Haijai.com


พยาธิหอยโข่ง โรคพยาธิหอยโข่ง


 
เปิดอ่าน 4805

พยาธิหอยโข่ง

 

 

การกินหอยน้ำจืดดิบๆ กินผักดิบที่ไม่ได้ล้าง ดื่มน้ากแหล่งธรรมชาติ ตลอดจนการจับหอยทากหรือหอยน้ำจืดเล่น ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการติดพยาธิหอยโข่ง ซึ่งจะไชเข้าไปในระบบประสาท ทำให้ปวดศีรษะคลื่นไส้อาเจียน และอาจทำให้ขั้วประสาทตาบวมได้

 

 

โรคพยาธิหอยโข่ง เป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย เกิดจากการกินหอยโข่งดิบๆ พยาธิที่อยู่ในหอยโข่งทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ น้ำหล่อสมองและไขสันหลังของผู้ป่วยมีลักษณะจำเพาะคือมีความดันสูง น้ำที่ใสกลับขุ่นคล้ายน้ำมะพร้าว และมีเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดอิโอสิโนฟิลจำนวนมากผิดปกติ

 

 

สาเหตุ

 

พยาธิตัวสำคัญที่เป็นสาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบคือ Angiostrongylus cantonensis พยาธิตัวแก่อาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู พยาธิตัวอ่อนระยะที่หนึ่งฟักออกมาจากไข่และเคลื่อนไปที่หลอดลม เข้าสู่ทางเดินอาหาร ขับถ่ายออกมากับอุจจาระหนู พยาธิตัวอ่อนระยะที่หนึ่งจะผ่านเข้าสู่โฮสท์กลาง ได้แก่ หอยโข่ง หอยทาก ที่กินอุจจาระหนู เมื่อหนูกินโฮสท์กลางเหล่านี้ พยาธิตัวอ่อนจะไชผ่านลำไส้ไปที่สมองหนู และเติบโตเป็นตัวอ่อนระยะที่ห้า แล้วเดินทางไปเจริญเติบโตเป็นพยาธิตัวแก่ในปอดหนู เป็นอันครบวงจรชีวิตของพยาธิตัวนี้ บางครั้งมีสัตว์บางชนิด เช่น กุ้ง กบ ปู ตะกวด กินโฮสท์กลาง ทำให้ติดเชื้อพยาธิตัวอ่อนระยะที่สาม ถ้าคนกินสัตว์เหล่านี้ดิบๆ ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อพยาธิและเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือโรคพยาธิหอยโข่งได้

 

 

คนรับเชื้อพยาธิจากการกินหอยดิบๆ ที่มีพยาธิตัวอ่อนระยะที่สาม พยาธิตัวอ่อนไชผ่านกระเพาะอหารเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือด และเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง พยาธิตัวอ่อนระยะที่สามสามารถเจริญเติบโตในระบบประสาท เป็นพยาธิตัวอ่อนระยะที่สี่และห้า หอยที่คนนิยมกินดิบๆ มักจะเป็นหอยโข่ง และอาจรวมถึงหอยขม หอยทาก หอยเชอรี่ ซึ่งชาวบ้านทางภาคอีสานนิยมกินหอยดิบๆ แกล้มเหล้า

 

 

ในบางประเทศ หอยทากยักษ์แอฟริกา มีพยาธิตัวอ่อนระยะที่สามอยู่เป็นจำนวนมาก มีรายงานการเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดนี้ จากการกินกุ้ง ปู ตะกวดดิบๆ หรือกินผักดิบ น้ำผัก ที่มีการปนเปื้อนพยาธิตัวอ่อน เนื่องจากพยาธิหลุดจากตัวหอยขณะคลานไปบนผักพร้อมกับขับเมือกออกมา นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจรับเชื้อจากการดื่มน้ำที่ปนเปื้อนพยาธิตัวอ่อน ซึ่งหลุดจากตัวหอยที่ตกลงไปในน้ำ เด็กๆ ที่เที่ยวจับหอยเล่น พยาธิตัวอ่อนอาจติดมือและเข้าสู่ร่างกายทางปากได้

 

 

อาการ

 

ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 1-2 สัปดาห์ ระยะฟักตัวสั้นที่สุดคือ 3 วัน ยาวที่สุด 36 วัน อาการสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ คือ อาการปวดศีรษะตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรง ปวดเหมือนศีรษะจะระเบิด ปวดมากจนทนไม่ได้ ไม่เคยปวดมากแบบนี้มาก่อน อาการอื่นๆ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน มักจะไม่มีไข้ หรือมีไข้ต่ำๆ ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการตามมัวหรือเห็นภาพซ้อน ตรวจร่างกายอาจพบหรือไม่พบคอแข็ง ตาอาจจะเหล่เข้าในข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ขั้วประสาทตาอาจจะบวมจากภาวะที่มีการเพิ่มความดันภายในกะโหลกศีรษะ หรือตรวจพบกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง ผู้ที่มีเชื้อพยาธิจำนวนมากอาจจะมีอาการหมดสติ

 

 

ผู้ป่วยบางรายมีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาทรับความรู้สึก มักเกิดที่แขน ขา และลำตัว ความรู้สึกผิดปกตินี้ อาจเป็นอาการชาหรืออาการแปลกๆ เกี่ยวกับการรับความรู้สึก ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เชื่อว่าอาการเหล่านี้เกิดจากการเคลื่อนที่ของพยาธิในร่างกาย พยาธิเคลื่อนที่มาที่ตา ทำให้มีอาการตามัว ม่านตาอักเสบ ตาแดง กระจกตาขุ่น ขั้วประสาทตาบวม จอตาบวมหรืออาจมีเลือดออกหรือจอตาลอก และอาจพบพยาธิเคลื่อนไหวในลูกตา

 

 

การรักษา

 

เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ การเจาะเอาน้ำไขสันหลังออกจะช่วยลดความดันภายในกะโหลกศีรษะ ทำให้อาการปวดศีรษะทุเลาลงได้ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น ปวดศีรษะมาก เจาะระบายน้ำแล้วก็ยังไม่ทุเลาปวด ผู้ป่วยที่มีอาการตามมัว ขั้วประสาทตาบวมหรือมีภาวะรู้สติลดลง แพทย์จะพิจารณาให้สเตียรอยด์ในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว การให้ยาฆ่าพยาธิอาจจะทำใหอาการเลวลง เนื่องจากเกิดปฏิกิริยาตอบสนองที่เกิดจากพยาธิที่ตายในสมอง

 

 

การพยากรณ์โรคโดยทั่วไป มักจะดีหลังจากเจาะระบายน้ำไขสันหลังออกแล้ว และได้รับยาแก้ปวด ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการทุเลาลง และโรคหายได้เอง มีผู้ป่วยน้อยรายที่มีอาการรุนแรง เช่น ปวดศีรษะมาก จนแพทย์ต้องเจาะระบายน้ำไขสันหลังหลายครั้ง และมีอาการตามัวทั้งสองข้างจากภาวะที่มีการเพิ่มความดันภายในกะโหลกศีรษะ จนเกิดขั้วประสาทตาบวม และขั้วประสาทตาฝ่อในเวลาต่อมา มีรายงานการเสียชีวิตในผู้ที่ติดเชื้อรุนแรง

 

 

การป้องกัน

 

ไม่กินอาหารดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆ ควรกินอาหารที่ปรุงสุก ก่อนกินผักสดจะต้องล้างผักให้สะอาดก่อนนำมาบริโภค

 

 

นพ.จีรศักดิ์ กาญจนาพงศ์กุล

อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา

(Some images used under license from Shutterstock.com.)