งแต่การรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นคนป่วย การที่ต้องควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย อาการของตัวโรคเอง การที่ต้องไปพบแพทย์บ่อยๆ และหากยิ่งมีโรคแทรกซ้อนเพิ่มเข้าไปอีก ก็ยิ่งเพิ่มความทุกข์ให้แก่ผู้ป่วยอย่างยิ่ง จากงานวิจัยพบว่าประมาณ 10-12% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน เป็นโรคซึมเศร้าร่วมด้วย ซึ่งตัวเลขนี้มากวก่าในคนทั่วไปถึงสองเท่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดโรคซึมเศร้าของผู้ป่วยเบาหวาน ได้แก่
• การเป็นเบาหวานตั้งแต่อายุน้อย
• การเจ็บป่วยเป็นระยะเวลานาน
• การมีโรคแทรกซ้อน
ผลกระทบของการเป็นทั้งโรคเบาหวานและโรคซึมเศร้า
• ผลต่ออาการของโรคเบาหวาน พบว่าผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าและโรคเบาหวานพร้อมกัน จะมีอาการของโรคเบาหวานมากกว่าคนที่เป็นโรคเบาหวานอย่างเดียว 2-5 เท่าตัว โดยอาการที่พบว่าเป็นมากขึ้น ได้แก่ อ่อนเพลีย หิวบ่อย กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย ง่วงนอนตอนกลางวัน และชาหรือปวดที่ปลายมือปลายเท้า ทั้งนี้เนื่องจากทั้งสองโรคมีอาการบางอย่างที่คล้ายกัน เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หรือง่วงนอนตอนกลางวัน ซึ่งพอมีสองโรคบวกกัน เลยยิ่งทำให้อาการดูเป็นมากขึ้น นอกจากนี้โดยทั่วไปแล้ว อาการปวดของคนเราจะสัมพันธ์กับอารมณ์เสมอ โดยอารมณ์เศร้าหรือวิตกกังวล มักจะทำให้อาการปวดที่มีอยู่แล้ว รู้สึกว่าปวดมากขึ้น
• ผลต่อการควบคุมน้ำตาลและภาวะแทรกซ้อน ลำพังการเป็นโรคซึมเศร้าก็มีผลทางกายภาพต่อระดับน้ำตาลในเลือดอยู่แล้ว การเป็นโรคซึมเศร้ายังมีผลต่อการควบคุมน้ำตาล และการดูแลตัวเองอีกด้วย เนื่องจากอาการหลักอย่างหนึ่งของโรคซึมเศร้า คือ อารมณ์เศร้า เบื่อหน่าย และไม่อยากทำอะไร จึงทำให้ผู้ป่วยไม่คุมอาหาร ไม่ออกกำลังกาย ทานยาบ้างไม่ทานยาบ้าง และยังพบว่าเกือบครึ่งของผู้ป่วยกลุ่มนี้ มักจะไม่ไปพบแพทย์ตามนัดอีกด้วย ทำให้การควบคุมน้ำตาลมักทำได้ไม่ดี ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้มากขึ้น จากงานวิจัยพบว่าผุ้ที่เป็นโรคเบาหวานและโรคซึมเศร้ามีอัตราการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ สูงกว่าผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอย่างเดียวถึงสองเท่า
ข้อแนะนำการตรวจคัดกรอง
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าโรคซึมเศร้านั้นมีผลทั้งไปและกลับกับโรคเบาหวาน นั่นคือโรคซึมเศร้าเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน และโรคเบาหวานก็เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคซึมเศร้า นอกจากนี้การเป็นทั้งสองโรคพร้อมกัน ยังทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น การดูแลตัวเองแย่ลง มีภาวะแทรกซ้อนและอันตราตายที่สูงขึ้นอีกด้วย ดังนั้นแล้ว จึงเป็นที่แนะนำว่าในคลินิกเบาหวาน ควรจะมีการตรวจคัดกรองโรคซึมเศร้าเป็นระยะ โดยใช้แบบประเมินภาวะซึมเศร้า เช่น Patient Health Questionnaire (PHQ-9) (ซึ่งมีฉบับภาษาไทยด้วย) รวมถึงหากผู้ป่วยหรือญาติสังเกตหรือสงสัยว่า ตัวเองกำลังเป็นโรคซึมเศร้า ก็ควรจะรีบแจ้งกับแพทย์ที่รักษาอยู่ เพื่อที่จะได้รับการตรวจรักษาต่อไป
นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ
จิตแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)